13 ปี พอช. เดินถูกทาง ‘องค์กรชุมชน’ แนะให้ชาวบ้านร่วมตรวจสอบองค์กร
13 ปี พอช. เดินมาถูกทางมุ่งมั่นพัฒนาชุมชน 'ชัชวาล ทองดีเลิศ' หวั่นสังคมเเย่กระทบเปลี่ยนเเปลงจากฐานราก ผู้เเทนชุมชนเสนอสร้างระบบตรวจสอบองค์กร หวังสร้่างความโปร่งใส
วันที่ 28 ตุลาคม 2556 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือพอช. จัดงาน ‘13 ปี พอช. สู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง สร้างสรรค์สังคมอนาคต’ ณ ห้องประชุมไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม พอช. โดยในช่วงเช้ามีกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ทำบุญตักบาตรและฟังธรรมเทศนา หัวข้อ การให้กับคนทำงานพัฒนา จากพระอาจารย์สุรเชษฐ์ สุรเชฏโฐ วัดชลอ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี
จากนั้นช่วงบ่ายมีการจัดเสวนา ‘13 ปี คนบ้านเดียวกัน สู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง สร้างสรรค์สังคมอนาคต’ โดยนายชัชวาล ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการสถาบันการจัดการทางสังคม (สจส.) กล่าวว่า พอช. เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนและภาคประชาสังคม ด้วยการเข้าไปเกื้อหนุนชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านมีพลังและความเข้มแข็งที่จะขับเคลื่อนตนเองได้ โดยมีพอช. เป็นเพื่อนเดินเคียงบ่าเคียงไหล่ มิใช่การยัดเยียด ครอบงำ หรือออกคำสั่ง
“พอช.มีอุดมการณ์ที่จะพัฒนาสังคม ฉะนั้นคนทำงานต้องทำงานด้วยใจ ไม่ใช่ด้วยหน้าที่ เพราะเมื่อเอาใจทำงานก็จะได้ใจคืนกลับจากชาวบ้าน แต่หากเอาอำนาจทำงานก็จะถูกชาวบ้านไม่พอใจกลับมา” ประธานสจส. กล่าว และว่าเคล็ดลับเข้าไปนั่งในหัวใจชาวบ้าน จะต้องคิดทำงานแบบครอบครัว แบ่งปันความรู้เป็นประจำ เพราะเราจะทำงานแบบแยกส่วนไม่ได้ ต้องรู้ให้ครบถ้วนรอบด้าน มิเช่นนั้นเมื่อสื่อสารออกไปชาวบ้านจะไม่เข้าใจ นอกจากนี้ชุมชนต้องช่วยกันดูแลซึ่งกันและกัน เมื่อใครมีปัญหาต้องช่วยกันแก้ไข
นายชัชวาล ยังกล่าวว่า อุดมการณ์ของชุมชนถือเป็นเรื่องใหญ่ การที่จะเปลี่ยนสังคมจากฐานรากนั้นชุมชนต้องเกิดพลัง อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาชุมชนเป็นฐานรากให้นักการเมืองได้ดิบได้ดี แต่สุดท้ายกลับไม่มีใครสนับสนุนให้ชุมชนเข้มแข็งและเติบโตเลย ส่วนตัวจึงมองว่าพอช. มีส่วนสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคมทางหนึ่ง
“เชื่อมั่นว่าชุมชนมีพลัง เพราะเต็มไปด้วยต้นทุนทางสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม เพียงแต่ต้องช่วยกันคิดว่าจะฟื้นฟูอย่างไรให้เปลี่ยนแปลงสังคมได้ ซึ่งยอมรับว่าปัจจุบันพอช. เดินมาไกลมาก มีความรู้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านสวัสดิการชุมชน โฉนดชุมชน บ้านมั่นคง แต่ความจริงสังคมยังเกิดปัญหาอยู่ ทรัพยากรเสื่อมโทรม เกิดภาวะหนี้สินในครัวเรือน คุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนตกต่ำ จึงต้องช่วยกันคิด” ประธานสจส. ทิ้งท้าย
ด้านนางพันทิพย์ บุตรตาด แกนนำชุมนุมสหกรณ์เคหสถานแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ กล่าวว่า พอช.เป็นองค์กรที่ให้ความอบอุ่น สร้างความรู้ความเข้าใจ และสนับสนุนให้ชาวบ้านมีจุดยืน ไม่ว่าเราต้องการทำสิ่งใด จะมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำ ที่สำคัญ เจ้าหน้าที่จะไม่รับสิ่งของจากชาวบ้าน เพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตัว เพราะเป็นองค์กรไม่ค้ากำไร
ทั้งนี้ อนาคตต้องการให้พอช. ทำงานตามวัตถุประสงค์ที่จะสนับสนุนองค์กรชุมชนเช่นเดิม แต่มิใช่แสดงความเป็นเจ้าของชุมชน พร้อมกันนี้ควรสร้างระบบตรวจสอบภายในพอช. กันเองด้วย โดยมีผู้แทนจากชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม มิใช่เพื่อต้องการจับผิดการทำงาน แต่มองเป็นการช่วยสนับสนุนการทำงานที่โปร่งใสขององค์กรมากกว่า
ขณะที่นางศิริวรรณ บุตราช ผู้แทนองค์กรชุมชน กล่าวว่า เจ้าหน้าที่พอช. ยังมีความรู้จำกัดเฉพาะกลุ่ม ไม่รอบด้านเหมือนชาวบ้าน แต่มักแสดงความเชื่อมั่นสูง หากแท้จริงแล้วไม่มีความรู้ลึกซึ้ง ส่งผลให้เกิดความไม่เข้าใจระหว่างกัน ดังนั้นอนาคตจะต้องสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่หมั่นเรียนรู้ร่วมกันกับชุมชนมากขึ้น และไม่ควรแต่งเครื่องแบบลงพื้นที่ เนื่องจากการแสดงถึงความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น เพราะอย่าลืมว่าพอช. คือ เพื่อนที่ดีและใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พอช. ตั้งขึ้นตามเมื่อ 27 กรกฎาคม 2543 ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งฯ ปัจจุบันมีอายุครบ 13 ปี โดยมีหน้าที่ในการสนับสนุนพัฒนาขบวนการองค์กรชุมชนและประชาสังคม โดยการประสานพลังทุกภาคส่วน โครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น โครงการบ้านมั่นคง โครงการสวัสดิการชุมชน โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินชุมชน หรือโครงการแผนชุมชน โดยมีภาคีเครือข่ายชุมชนทั่วประเทศ.
ที่มาภาพ:เว็บไซต์ http://jobparttimes.com