“เหมือน-ต่าง”กรณีซุกหุ้น“ยุรนันท์-ทักษิณ-ประยุทธ”
เทียบคำชี้แจง 3 นักการเมืองติดบ่วงคดีซุกทรัพย์สิน“แซม ยุรนันท์ -ทักษิณ-ประยุทธ มหากิจศิริ”บกพร่องโดยสุจริต-เข้าใจผิด-เรื่องของเมีย รอลุ้นด่านสุดท้าย
นายยุรนันท์ ภมรมนตรี อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย (ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการารกระทรวงมหาดไทย) จงใจปกปิดการถือครองหุ้นบริษัท วิลล่า เมดิก้า จำนวน 14 ล้านบาท และไม่ได้ยื่นข้อมูลการถือครองหุ้นสหกรณ์การบินไทยของภรรยาอีกจำนวน 3 ล้านบาท เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ปี 2554 สรุปได้ 2 ประการคือ
1.ในช่วงต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินเป็นช่วงเกิดน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2544 ทำให้เกิดปัญหาในการยื่นเอกสารต่อ ป.ป.ช.
2.การถือหุ้นสหกรณ์การบินไทยของภรรยานั้น ภรรยาเข้าใจว่าไม่ต้องแจ้ง ป.ป.ช. เพราะเป็นทรัพย์สินของครอบครัวที่มีมานานแล้ว
สรุปได้ว่าไม่ได้เจตนาและเป็นความเข้าใจผิดของภรรยานั่นเอง
(อ่านประกอบ:ลึกสุดใจ! "แซม-ยุรนันท์" ผมต้องพิสูจน์ว่าไม่ได้ทุจริตเพื่อวงศ์ตระกูล)
และถ้าย้อนกลับไปดูข้อมูลนักการเมืองที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลกรณีจงใจปกปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินก่อนหน้านี้ จะเห็นว่าคำชี้แจงของนายยุรนันท์คล้ายกับคำชี้แจงของนักการเมืองอย่างน้อย 2 รายคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนายประยุทธ มหากิจศิริ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย โดยอ้างว่าเป็นความเข้าใจผิด
ในการต่อสู้ข้อกล่าวหาในชั้น ป.ป.ช. พ.ต.ท.ทักษิณได้ชี้แจง 6 ข้อ ข้อที่ 4 ระบุว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบัน (ปี 2540) ซึ่งเป็นที่มาแห่งการแจ้งรายการทรัพย์สินตามวิธีและกฎเกณฑ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้เริ่มใช้บังคับเมื่อ 11 ตุลาคม 2540 ป.ป.ช.ในขณะนั้นซึ่งถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญให้ทำหน้าที่ ป.ป.ช.ไปพลางก่อน ได้กำหนดให้บุคคลผู้มีหน้าที่แจ้งรายการทรัพย์สินต้องยื่นรายการทรัพย์สินภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ โดย ป.ป.ป.(ซึ่งทำหน้าที่ ป.ป.ช.) ยังมิได้กำหนดหลักเกณฑ์การแจ้งรายการทรัพย์สินขึ้นตามรัฐธรรมนูญการแจ้งรายการทรัพย์สินจึงกระทำกันไปตามความเข้าใจ หรือตามที่เคยทำกันมา ผมได้แจ้งรายการทรัพย์สินครั้งแรกเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2540 ตามความเข้าใจโดยสุจริตใจ
ต่อมาเมื่อพ้นจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ 4 ธันวาคม 2540 ป.ป.ป.ทำหน้าที่ ป.ป.ช.ก็ยังมิได้กำหนดหลักเกณฑ์ใดๆ ขึ้นเช่นกัน ต่อเมื่อพ้นจากตำแหน่งครบหนึ่งปี และต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้ยื่นเมื่อ 4 ธันวาคม 2541 จึงเพิ่มจะมีระเบียบของ ป.ป.ป.ทำหน้าที่ ป.ป.ช.ออกมาใช้บังคับ ความเข้าใจในกฎระเบียบจึงยังไม่มีใครกระจ่างชัดเท่าที่ควร ส่วนใหญ่จึงยื่นไปตามหลักเกณฑ์ที่เคยยื่นไว้เดิม ตัวพระราชบัญญัติ ป.ป.ช.เองเพิ่งจะออกมาใช้บังคับปลายปี 2542
