ชีวิตหลังเยียวยาของเหยื่อตากใบ...
เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส และเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อ 9 ปีที่แล้วนั้น ไม่ได้เป็นโศกนาฏกรรมที่มีผู้เสียชีวิตถึง 85 รายแต่เพียงด้านเดียว เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบยังมีทั้งพิการ บาดเจ็บ และหลบหนีไปจากถิ่นที่อยู่ด้วยความหวาดกลัวอีกจำนวนไม่น้อย
รัฐใช้เวลาถึง 9 ปีในการช่วยเหลือเยียวยา โดยเฉพาะในทางการเงิน กระทั่งครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มก่อนวาระครบรอบ 9 ปีตากใบ 25 ต.ค.2556 เพียงไม่นาน ส่วนคดีอาญาเพื่อหาผู้รับผิดชอบจากการกระทำที่ก่อความสูญเสียอย่างมหาศาล ต้องถือว่าไม่มีความคืบหน้าเลย
แต่ถึงอย่างไรชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป...วลีนี้น่าจะเหมาะที่สุดกับผู้ได้รับผลกระทบที่ยังมีชีวิตอยู่หลังเกิดเหตุการณ์ วันนี้พวกเขาเป็นอย่างไรกันบ้าง เป็นเรื่องที่น่าติดตามถามไถ่ไม่น้อย...
ก๊ะบะห์ : เงินเยียวยาเทียบไม่ได้กับชีวิตลูกชาย
มือแย โซะ หรือ "ก๊ะบะห์" แห่งบ้านจาเราะ ต.ไพรวัน อ.ตากใบ คือแม่ที่สูญเสียลูกชายในเหตุการณ์ร้ายเมื่อ 9 ปีก่อน เธอเพิ่งได้รับการเยียวยาจากรัฐ 7.5 ล้านบาท (กรณีเสียชีวิต)
มือแย บอกว่า 9 ปีที่ผ่านมาช่างยาวนานมากกับการคลี่คลายปมทางความรู้สึกเพื่อให้สังคมรู้ว่าลูกชายของเธอเป็นผู้บริสุทธิ์เหมือนกับคนที่เสียชีวิตและได้รับผลกระทบคนอื่นๆ เธอต้องใช้ความอดทนอย่างมากเพื่อให้ทุกอย่างผ่านไป ซึ่งเวลาก็ช่วยเยียวยาหลายอย่างได้
"เราต้องใช้ชีวิตไปข้างหน้าทุกวัน ต้องอยู่ให้ได้ ลูกชายที่เสียไปเป็นลูกชายคนโต ยังมีลูกชายและลูกสาวเหลืออีก 2 คน ก่อนหน้านี้ได้รับเงินเยียวยาจากการฟ้องแพ่งมาเกือบ 4 แสนบาท ก็เอาไปซื้อสวนยางที่กรีดได้แล้ว 4 ไร่ เมื่อได้เงินเยียวยาล่าสุด 7.5 ล้านบาท โดยเขาให้งวดแรกมา 3.5 ล้านบาท ก็เอาไปซื้อที่ดินปลูกยางอีก 13 ไร่ ปลูกปาล์มอีก 3 ไร่ ถ้าเก็บเงินไว้ในธนาคารก็คงเอามาใช้เรื่อยๆ แล้วก็หมด ซื้อที่ดินไว้ดีกว่า จะได้งอกเงยขึ้น ที่เหลือก็ปลูกบ้านให้ลูกชายที่แต่งงานไป 7 แสนบาท และเก็บไว้ในธนาคารเป็นทุนการศึกษาให้ลูกสาวที่กำลังเรียน ม.ปลาย จะได้เรียนต่อปริญญาตรี"
ทุกวันนี้ก๊ะบะห์ยังคงกรีดยางตามปกติ และทำนาปลูกข้าวไว้กินเอง เธอบอกว่าหากยังมีเงินเหลือในปีหน้าจะไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่ซาอุดีอาระเบียกับสามี เรื่องราวที่ผ่านมากับเงินเยียวยาที่ได้รับไม่คุ้มกับชีวิตลูกชายที่เธอต้องสูญเสียไป และในวันนี้เธอไม่อยากพูดถึงเรื่องร้ายๆ นั้นอีกแล้ว อยากให้จบกันเสียที
