ประชาเผย5ข้อเรียกร้องม็อบยางบางสะพาน สั่งออก พ.ร.บ.ปภ.ควบคุมพื้นที่
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมชาวสวนยางที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 27 ตุลาคม ว่า จากการเจรจากลุ่มผู้ชุมนุมได้เรียกร้องต่อรัฐบาล 5 ข้อ 1.ปรับราคายางเป็น 100 บาทต่อกิโลกรัม และปรับราคาน้ำมันปาล์มเป็น 6 บาท ต่อกิโลกรัม
2.รัฐบาลจะต้องไม่สั่งซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากต่างประเทศ 3.รัฐบาลต้องพิจารณาช่วยเหลือเกษตรกรสวนยางทั้งที่มีเอกสารสิทธิละไม่มีเอกสารสิทธิให้ครอบคลุมทั้งหมด 4.เรียกร้องให้สั่งย้ายผู้บังคับการตำรวจ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ภายใน 24 ชม.หรือทันที 5.จะต้องไม่มีการดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญาต่อผู้ชุมนุม
ทั้ง 5 ข้อไม่สามารถพิจารณาได้ทันที เพราะบางข้อเรียกร้องเคยมีมติกันมาแล้ว เช่น เรื่องราคายาง โดยรัฐบาลได้เคยเจรจากับแกนนำทั้ง 35 คน ในวันที่ 6 ก.ย.แกนนำทั้ง 33 คน ได้เห็นด้วยและรับได้กับข้อเสนอของรัฐบาลในราคา 90 บาทต่อกิโลกรัม แต่มีแกนนำเพียง 2 คน ที่ไม่เห็นด้วย จึงขยายผลมาสู่การชุมนุม
โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปดำเนินการจ่ายเงินชดเชยเกษตรกรตามข้อตกลง รวมถึงการตรวจสอบในเรื่องเอกสารสิทธิ ซึ่งเกษตรกรกว่า 98 เปอร์เซ็นต์ ได้มาขึ้นทะเบียนรับเงินชดเชยแล้ว โดยอยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ อาจจะมีความล่าช้าในการตรวจสอบ เพราะคณะกรรมการตรวจสอบไม่เพียงพอ
แต่รัฐบาลได้เร่งรัดการดำเนินการอยู่ ส่วนข้อเรียกร้องให้ย้ายผู้บังคับการ รัฐบาลไม่มีอำนาจในการดำเนินการ เพราะอยู่ในส่วนการรับผิดชอบของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ส่วนเรื่องข้อเรียกร้องของคดีความ ทางอัยการ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้อธิบายว่าเป็นคดีแพ่งเมื่อมีผู้ได้รับผลกระทบก็สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้
ถามว่าผลของการเจรจาเป็นอย่างไร พล.ต.อ.ประชากล่าวว่า การเจรจากว่า 3 ชม.ยังไม่สามารถสรุปได้ภายในวันเดียว จึงมีข้อเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคีขึ้นมา ประกอบด้วย ภาคเกษตรกร ภาครัฐ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น อุตสาหกรรมยางพารา เพื่อเจรจาหาข้อยุติร่วมกัน แต่รัฐบาลมีเงื่อนไขว่าต้องสลายการชุมนุม เปิดถนนก่อนถึงจะตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวเพราะประชาชนได้รับความเดือดร้อนมาก รวมทั้งกระทบต่อเศรษฐกิจอีกด้วย
โดยทางแกนนำได้รับปากว่าจะนำเงื่อนไขดังกล่าวไปพูดคุยหารือกับผู้ชุม รัฐบาลก็ยังรอคำตอบอยู่ โดยมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอบางสะพานน้อยประสานงานกับแกนนำผู้ชุมนุมถึงการส่งรายชื่อคณะกรรมการไตรภาคีจากฝ่ายกลุ่มผู้ชุมนุม พร้อมมอบหมายให้นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ดูแล ได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทันที เพื่อควบคุมสถานการณ์ ขอยืนยันว่าขั้นตอนการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมเป็นไปตามกฎหมาย
ขอขอบคุณข่าวจาก