ความเห็น-ข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาฯ เรื่อง "การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากบารา"
เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๔๔๖ คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่อง "การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากบารา" และรับทราบความเห็น ผลการพิจารณา และผลการดำเนินการของกระทรวงคมนาคมร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมเจ้าท่า กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร การรถไฟแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยในส่วนความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษา สรุปได้ ดังนี้
๑. แต่งตั้งหน่วยงานให้ทำหน้าที่หลักในการกำหนดทิศทางการพัฒนาโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราให้ชัดเจนว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร และจะมีโครงการเกี่ยวเนื่องอะไรที่เป็นข้อกังวลของภาคประชาชน
๒. มอบให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการกำหนดทิศทาง นโยบาย ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานในการกำหนดทิศทาง ยุทธศาสตร์ แผนพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ของรัฐในภาคใต้ให้ชัดเจน โดยเปิดโอกาสให้ภาคประชาชน ผู้เกี่ยวข้อง นักวิชาการ มีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มจนแล้วเสร็จ
๓. จัดตั้งคระกรรมการสื่อสารประชาสัมพันธ์ข้อมูลการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ขึ้น โดยมีหน้าที่ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ข้อมูลแนวนโยบายของรัฐ แนวทางและแผนการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมดของหน่วยราชการทุกหน่วย โดยสื่อสารและประชาสัมพันธ์ข้อมูลตามความเป็นจริงทั้งในด้านบวกและลบ และอยู่บนหลักการที่ถูกต้องอย่างจริงใจ ทั้งนี้ คณะกรรมการประกอบด้วยหน่วยงานที่สามารถประสานกระทรวงต่าง ๆ ที่มีโครงการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ คือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการทำหน้าที่นี้และหน่วยราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง ตอลดจนภาคเอกชน และภาคประชาชนเข้าร่มด้วย และควรมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเหมือนกับคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard) ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว
๔. เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ในพื้นที่โดยรอบซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกปากบาราให้เข้ามามีส่วนร่วม ตั้งแต่เริ่มต้นจนสามารถเปิดดำเนินการให้บริการแล้วอย่างเต็มที่ โดยกำหนดให้มีกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจน โดยใช้แนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA)
๕. โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ระยะที่ ๑ ที่ได้รับความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) ไปแล้วนั้น สมควรที่จะต้องมีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (Environmental and Health Impact Assessment : EHIA) ตามกฎหมายใหม่
๖. ให้กำหนดระยะการพัฒนาในภาพรวมให้ชัดเจน พร้อมทั้งระบุระยะการพัฒนาในแต่ละเฟสให้ชัดเจนด้วย โดยให้พัฒนาในเฟสแรกก่อน และเมื่อมีความจำเป็นต้องพัฒนาในระยะต่อไป ให้ประเมินความพร้อมและความคุ้มค่า รวมทั้งจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายก่อน
๗. ต้อมีการบูรณาการระบบการคมนาคาขนส่งเชื่อมโยงพื้นที่ของภาคต่าง ๆ กับท่าเรือน้ำลึกปากบาราอย่างชัดเจน มีมาตรการรองรับและสนับสนุนทั้งโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่จำเป็น รวมถึงกฎหมาย ระเบียบที่เอื้อต่อการลงทุน และการดำเนินโครงการมีมาตรการชดเชย เยียวยา การอุดหนุนต่าง ๆ เพื่อผลักดันการเปลี่ยนโหมดการขนส่งมาใช้ท่าเรือน้ำลึกปากบารา
๘. ต้องมีหลักประกันให้แก่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราเป็นลำดับแรกด้วยการจัดหาพื้นที่รองรับการย้ายถิ่นฐานของชุมชน มีการพัฒนาที่ดิน พัฒนาอาชีพ มีระบบโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค-สาธารณูปการ การสาธารณสุข การศึกษา อย่างต่อเนื่องเป็นธรรมและมีส่วนร่วมของประชาชน
๙. การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากบารา ให้คำนึงถึงการใช้เทคโนโลยีที่มีความทันสมัยและประสิทธิภาพสูง รวมทั้งระบบการบริหารท่าเรือสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพในระดับสากล โดยปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Mitigation Plan : EIMP) และอื่น ๆ ที่เสนอในรายงาน EIA และหรือรายงาน EHIA อย่างเคร่งครัด
๑๐. ต้องมีมาตรการจูงใจส่งเสริมสนับสนุนให้มีการใช้ประโยชน์จากท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราอย่างเต็มศักยภาพ ส่งเสริมให้มีปริมาณสินค้าที่มากพอที่เรือทางยุโรปจะเข้าเทียบท่า รวมทั้งมีมาตรการส่งเสริมการใช้ท่าเรือ เช่น การคิดค่าธรรมเนียมการใช้ท่าเรือที่ต่ำกว่าท่าเรือใกล้เคียง การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่สินค้าที่ใช้ท่าเรือน้ำลึกปากบารา เป็นต้น
๑๑. ให้ความสำคัญกับท่าเรือน้ำลึกปากบาราในด้านความมั่นคงของชาติด้วย