"เราใช้ชีวิตปกติ ทำสวน ทำนา ว่างก็ไปทำกิจกรรมกับก๊ะแยนะ (นางแยนะ สะแลแม แกนนำญาติผู้สูญเสีย) ไม่อยากไปรื้อฟื้นเรื่องเก่าแล้ว ให้จบกันไปเสียที"
หะยีดิง : ยังมีอาการหอบและเจ็บแผลที่ถูกยิง
หะยีดิง มัยเซ็ง วัย 58 ปีที่ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืนในวันสลายการชุมนุม เขาบอกว่า เรื่องผ่านมาสิบปีแล้วแต่ไม่เคยลืม เพราะยังมีบาดแผลติดตัวเขาอยู่จนทุกวันนี้
หะยีดิงถูกยิงจากด้านหลังทะลุราวนมขวา ยังมีแผลเป็นให้เห็นและระลึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้นซึ่งใครๆ ก็คิดว่าเขาต้องตายแน่ๆ เพราะเมื่อถูกยิงแล้วยังถูกหามใส่รถจีเอ็มซีเรียงซ้อนกับคนอื่นไปยังค่ายอิงคยุทธบริหารด้วย แต่เขาก็รอดมาได้ โดยถูกส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลปัตตานี ต้องอยู่ในห้องไอซียูนานครึ่งเดือน
"ตอนนั้นญาติก็คิดว่าเราตายแล้ว หลังเกิดเหตุ 3 วันญาติถึงรู้ว่ายังไม่ตาย และเข้าไปเยี่ยมที่โรงพยาบาล ออกจากโรงพยาบาลปัตตานีมาอยู่บ้านได้ 4-5 เดือนจึงได้รับเงินเยียวยาครั้งแรก 3 หมื่นบาท และได้จากการฟ้องแพ่งอีก 5 หมื่นบาท"
"ผลกระทบจากเหตุการณ์คือตั้งแต่ออกจากโรงพยาบาลมาทำงานหนักไม่ได้เลย มีอาการหอบตลอด ต้องกินยาทุกวัน ขาดยาไม่ได้ ตอนนี้ก็ยังเจ็บตรงแผลที่ถูกยิงอยู่ ผมทำรับเหมาก่อสร้างเล็กๆ น้อยๆ พอให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว ส่วนเมียก็กรีดยางหลังบ้านเลี้ยงลูกที่ตอนนี้ยังเรียนหนังสืออีก 5 คน ทำงานและแต่งงานไปแล้ว 3 คน"
ล่าสุดกับการเยียวยาครั้งสุดท้ายที่จ่ายครอบคลุมถึงผู้ได้รับบาดเจ็บด้วย หะยีดิงได้รับเงิน 5.8 แสนบาท ตามมาตรฐานเดียวกับการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองที่กรุงเทพฯ เขาบอกว่าหากไม่มีก๊ะแยนะคอยช่วยเหลือ ก็คงได้รับเงินเยียวยาแค่ไม่กี่หมื่นบาท
"มีการติดต่อจากทาง ศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ว่าจะจ่ายเงินให้คนที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ตากใบด้วย ซึ่งเขาไม่ได้บอกว่าจะจ่ายเท่าไหร่ ชาวบ้านก็ไม่กล้าถาม แต่เมื่อก๊ะแยนะทราบว่าจะจ่ายแค่รายละไม่กี่หมื่นบาทก็สอบถามชาวบ้านว่าพอใจและต้องการไหม เมื่อทุกคนบอกว่าไม่รับเงื่อนไขนี้ ก๊ะแยนะจึงไปประสานให้จนได้รับการเยียวยาตามมาตรฐานที่ควรได้ ซึ่งหากไม่มีก๊ะแยนะช่วย ชาวบ้านก็คงไมรู้เรื่องอะไร"
เมื่อถามว่ารู้สึกได้รับความเป็นธรรมหรือยัง หะยีดิง ตอบว่า ไม่อยากคิดอะไร เพราะเท่าที่เป็นอยู่นี้ก็คงเป็นคำตอบได้แล้ว...
