ผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด...อีกหนึ่งวิกฤติที่มองไม่เห็น ณ ชายแดนใต้
เป็นที่เข้าใจกันมานานว่าสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่คร่าชีวิตผู้คนไม่เว้นแต่ละวัน ทำให้พี่น้องประชาชนในสามจังหวัดเป็นโรคเครียด และหลายรายต้องกลายเป็นผู้ป่วยทางจิตเวช ทว่านั่นเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะภัยเงียบที่คุกคามสภาพจิตใจของคนในพื้นที่นี้ แท้ที่จริงแล้วกลับมีสาเหตุหลักมาจากกรรมพันธุ์และการใช้สารเสพติดที่ระบาดอย่างหนักจนถึงระดับชุมชน
ภัยร้ายของยาเสพติดส่งผลกระทบใน 2 แง่ คือ แง่หนึ่งทำให้ผู้ที่ใช้ยาเสพติดเป็นประจำโดยเฉพาะ “น้ำใบกระท่อม” กลายเป็นผู้มีอาการทางจิต กับอีกแง่หนึ่งทำให้ผู้ป่วยทางจิตเวชที่มีปัญหาทางจิตอยู่แล้ว และหันไปใช้สารเสพติด มีอาการทางจิตหนักขึ้นไปอีก
“กรรมพันธุ์-สารเสพติด” ต้นเหตุหลัก
ข้อมูลจาก อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี ซึ่งโรงพยาบาลประจำอำเภอมีบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานด้านนี้โดยตรง พบว่า ผู้ป่วยทางจิตเวชจำนวน 67 รายที่มีประวัติการรักษาที่โรงพยาบาล มีผู้ที่หันเหไปใช้สารเสพติดและติดยาเสพติดเพิ่มขึ้น เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่มีเกราะป้องกันตัวเอง จึงง่ายต่อการถูกชักชวนจากผู้ไม่หวังดีให้ใช้สารเสพติดและร่วมสร้างสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่
หลายรายที่ครอบครัวไม่เอาใจใส่ดูแล เมื่อติดยาเสพติดในระดับลึก ยิ่งทำให้อาการป่วยไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้!
จากข้อมูลที่สำรวจและเก็บรวบรวมโดยโรงพยาบาลกะพ้อ พบว่า ผู้ป่วยทางจิตเวชทั้งหมดในพื้นที่รับผิดชอบนั้น เมื่อถอดรหัสจากผังเครือญาติและการใช้ชีวิตในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ร้อยละ 44.77 มีอาการทางสุขภาพจิตที่เกิดจากกรรมพันธุ์ ขณะที่ร้อยละ 43.28 ของผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดจากการใช้สารเสพติดในอดีต มีเพียงร้อยละ 11.9 เท่านั้นที่เกิดจากการได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหรือเผชิญกับการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก
ฉะนั้นปัญหาเรื่องสุขภาพจิตที่เชื่อมโยงกับการใช้สารเสพติดซึ่งระบาดอยู่ทุกหัวระแหงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงนับเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและมีความสำคัญมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่บุคลากรด้านสาธารณสุขต้องมีความรู้ความเข้าใจถึงปัจจัยต่างๆ ที่สัมพันธ์กับปัญหา ตลอดจนติดตามความก้าวหน้าในการบำบัดดูแล รวมทั้งคำนึงถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อลดการถูกตีตราทางสังคม
คนพื้นที่ชาชินไฟใต้-เครียดทำมาหากินมากกว่า
ปัญหาเรื่องผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่สงบโดยตรงมียอดเพิ่มขึ้นนี้ ได้รับการยืนยันจาก มารีนี สแลแม พยาบาลวิชาชีพงานสุขภาพจิตและยาเสพติด ศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิต โรงพยาบาลกะพ้อ โดยเธอยืนยันว่า ข้อมูลที่น่าตกใจนี้เป็นเรื่องจริง
“สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นมาหลายปีทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ทำใจได้ มันกลายเป็นความชินชา ชาวบ้านอยู่กับเหตุการณ์มา 7-8 ปี เป็นเรื่องที่เขาสามารถรับได้แล้ว บวกกับการมีหลักศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้เข้มแข็ง สถานการณ์ความรุนแรงจึงไม่ได้ทำให้ทุกคนเป็นโรคเครียดไปหมด เพียงแต่เป็นสิ่งเร้าให้อาการทางจิตกำเริบและส่งผลต่อเรื่องของการประกอบอาชีพที่ไม่สามารถทำได้ตามปกติ”
“จากการสำรวจข้อมูลพบว่า ปัญหาเรื่องการทำมาหากินลำบากและไม่มีเวลาให้ลูกหลานต่างหากที่เป็นสาเหตุของความเครียดในการดำรงชีวิต คนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาลักษณะนี้คือชาวบ้านรากหญ้าที่ทำมาหากินเพื่อให้มีชีวิตรอดไปวันต่อวัน มีฐานะตั้งแต่ลำบากไปจนถึงพออยู่ได้ ส่วนกลุ่มผู้นำหรือคนที่มีฐานะในชุมชนมักไม่ค่อยมีปัญหา เพราะมีรายได้พอเลี้ยงครอบครัว และเข้าถึงการเยียวยา จึงสามารถปรับตัวได้ดีกว่า” มารีนี อธิบาย
แฉภัยร้ายน้ำใบกระท่อม-ใส่ขวดน้ำอัดลมขายเกร่อ
จากการเฝ้าติดตามผู้ป่วยจิตเวชในพื้นที่ มารีนี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงนั้น มีสาเหตุการป่วยมาจากกรรมพันธุ์ถึงร้อยละ 52 โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้มีมากในพื้นที่ ต.ปล่องหอย อ.กะพ้อ ส่วนอีกร้อยละ 48 มีสาเหตุมาจากยาเสพติด โดยผู้ป่วยจิตเวชจะเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยรับรู้สถานการณ์ใดๆ ในพื้นที่อยู่แล้ว เมื่อมีกลุ่มติดยาไปชักชวน ก็อาจคิดหรือทำในสิ่งผิดๆ โดยเฉพาะการเสพน้ำใบกระท่อมซึ่งระบาดมากในพื้นที่
“หากผู้ป่วยจิตเวชมีพฤติกรรมใช้ยาเสพติดด้วย จะรักษาอาการป่วยไม่ได้เลย หลายรายที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่เข้าใจ เขาจะบอกว่าลูกหลานไม่ได้เสพยาอะไร แค่นั่งดื่มน้ำโค้กธรรมดา แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ เพราะขณะนี้น้ำใบกระท่อมมีพัฒนาการไปมาก ถึงขั้นมีขายหน้าร้านขายของทั่วไปในพื้นที่ โดยใส่ขวดน้ำอัดลมขนาด 1.5 ลิตร แล้วปิดฝาทำให้ดูเหมือนน้ำอัดลมปกติ แต่จะเป็นที่รู้กันของผู้ขายกับผู้เสพว่าเป็นน้ำใบกระท่อม” มารีนี ระบุ
“พึ่งหมอบ้าน-ไม่ไปโรงพยาบาลตามนัด” ทำอาการกำเริบ
ปัญหาที่หนักหนาไม่แพ้กันสำหรับการดูแลผู้ป่วยทางจิตเวชก็คือ การเข้าถึงสถานพยาบาลที่ค่อนข้างน้อย และไม่มีความต่อเนื่องในการรักษา
ข้อมูลจากโรงพยาบาลกะพ้อ ระบุว่า ผู้ป่วยจิตเวชที่มีสาเหตุจากโรคทางพันธุกรรมและการใช้สารเสพติดจำนวน 67 ราย มีผู้มารับบริการที่โรงพยาบาลเพียงสัปดาห์ละ 5-6 รายเท่านั้น ยิ่งหากย้อนไปช่วงปี 2551 จะพบว่าอัตราของผู้ป่วยจิตเวชที่ได้รับยาต่อเนื่องมีเพียงร้อยละ 36.95 จากเป้าหมายร้อยละ 70 จุดนี้จึงกลายเป็นปัญหาสำคัญ เพราะเมื่อผู้ป่วยไม่ได้รับประทานยาตามกำหนดเวลา ก็จะทำให้มีอาการป่วยทางจิตกำเริบขึ้น ส่งผลกระทบทั้งตนเอง ครอบครัว และชุมชน
ทีมคลินิกของโรงพยาบาลกะพ้อจึงได้วิเคราะห์ปัญหาโดยใช้วิธี Root Cause Analysis (เรียกสั้นๆ ว่า RCA หมายถึงการค้นหาปัจจัยที่เป็นรากของปัญหา) และพัฒนาระบบการติดตามผู้ป่วยให้ครอบคลุมมากขึ้น กระทั่งในปีต่อๆ มาอัตราของผู้ป่วยจิตเวชที่ได้รับยาต่อเนื่องมีเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 81.76 และ 86.4 ตามลำดับ
