ย้อนรอยการเมืองไทย กับกฎหมาย “นิรโทษกรรม”
เดือดแน่นอน เมื่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... ที่ “วรชัย เหมะ” สส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทยและคณะเสนอ ถูกที่ประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ลงมติแก้ไขถ้อยคำที่กล่องดวงใจ คือ สาระสำคัญของร่างทั้งฉบับ
นั่นคือ มาตรา 3 อันทำให้ตีความขอบเขตการนิรโทษกรรมครอบคลุมไปถึงบรรดาคดีของ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะคดีที่มาจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) คือคดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาทนั่นเอง
สังคมมองว่าเป็นการแก้ไขแบบ “สุดซอย” จากร่างในมาตรา 3 เดิมที่ระบุ
“ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการชุมนุม การประท้วงหรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ไม่เป็นความผิดต่อไปและให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”
เปลี่ยนเป็น
“ให้บรรดาการกระทำใดๆ ทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใดเพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการชุมนุม การประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทำต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่อจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2547 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 8 สิงหาคม พ.ศ.2556 ไม่เป็นความผิดต่อไปและให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”
หากว่าพูดถึงการออกกฎหมาย “นิรโทษกรรม” หรือ การทำให้ไม่มีโทษ ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย เคยมีการออกกฎหมายในลักษณะดังกล่าวมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นทางแพ่ง หรือทางอาญา เพียงแต่ว่ากฎหมายนิรโทษกรรมส่วนใหญ่ที่มีการออก จะจำเพาะเจาะจงในกรณีใดกรณีหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือความผิดใดความผิดหนึ่ง ต่างจาก กฎหมายนิรโทษฉบับสุดซอยในวันนี้
ดังตัวอย่างนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง วันที่ 24 มิถุนายน 2475 มาจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยได้เคยออกกฎหมายทั้งที่เป็นพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) พระราชกำหนด(พ.ร.ก.) หรือถ้อยคำบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมมาแล้ว 22 ครั้ง ดังนี้
1.พระราชกำหนด(พ.ร.ก.)นิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ.2475 ประกาศโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวที่คณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จ โดยให้การกระทำทั้งหลายของคณะราษฎรที่เป็นการละเมิดกฎหมาย ไม่ให้เป็นการละเมิดบทกฎหมายใดๆ
2. พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในการจัดการให้คณะรัฐมนตรีลาออกเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 ออกโดย พระยาพหลพลลพยุหเสนา โดยคณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนาหลวงพิบูลสงคราม และหลวงศุภชลาศัย ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476
3. พ.ร.ก.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล พ.ศ.2488 ออกโดยนายควง อภัยวงศ์ มีการปลดปล่อยนักโทษทางการเมืองทั้งหมดเป็นอิสระ โดยผู้กระทำผิดจะได้ถูกฟ้องรับโทษตามคำพิพากษาแล้วหรือไม่และไม่ว่าผู้กระทำผิดนั้นจะได้หลบหนีจากที่ใดไปยังที่ใดหรือไม่ ให้เป็นอันพ้นจากความผิดนั้น ๆ ทั้งสิ้น
4. พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการต่อต้านการดำเนินการสงครามของญี่ปุ่น พ.ศ.2489 ออกโดยนายปรีดี พนมยงค์ เป็นการยกโทษให้แก่ผู้ที่ต่อต้านญี่ปุ่นในครั้งที่ญี่ปุ่นเข้ามาไทย ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
5. พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ออกโดยนายควง อภัยวงศ์ ในครั้งที่มีกลุ่มทหารนอกราชการที่นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ทำการรัฐประหาร พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แล้วให้ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยนิรโทษแก่ผู้ที่ทำการรัฐประหารในคราวนั้นทั้งหมด
6. พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ได้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2475 กลับมาใช้ พ.ศ.2494 ออกโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นการรัฐประหารของจอมพลป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เรียกได้ว่าเป็นการรัฐประหารตัวเอง
7. พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499 ออกโดยจอมพลป. พิบูลสงครามเนื่องจากพระพุทธศาสนาได้ยั่งยืนมาครบ ๒๕ ศตวรรษ จึงมีการอภัยทานความผิดฐานกบฏจลาจลนั้นเพื่อไม่มุ่งหมายจองเวรแก่กัน จึงได้นิรโทษกรรมทั้งหมด
8. พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 พ.ศ. 2500 ออกโดยนายพจน์ สารสิน เป็นการรัฐประหาร จอมพลป.พิบูลสงคราม นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อันเนื่องมาจากประชาชนไม่พอใจการเลือกตั้งที่ทุจริต และสมาชิกพรรคมนังคศิลาของจอมพลป. เสนอให้จัดการเด็ดขาดกับจอมพลสฤษดิ์ ที่แถลงให้จอมพลป.ลาออกจากตำแหน่ง จอมพลสฤษดิ์จึงทำการรัฐประหารตัดหน้าเสียก่อน แล้วให้นายพจน์ สารสินขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดการเลือกตั้ง
9. พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 พ.ศ. 2502 ออกโดยจอมพลถนอม กิตติขจร สืบเนื่องจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศยึดอำนาจอีกครั้ง โดยอ้างถึงเหตุความมั่นคงของประเทศ ซึ่งมีลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังคุกคาม ในการรัฐประหารในครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็น การรัฐประหารเงียบ หรือ ยึดอำนาจตัวเอง ออกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำให้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สามารถใช้อำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อย่างเต็มที่ เบ็ดเสร็จ และเด็ดขาด ด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 17