"ร่างกายผมไม่ปกติมาเกือบสิบปี บาดแผลก็ติดตัวอยู่ ไปแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว"
มาลีกี : ชาแขนทั้งสองข้างและมีโรคแทรกซ้อน
ผู้ได้รับผลกระทบอีกรายที่เข้าข่ายเรียกได้ว่า"พิการ" คือ มาลีกี ดอเลาะ หนุ่มวัย 36 ปีที่ถูกจับถอดเสื้อมัดมือไพล่หลังเรียงซ้อนทับกันบนพื้นรถจีเอ็มซีหลังสลายการชุมนุม ผลของมันทำให้แขน ขาฝ่อลีบไร้เรี่ยวแรง มือทั้งสองข้างก็หงิกงอจนไม่สามารถหยิบจับอะไรได้ มาลีกีต้องทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่องจนสามารถทำหลายอย่างได้ด้วยตัวเอง
บ้านของเขาตั้งอยู่หน้าโรงเรียนนิรันดรวิทยา ต.บางปอ อ.เมือง จ.นราธิวาส ชีวิตทำท่าจะสดใสเมื่อเขาแต่งงานเมื่อ 4 ปีก่อน มาลีกี เล่าว่า ช่วงนั้นได้รับเงินเยียวยาจากการฟ้องแพ่งมาล้านกว่าบาท จึงนำเงินมาต่อเติมหน้าบ้านเพื่อขายของชำ ทำให้มีรายได้เป็นของตัวเอง และใช้เงินอีกส่วนหนึ่งไปจำนำสวนยางพาราเพื่อมีรายได้ให้ครอบครัว เมื่อราคายางดีจึงซื้อที่ดินเพื่อปลูกยางพาราอีกแปลง พร้อมกับแต่งงาน
กับเงินเยียวยาก้อนล่าสุดที่ได้รับ 7.5 ล้านบาท งวดแรก 3.5 ล้านบาทนั้น มาลีกี เล่าว่า ได้นำไปซื้อสวนยางที่กรีดได้แล้ว 6 ไร่ ให้แม่และน้องสาวกรีดเป็นรายได้ รวมทั้งรับจำนองสวนยาง จ่ายหนี้จนหมดและช่วยเหลือพี่น้องตามความจำเป็น
"ก่อนได้รับการเยียวยามีแม่และน้องสาวคอยดูแลผม พี่ชายดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย เมื่อได้เงินมาก็ช่วยเหลือเขากลับ เมื่อได้เงินก้อนหลังคิดว่าจะซื้อสวนยางที่ยังกรีดไม่ได้เพิ่ม เพราะเมื่อสวนที่กรีดหมดอายุ สวนใหม่ก็จะกรีดได้ทดแทนกัน รายได้ที่เข้ามาจากสวนยางก็แบ่งกันใช้ในครอบครัว"
มาลีกี บอกว่า หากเทียบเงินที่ได้รับกับสภาพร่างกายและวันเวลาที่ผ่านมา ถือว่าไม่คุ้มค่ากันเลย แต่เขาคิดว่าเป็นบททดสอบอันยิ่งใหญ่ของอัลลอฮ์
"วันนั้นอัลลอฮ์กำหนดไว้แล้วว่าให้เราอยู่ตรงไหน หากไม่เจออย่างนี้ก็ไม่รู้จะต้องไปเจอเหตุอะไรที่อาจจะหนักกว่านี้ 10 ปีที่ผ่านมาใช้ความศรัทธา อดทนมากๆ ช่วงแรกคิดมากเหมือนกันเพราะกลัวเป็นภาระของคนในบ้าน แต่ไม่เคยคิดสั้น"