จากการสำรวจเพิ่มเติมพบว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยจิตเวชไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและไม่ได้รับยาอย่างต่อเนื่อง คือ ครอบครัวหรือญาติของผู้ป่วยมีความเชื่อว่าอาการป่วยทางจิตเป็นอาการที่เกิดจากไสยศาสตร์ จึงต้องรักษากับ “หมอบ้าน” เท่านั้นจึงจะหายขาดได้ ขณะเดียวกันญาติของผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็มีภาระงานที่ต้องรับผิดชอบเรื่องทำมาหากิน ไม่มีเวลาพาผู้ป่วยไปรับยาที่โรงพยาบาล บางส่วนก็ไปรับการบำบัดรักษาตามปอเนาะ
ไฟแค้นในจิตใจ...ผลพวงความรุนแรงที่รอการเยียวยา
แม้กรรมพันธุ์กับยาเสพติดจะเป็นสาเหตุหลักของอาการป่วยทางจิตเวชในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็ใช่ว่าสถานการณ์ความไม่สงบจะไม่มีผลเอาเสียเลย เพราะเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นรายวันย่อมสร้างบาดแผลให้กับผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไม่น้อยเช่นกัน
มารีนี เล่าให้ฟังว่า เมื่อมีผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาบาล แพทย์จะสกรีนแล้วส่งต่อมายังแผนกฟื้นฟูและเยียวยาสุขภาพจิต เพื่อเจาะประเด็นคุยกันเป็นส่วนตัวว่ามีสาเหตุมาจากอะไร มีหลายรายที่ยังไม่ลืมเรื่องราวเลวร้ายและยังเป็นปมอยู่ในใจ
“อย่างกรณีที่ลูกชายผูกคอตายในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี (ครอบครัวของ นายสุไลมาน แนซา) เขายังติดใจว่าลูกชายไม่ได้ทำอะไรผิด เชื่อว่าถูกใส่ร้าย เราเองก็ไม่รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร ก็พยายามให้กำลังใจและให้คิดว่าเป็นสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงกำหนดไว้แล้ว อีกกรณีหนึ่งที่พ่อถูกยิงแล้วลูกชายแค้นเก็บปืนไว้จะไปยิงตำรวจที่ยิงพ่อ ตอนนี้เขาก็ได้รับการบำบัดจนอาการดีขึ้น ไม่เก็บกดเหมือนเมื่อก่อน”
มารีนี บอกด้วยว่า เมื่อก่อนผู้ป่วยจิตเวชมักถูกส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวชสงขลา (อ.เมือง จ.สงขลา) ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่ดี เพราะญาติบางรายที่ไม่มีเวลาก็ไม่ได้ตามไปดูแลหรือไม่ได้ไปรับกลับ ตอนนี้ทางโรงพยาบาลจิตเวชสงขลาจึงให้อยู่ที่โรงพยาบาลได้ไม่เกิน 2 สัปดาห์ แล้วให้กลับมาใช้ชีวิตที่บ้าน หากอยู่ได้ก็ไม่ต้องไปรักษาอีก หรือหากมีฐานะพอแต่ไม่มีคนดูแล ทางโรงพยาบาลก็จะมีคนดูแลให้ โดยคิดค่าใช้จ่ายเดือนละ 3,000 บาท แต่หากมาที่โรงพยาบาลกะพ้อแล้วเราสามารถช่วยได้ ก็ไม่ต้องไปไกลถึงสงขลา
มารีนี กล่าวทิ้งท้ายว่า งานดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชทุกรายถือเป็นงานที่ท้าทาย เพราะเป็นผู้ป่วยทางจิตที่มักถูกมองข้าม และมองจากภายนอกอาจจะไม่ทราบ ฉะนั้นหากได้รับการดูแลรักษาที่ถูกวิธีก็จะสามารถกลับคืนเป็นคนปกติได้ เพียงแค่ความคิดอาจผิดแปลกไปจากชาวบ้านคนอื่นบ้างเท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่สังคมและชุมชนต้องช่วยกันดูแลและให้โอกาสอย่างเท่าเทียม
ปัญหาผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดกำลังกลายเป็น “วิกฤติที่มองไม่เห็น” ซึ่งคอยกัดกร่อนสภาพสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้...จึงมิอาจมองข้ามได้อีกต่อไป!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ภาพจาก "จุดประกาย" เว็บไซต์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
2 มารีนี สแลแม