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น เมื่อนำกฎเกณฑ์ใหม่ไปใช้วัดกับสิ่งที่ได้ปฏิบัติไปแล้ว จึงเกิดความบกพร่องขึ้นได้โดยมิได้มีเจตนาที่จะปกปิดหรืออำพรางความมีอยู่แห่งทรัพย์สินแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงว่าในการแจ้งทรัพย์สินของผมและภรรยามีมูลค่ากว่าสองหมื่นล้านบาท แต่ส่วนที่บกพร่องมิได้แจ้งไปมีเพียงร้อยละ 2.5 ของจำนวนทรัพย์สินทั้งหมดเท่านั้น
ข้อ 5 ระบุว่า ในจำนวนร้อยละ 2.5 ที่มิได้แจ้งไว้ในรายการทรัพย์สินนั้น ในส่วนที่เป็นทรัพย์สินของผมและหลงลืมมิได้แจ้งไว้ มีมูลค่าเพียง 6,750 บาท เหตุที่หลงลืมก็เนื่องจากเป็นหุ้นที่อยู่ในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ มิได้แสวงหากำไรทั้งยังเรียกหุ้นไม่ครบ สำหรับส่วนที่เป็นของภรรยาผมนั้นมีส่วนที่หลงลืมและมิได้แจ้งไว้เป็นมูลค่า 140,200 บาท
ทรัพย์สินส่วนที่เหลือที่มิได้แจ้งไว้ เนื่องจากเป็นกิจการที่ภรรยาดำเนินการในนามของบุคคลอื่น แต่ด้วยความเข้าใจผิดของเลขานุการที่เป็นผู้จัดทำและรวบรวมรายการทรัพย์สิน โดยคิดว่าจะต้องแจ้งแต่เฉพาะทรัพย์สินที่อยู่ในชื่อของภรรยาหรือของผมเท่านั้น
สาเหตุที่ภรรยาดำเนินกิจการในนามของบุคคลอื่น มีเหตุผลหลายประการ เช่น บริษัทเดิมซึ่งเข้าไปซื้อกิจการยังมีภาระหนี้สินอยู่ การใช้ชื่อของภรรยาอาจก่อให้เกิดความเสียหายในเชิงความเชื่อถือหากมีปัญหาขึ้น บางกรณีเพื่อต้องการให้ครบเกณฑ์ตามกฎหมาย
บางกรณีเพื่อให้มีเสียงข้างมาก ซึ่งเป็นเรื่องปกติทางการค้าทั่วไป และกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็อนุญาตให้ทำได้ และที่สำคัญคือ เป็นส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับรายการที่แจ้งทั้งหมด ซึ่งเลขานุการส่วนตัวของภรรยาผมเข้าใจผิดว่าเป็นกรณีที่ไม่ต้องยื่นเช่นเดียวกับที่เคยปฏิบัติกันมาตามกฎหมายในอดีต
ขณะที่นายประยุทธ มหากิจศิริ ถูกกล่าวหาว่าจงใจปกปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินซึ่งเป็นเงินฝากของภรรยา ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญนายประยุทธชี้แจงว่า อ้างว่าภรรยาไม่แจ้งทรัพย์สินที่อยู่ในชื่อของภรรยาให้ทราบ และนายประยุทธก็เป็นคนกลัวภรรยาเลยไม่ได้ถามว่ามีทรัพย์สินอื่นอีกหรือไม่
น่าสังเกตว่ากรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณคล้ายกับนายประยุทธในประเด็นที่ว่าเป็นเรื่องของภรรยา
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคดีในช่วงเช้าวันเดียวกับคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ
แต่ทว่านายประยุทธโชคร้าย ถูกศาลรัฐธรรมนูญจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สินซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนตัดสินคดี พ.ต.ท.ทักษิณเพียง 2 ชั่วโมง
เพราะฉะนั้นกรณีของนายยุรนันท์ซึ่งมีข้ออ้างคล้ายกัน ต้องไปลุ้นที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกครั้ง ไม่รู้ว่าจะโชคดีเหมือน พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่?
……….
นักการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จ/ไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน
ในช่วงปี 2543-2545
ชื่อ/ตำแหน่ง |
ข้อหา |
วัน/เดือน/ปีที่ถูกตัดสิน |
1.นายสุบิน พิพรพงษ์ เลขาฯรมต.ประจำสำนักนายกฯ (นายปิยะณัฐ วัชราภรณ์) |
จงใจไม่ยื่นบัญชีฯ |
16 กรกฎาคม 2545 (รับคดีเมื่อ 15 เม.ย.45) |
2.นางเพ็ญนภา ไพศาลศุภนิมิตร ผู้ช่วยเลขาฯรมช.ต่างประเทศ (ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร) |
จงใจไม่ยื่นบัญชีฯ |
9 กรกฎาคม 2545 (รับคดีเมื่อ 25 เม.ย.44) |
3.นายสมพงษ์ เกษตรภิบาล ที่ปรึกษารมต.ประจำสำนักนายกฯ(นายปิยะณัฐ วัชราภรณ์ ) |
จงใจไม่ยื่นบัญชีฯ |
18 มิถุนายน 2545 (รับคดีเมื่อ 13 ก.พ.45) |
4.พ.ต.ท.สานิตย์ สุรังษี ผู้ช่วยเลขาฯรมช.คมนาคม (นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ ) |
จงใจไม่ยื่นบัญชีฯ |
6 มิถุนายน 2545 (รับคดี 17 พ.ค.45) |
5.นายเศวต ทองรมย์ ที่ปรึกษารมช. เกษตรฯ (นายสมชาย สุนทรวัฒน์) |
จงใจ ไม่ยื่นบัญชีฯ |
16 พฤษภาคม 2545 |
6.นายวิทยา ศิริพงษ์ ที่ปรึกษารมช. เกษตรฯ (นายสมชาย สุนทรวัฒน์) |
จงใจไม่ยื่นบัญชีฯ |
16 พฤษภาคม 2545 |
7.นายสมบูรณ์ เนียมหอม สมาชิก อบต.โคกขาม จ.สมุทรสาคร |
จงใจไม่ยื่นบัญชีฯ |
18 เมษายน 2545 |
8.นายประยุทธ มหากิจศิริ สมาชิกวุฒิสภา |
ยื่นบัญชีฯเท็จ |
3 สิงหาคม 2545 |
9.นายสุเมธ อุพลเสถียร สมาชิกเทศบาลนครขอนแก่น |
จงใจไม่ยื่นบัญชีฯ |
13 กุมภาพันธ์ 2544 |
10.พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ/ร.ม.ว.มหาดไทย |
ยื่นบัญชีฯเท็จ |
10 สิงหาคม 2543 |
11.นายมะฮูเซ็น มะสุยี ประจำสำนักเลขาธิการนายกฯ |
จงใจไม่ยื่นบัญชีฯ |
6 กรกฎาคม 2543 |
12.นายโกศล ศรีสังข์ ที่ปรึกษาร.ม.ว.ศึกษาฯ (นายชิงชัย มงคลธรรม) |
จงใจไม่ยื่นบัญชีฯ |
3 กรกฎาคม 2543 |
13.นายจิรายุ จรัสเสถียร ที่ปรึกษารมช.สาธารณสุข (นายธีระวัฒน์ ศิริวัณสาณฑ์) |
จงใจไม่ยื่นบัญชีฯ |
30 พฤษภาคม 2543 |
14.นายสุขุม เชิดชื่น สมาชิกวุฒิสภา |
จงใจไม่ยื่นบัญชีฯ |
17 มีนาคม 2543 |
15.นายชัชชัย สุเมธโชติเมธา ที่ปรึกษารมต.ประจำสำนักนายกฯ (นายวีระกร คำประกอบ) |
จงใจไม่ยื่นบัญชีฯ |
9 มีนาคม 2543 |
16.นายอนันต์ ศวัสตนานนท์ ประจำสำนักเลขาธิการนายกฯ |
จงใจไม่ยื่นบัญชีฯ |
9 มีนาคม 2543 |
นักการเมืองที่ศาลรัฐธรรมนูญ”ตัดสินว่าไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหาของ “ป.ป.ช.”
ชื่อ/ตำแหน่ง |
ข้อหา |
วันตัดสิน |
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รองนายกฯ |
ยื่นบัญชีฯเท็จ |
3 สิงหาคม 2544 |