กสท.จัดระเบียบวัดเรตติ้งรายการ
บอร์ดกสท.ปลดล็อกผูดขาดเรตติ้ง บล็อกโหวต จัดระเบียบออกไลเซนส์บริการประยุกต์
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 28 ต.ค. มีมติอนุมัติการออกใบอนุญาตบริการประยุกต์ ซึ่งจัดอยู่ใน ร่างประกาศ กสทช. กำหนดลักษณะและประเภทของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 2 กำหนดให้ผู้ให้บริการที่ดำเนินการเกี่ยวกับการสำรวจความนิยมรายการโทรทัศน์ การให้บริการเอสเอ็มเอสโหวตในรายการ ต้องขอใบอนุญาตทุกราย
ทั้งนี้ เพื่อที่กสท. จะสามารถเข้าควบคุมและจัดระเบียบการให้บริการไม่ให้เกิดการผูกขาดรายเดียวอย่างที่ผ่านมา หากรายใดไม่ได้รับใบอนุญาต จะให้บริการไม่ได้ ซึ่งรวมไปถึงการให้บริการที่เกิดขึ้นบนโครงข่ายทีวีทั้งหมด เช่น วีดีโอ ออน ดีมานด์ และ อินเตอร์แอคทีฟ ทีวี คาดว่า จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการใบอนุญาตภายใน 6 เดือน
นอกจากนี้ บอร์ดเห็นชอบการจำหน่ายโทรทัศน์และอุปกรณ์รับสัญญาณดิจิตอล (เซ็ท ท็อป บอกซ์) รวม 22 รุ่น แบ่งเป็น โทรทัศน์ 6 รุ่น โดยที่ได้รับอนุญาตเพิ่ม คือ บริษัท ชาร์ปไทย 2 รุ่น ซัมซุง 1 รุ่น และ โปรวิชั่น ไทย 3 รุ่น ที่เหลือเป็นเซ็ท ท็อป บอกซ์ จำนวน 16 รุ่น
พ.อ.นที กล่าวว่า บอร์ดยังได้สั่งระงับโฆษณาที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.อาหารและยา ออกอากาศทางทีวีดาวเทียม 3 ช่อง คือ โอเอกซ์โอ ชาแนล มงคล ชาแนล และ เอ็มวี ฮิตซ์ สเตชั่น รวมทั้งให้ใบอนุญาตทดลองออกอากาศกิจการกระจายเสียง 64 ราย แบ่งเป็น ธุรกิจ 47 ราย ชุมชน 4 ราย และ สาธารณะ 13 ราย
นายสมพันธ์ จารุมิลินท รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทรู วิชั่นส์ เคเบิล กล่าวว่า กลุ่มผู้ประกอบการเอกชนต้องการให้กสท.เข้ามาแก้ไขเรื่องการวัดเรตติ้งอยู่แล้ว เพื่อให้เรตติ้งที่ออกมาโปร่งใส ครอบคลุมกลุ่มผู้ชม ซึ่งจะทำให้เรตติ้งมีคุณภาพและเชื่อถือได้จริง เนื่องจากปัจจุบันอัตราส่วนการชี้วัดของไทยอยู่ที่ 1:50,000 เทียบกับประเทศอังกฤษซึ่งอยู่ที่ 1:5,000 เท่านั้น
“ปัจจุบันประเทศไทยถูกผูกขาดการชี้วัดเรตติ้งจากบริษัทเอเจนซี่เพียงรายเดียว และกลุ่มตัวอย่างก็เล็กเกินไป ทำให้เรตติ้งที่ออกมาไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร ซึ่งประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น เลิกใช้บริษัทนี้ไปแล้ว ดังนั้น ประเทศไทยก็ควรพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้รับผลชี้วัดที่พึงพอใจจากคณะกรรมการที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ” นายสมพันธ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม การวัดเรตติ้งแบบใหม่อาจดำเนินการในรูปแบบสถาบันเชิงวิชาการที่มีคณะกรรมการเข้ามาทำหน้าที่ โดยเน้นไปที่การวัดในเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ และไม่ใช่การวัดเรตติ้งผ่านการรับชมเฉพาะโทรทัศน์แต่เพียงอย่างเดียว แต่จะวัดเรตติ้งจากทุกช่องทางตามการเปลี่ยนแปลงที่เข้าสู่ยุคหลอมรวมสื่อ (คอนเวอร์เจนซ์) ที่ผู้ชมสามารถรับชมรายการต่างๆ แบบเรียลไทม์ผ่านเว็บไซต์ หรือ แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนได้เช่นกัน
ขอขอบคุณข่าวจาก