10.พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 พ.ศ.2515 ออกโดยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นการรัฐประหารอีกครั้งในประเทศไทย ยึดอำนาจตัวเอง เหมือนรัฐประหาร พ.ศ. 2494 ของจอมพลป. พิบูลสงคราม โดยได้มีการนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ทำการปฏิวัติหรือร่วมทำการปฏิวัติพ้นจากความผิดทั้งสิ้น
11.พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่นักเรียนนิสิต นักศึกษาและประชาชน ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 พ.ศ.2616 ออกโดยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ โดยเหตุที่นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนเดินขบวนเรียกร้อง ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ไทย 14 ตุลาคม 2516 ภายหลังจากเหตุการณ์จึงมีการนิรโทษกรรมทั้งหมด
12.พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติที่ 36/2515 ลงวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2515 พ.ศ. 2517 ออกโดยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นการนิรโทษกรรมบุคคล โดยให้ยกเลิกคำสั่งคณะปฏิวัติที่ 36/2515 ที่ให้ควบคุมตัวนายอุทัย พิมพ์ใจชน นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ และนายบุญเกิด หิรัญคำ
13.พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 พ.ศ.2519 ออกโดยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งมาจากเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รัฐบาลในขณะนั้นคือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช คุมสถานการณ์ไม่อยู่ คณะนายทหาร 3 เหล่าทัพและอธิบดีกรมตำรวจ นำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด จึงจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองไว้ และให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และมีการนิรโทษกรรมสำหรับผู้ทำการรัฐประหารในคราวนั้น
14.พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 พ.ศ.2520 ออกโดยพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จากเหตุการณ์กบฏในวันที่ 25 มีนาคม 2520 ซึ่งเป็นความพยายามก่อรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร โดย พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ และนายทหารกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่สำเร็จ เมื่อคราวผ่านพ้นไปจึงได้มีการนิรโทษกรรมทั้งหมด
15.พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 พ.ศ.2520 ออกโดยพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เนื่องมาจากการรัฐประหารนำโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด รัฐประหารนายธานินท์ กรัยวิเชียร ซึ่งเป็นการกระชับอำนาจตนเอง ถือเป็นการรัฐประหารตัวเอง และได้นิรโทษกรรมทั้งหมด
16.พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521 ออกโดยพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ โดยเห็นว่าหากมีการดำเนินคดีแก่ผู้ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จะทำให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดีต้องเสียอนาคตในทางการศึกษาและการประกอบอาชีพยิ่งขึ้น จึงมีการนิรโทษกรรม
17.พ.ร.ก.นิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2524 พ.ศ.2524 ออกโดยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ในเหตุการณ์ที่มีความพยายามจะรัฐประหารรัฐบาลพลเอก เปรม โดยเรียกชื่อกลุ่มว่ายังเติร์ก แต่ไม่สำเร็จ หลังจากนั้น พลเอกเปรม จึงได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมกลุ่มเหล่านี้ทั้งหมด เพื่อความสามัคคีของคนในชาติ
18.พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 8 และวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 พ.ศ. 2531 ออกโดยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ จากเหตุความพยายามรัฐประหารของนายทหารนอกราชการ เรียกเหตุการณ์นี้ว่า กบฏทหารนอกราชการ หรือ กบฏ 9 กันยา แต่หลังจากนั้นก็ได้มีการนิรโทษกรรมเพื่อความสามัคคีของชนในชาติ
19.พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2532 ออกโดยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นการนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ได้กระทำความผิดตามกฎหมายปราบปรามคอมมิวนิสต์
20.พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 พ.ศ. 2534 ออกโดยนายอานันท์ ปันยารชุน จากการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่ทำการรัฐประหารพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดยให้นิรโทษผู้ที่ร่วมในการรัฐประหารทั้งหมด
21.พ.ร.ก.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พ.ศ.2535 ออกโดย พลเอก สุจินดา คราประยูร ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ โดยให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนั้นพ้นผิดทั้งหมด ไม่ว่าจะประชาชนที่เข้าชุมนุม และทหารที่ทำการปราบปรามประชาชน
22.ครั้งสุดท้ายที่ประเทศไทยมีการนิรโทษกรรม ได้เป็นความบัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ในมาตรา 309 ที่ระบุ “บรรดาการใด ๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้” ซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการบัญญัติการนิรโทษกรรมไว้ในรัฐธรรมนูญ จากสาเหตุการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เข้ายึดอำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
ยกตัวอย่างมาให้ดูคร่าวๆ เหล่านี้คือลักษณะกฎหมายนิรโทษกรรมทางการเมือง นั่นคือ เหตุการณ์และผลพวงทางด้านการเมือง และปัญหาการเมืองเป็นส่วนใหญ่
ส่วนร่างฉบับสุดซอยในวันนี้ ตามที่หลายฝ่ายท้วงติงและวิตกกังวล ว่านอกเหนือขอบเขตทางการเมือง เพราะจะส่งผลไปถึงคดีที่เกลี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นซึ่งศาลตัดสินไปแล้ว
จึงส่งผลให้สถานการณ์ทางการเมืองไทยในเวลานี้ เปราะบางยิ่ง...
หมายเหตุ : นายจำนง ศรีนคร เป็นผู้สื่อข่าวอิสระ