อ่าวพร้าวเปิดให้บริการต้อนรับฤดูกาลท่องเที่ยวได้แล้ว
อ่าวพร้าว-เกาะเสม็ด คุณภาพน้ำทะเลได้เกณฑ์มาตรฐาน พร้อมต้อนรับฤดูกาลท่องเที่ยว ดีเดย์เปิดอ่าว 1 พ.ย.นี้
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศเปิดให้บริการอ่าวพร้าว อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 ต้อนรับฤดูกาลท่องเที่ยว หลังจากตรวจสอบค่าน้ำทะเลทุกหาดกลับสู่สภาวะปกติ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเพื่อการนันทนาการ พร้อมเปิดเผยแผนแก้ไขและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแผนติดตามประเมินผลต่อเนื่องอีก 1 ปี สร้างความมั่นใจการกำกับ ดูแล ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2556 เวลา 10.00 น. ณ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ท่อส่งน้ำมันดิบรั่วไหลกลางทะเล จังหวัดระยอง ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออ่าวพร้าว อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด และปิดพื้นที่อ่าวพร้าว เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้สังกัดกระทรวงฯ อาทิ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมควบคุมมลพิษ ติดตามสถานการณ์ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง พร้อมแต่งตั้ง “คณะกรรมการติดตามประเมินสถานการณ์ แก้ไข และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมัน (กรณีท่อส่งน้ำมันดิบรั่วไหลกลางทะเล จังหวัดระยอง)” เข้าดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน
นายอุดม กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้รับรายงานจากกรมควบคุมมลพิษ ถึงผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลและค่ามาตรฐานต่างๆ อาทิ ค่าสารปรอท ค่าโลหะหนัก สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ค่าโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) ค่าปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน (TPH) บริเวณรอบเกาะเสม็ด จำนวน 12 หาด ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จนถึงปัจจุบัน พบว่า ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนเป็นต้นมา ค่าน้ำทะเลที่อ่าวพร้าวและทุกหาดรอบเกาะเสม็ด กลับคืนสู่สภาวะปกติ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเพื่อการนันทนาการทั้งหมดแล้ว เช่น มีค่า TPH ต่ำกว่า 1 ไมโครกรัมต่อลิตร และมีค่าปรอทต่ำกว่า 0.1 ไมโครกรัมต่อลิตร เป็นต้น
“บริเวณชายหาดและหินตลอดแนวชายหาด สัตว์ทะเล บริเวณอ่าวพร้าวในวันนี้ อยู่ในสภาพดี มีความสวยงาม ปะการังมีการฟื้นตัวดีขึ้น พบหอยเม่นทะเลจิ๋วใต้ทะเล และพบหอย ปูลม ปลาตัวเล็ก กลับมาอาศัยบริเวณชายหาด หาดหินอีกด้วย ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดว่าความสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางธรรมชาติ ได้กลับคืนสู่สภาพปกติ และในนามของกระทรวงฯ ขอขอบคุณหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่ให้ความร่วมมือในการฟื้นฟูอ่าวพร้าว-เกาะเสม็ด ให้กลับมาสวยงามดังเช่นวันนี้” นายอุดม กล่าวทิ้งท้าย
นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงฯ ได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการติดตามประเมินสถานการณ์ แก้ไข และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมัน (กรณีท่อส่งน้ำมันดิบรั่วไหลกลางทะเล จังหวัดระยอง)” เพื่อติดตาม ประเมินสถานการณ์ ที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมและกำหนดกรอบแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้ง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ อีกจำนวน 2 ชุดเพื่อจัดทำ “แผนงานแก้ไขและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมัน จังหวัดระยอง” ตามแนวทางในคู่มือการทำแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมัน ของกรมควบคุมมลพิษ พ.ศ.2544 โดยอ้างอิงข้อมูลวิชาการและการประเมินผลกระทบเบื้องต้นจากกรมควบคุมมลพิษ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และนำเสนอแผนงานดังกล่าวต่อ คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (กปน.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินงานโดยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ต่อไป โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. การฟื้นฟูผลกระทบต่อระบบนิเวศ ได้แก่ โครงการเพาะเลี้ยง ขยายพันธุ์ปะการัง และย้ายปลูก เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศแนวปะการังที่ได้รับผลกระทบจากสานการณ์น้ำมันรั่วไหลในพื้นที่เกาะเสม็ด
2. การฟื้นฟูผลกระทบต่อการบริการของระบบนิเวศ ได้แก่ โครงการจัดวางปะการังเทียมเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวดำนำและฟื้นฟูสัตว์ทะเลในพื้นที่เกาะเสม็ดและอ่าวระยองและ
3. การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมเกาะเสม็ด อาทิ การจัดการขยะ การจัดทำระบบบำบัดน้ำเสีย การออกแบบและควบคุมปริมาณสิ่งก่อสร้างให้มีความเหมาะสม โครงการติดตั้งทุ่นและซ่อมแซมบำรุงรักษาทุ่นในแนวปะการังและทุ่มแนวกรอบเล่นน้ำในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเกาะเสม็ด เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีแผนงานการติดตามและประเมินผลกระทบของน้ำมันต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง 7 ด้าน ได้แก่ ด้านสมุทรศาสตร์ แนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล หาดหิน/หาดทราย ป่าชายเลน สัตว์ทะเลหายาก และมลพิษ ที่จะดำเนินการต่อเนื่องไปอีกเป็นเวลา 1 ปี
นายโชติ กล่าวในช่วงท้ายว่า เมื่อผลการตรวจติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อมของอ่าวพร้าว และทุกอ่าวรอบเกาะเสม็ดอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานจนเป็นที่มั่นใจแล้ว กระทรวงฯ จึงเห็นควรที่จะเปิดบริเวณพื้นที่อ่าวพร้าว อุทยานเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการตามปกติ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 เป็นต้นไป เพื่อให้อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด กลับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับหนึ่งในใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง และกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่ประเทศต่อไป