แม้สภาพชีวิตโดยทั่วไปของมาลีกีจะดีขึ้นหลังได้รับเงินเยียวยา แต่สภาพร่างกายของเขากลับแย่ลง ยังคงเจ็บป่วยและมีโรคแทรกซ้อนคือโรคไต มีอาการชาบริเวณหลังและแขนทั้งสองข้างอยู่บ่อยครั้ง เขาจึงพยายามออกไปไหนมาไหนบ้าง เช่น ไปทำสวน ไปตกปลากับเพื่อน เพื่อเป็นการพักผ่อนและทำกายภาพบำบัดไปในตัว อีกทั้งพยายามทำอะไรด้วยตัวเองให้ได้มากที่สุด
มาลีกี เคยให้สัมภาษณ์ "ทีมข่าวอิศรา" ถึงชีวิตครอบครัวอันสุขสงบตามอัตภาพ หลังจากได้แต่งงานมีภรรยามาช่วยดูแล แต่วันนี้เขากับภรรยาแยกทางกันแล้วด้วยหลากหลายเหตุผล
"เขาเป็นคนไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยบ่น ดูแลเราดีทั้งซักผ้า ทำกับข้าว แต่ไม่มีลูกด้วยกัน จนกระทั่งล่าสุดหย่ากันแล้วเมื่อหลังรอมฎอนที่ผ่านมา"
แต่มาลีกีก็ยังยิ้มได้ และบอกว่ายังมีความหวังว่าอัลลอฮ์จะทรงประทานคู่ครองใหม่ที่มีความจริงใจให้กับเขาในไม่ช้า...
แยนะ : 9 ปีไม่เคยลืมแต่ชาวบ้านไม่อยากรื้อฟื้น
ด้าน แยนะ สะแลแม แกนนำญาติผู้สูญเสีย บอกว่า เรื่องนี้เหมือนเกิดขึ้นเมื่อวาน ไม่อยากจำแต่ก็ไม่ลืม แต่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่อยากทำอะไรแล้ว
"เราเดินเรื่องประสานช่วยเหลือมาจนเขาได้รับการเยียวยาตามความเป็นธรรมที่ควรได้รับกันเกือบหมด ก็ดีใจและหมดห่วงเสียที เหลือแต่เรื่องที่ศาลตัดสินว่าขาดอากาศหายใจนั่นแหละ (หมายถึงคำสั่งในสำนวนชันสูตรพลิกศพเบื้องต้นของศาลจังหวัดสงขลาเมื่อ 29 พ.ค.2552) ต้องรอทนายความว่าจะไปทางไหน เพราะถ้าเป็นการเอาลายเซ็นจากชาวบ้านก็เต็มใจ แต่ถ้าจะให้ชาวบ้านไปต่อสู้เหมือนเดิม ขึ้นศาลอีก ไม่มีใครเอาแล้ว แก่กัน หมดแรงกันแล้ว มอบให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและทนายความช่วยเหลือ ถ้าตัดสินเหมือนเดิมก็ไม่ทำอะไรแล้ว อยู่แบบชาวบ้านดีกว่า กิจกรรมในพื้นที่บ้านเราเกี่ยวกับ 9 ปีตากใบก็ไม่จัดอะไร ไม่อยากไปรื้อฟื้นแล้ว ส่วนองค์กรไหนจะจัดก็แล้วแต่เขา"
เป็นเสียงจากผู้ได้รับผลกระทบตัวจริงจากเหตุการณ์ตากใบที่ยังต้องสู้ชีวิตต่อไปแม้ได้รับเงินเยียวยา...ชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (จากซ้ายไปขวา) หะยีดิง, มือแย และ มาลีกี