คำบรรยายสมเด็จพระสังฆราช ปี 14:ความเจริญ-ความเสื่อมในสังคมไทย
พบหนังสือหายาก คำบรรยายสมเด็จพระสังฆราชที่ ม.ธรรมศาสตร์ปี 2514 กล่าวถึงความเจริญ-ความเสื่อมในสังคมไทย ที่ ม.นอร์ธเทิร์น อิลลินอยส์ สหรัฐฯ ก่อนสิ้น 1 สัปดาห์
เนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือคำบรรยายวิชาพื้นฐานวัฒนธรรมไทย เรื่อง พระพุทธศาสนากับสังคมไทย ของสมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร (เจริญ สุวฑฒโน) หรือสมเด็จพระสังฆราช เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็น พระสาสนโสภณ ได้บรรยายแก่นักศึกษาชั้นปีที่ ๑ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในภาคปีการศึกษา ๒๕๑๔ และในภาคการศึกษาที่ ๑ และที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๑๕
หนังสือเล่มนี้ถูกแจกในงาน COUNCIL ON THAI STUDIES 2013 CONFERENCE PROGRAM ของศูนย์ศึกษาตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัย นอร์ทเทิร์น อิลลินอยส์ ( Northern Illinois University:NIU) เมื่อวันที่ 18-19 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตัดทอนเนื้อหาบางส่วนมาเสนอดังนี้
ความเจริญและความเสื่อมแห่งสังคมไทย
สังคมไทยเกี่ยวดองอยู่กับพระพุทธศาสนาดังที่ได้ยกขึ้นกล่าวถึงระบบสังคมต่างๆ ไว้แล้ว ถ้าจะถามว่า การที่สังคมไทยมีระบบความเชื่อถือเป็นต้นเช่นนั้นนับว่าเป็นความเจริญหรือความเสื่อมก็น่าจะต้องพิจารณาว่าที่เรียกว่าเจริญนั้นอย่างไร เสื่อมนั้นอย่างไร คนชาติไทยเราที่รวมอยู่เป็นสุขตั้งแต่ครอบครัวขึ้นไปจนถึงเป็นประเทศชาติ และดำรงความเป็นไทยเจริญยั่งยืนอยู่ตลอดมา ทั้งเจริญเติบโตขึ้นก็ควรจะเรียกว่าเจริญได้ และควรจะกล่าวว่าพระพุทธศาสนาได้มีส่วนสร้างความเจริญดังกล่าวให้แก่คนชาติไทย พิจารณาตามประวัติศาสตร์คือตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นลำดับมา ประเทศชาติไทยต้องเดือดร้อนระส่ำระสายจนถึงต้องสูญเสียเอกราชในบางครั้งบางคราวเพราะอะไร จะเห็นว่ามิใช่เพราะพระพุทธศาสนา แต่เพราะขาดการปฏิบัติธรรมบางข้อเช่นความสามัคคี ความไม่ประมาท หรือจะกล่าวว่าขาดอปริหานิยธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่กษัตริย์ลิจฉวีก็ได้
…….
ในขณะที่ประเทศชาติกำลังดำเนินไปในทางเจริญอยู่นี้จึงปรากฏว่าสังคมไทยก็กำลังเปลี่ยนไปในทางเสื่อมอยู่หลายประการ และขอสำคัญคือกำลังเสื่อมจากศรัทธาและปัญหาในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นโครงสร้างของตนเอง จะลองเสนอสาเหตุสำหรับพิจารณาดังต่อไปนี้เป็นบางประการ
(๑)ทิ้งของเดิมรับของใหม่ที่ผิด ไทยเรามีของเดิมที่ดีที่งดงามอันแสดงถึงอารยะและวัฒนะอยู่เป็นอันมากที่ร่วมกันสร้างความเป็นไทย ประกอบด้วยสถาบันทั้ง ๓ อันเป็นไตรรงค์ของชาติไทย ทำให้คนไทยมีลักษณะของตนเองดังกล่าวในตอนต้น การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรับของใหม่เข้ามาก็เพื่อเสริมสร้างความเจริญแก่สถาบันที่เป็นหลักของชาติตามควรแก่กาละเทศะ มิใช่หมายความว่าจะทิ้งของเดิมที่ดีอยู่ ในสมัยที่ขอบเขตแห่งสังคมแผ่ออกไปทั่วโลกดังปัจจุบันเราจะต้องพบความรู้ในศาสตร์ต่างๆ จะต้องพบสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรม อารยธรรม และอะไรอื่นของคนในนานาประเทศ ก็จะต้องเกิดการเปรียบเทียบกันขึ้นว่าของใครจะดีกว่ากันโดยเฉพาะของเรากับของเขาจะต้องเกิดปัญหาขึ้นดังนี้
(ก) ทิ้งของเรา รับของเขา
(ข) ไม่ทิ้งทีเดียว แต่ปรับปรุงของเราเสียใหม่
(ค) รักษาของเราไว้ ไม่เปลี่ยนแปลง
(ก) ถ้าของเราเก่าแก่ไปเสียแล้ว และไม่สุภาพงดงาม ไม่เหมาะสมต่างๆ ควรทิ้งเสียได้ ก็เลิกเสีย เปลี่ยนใหม่ ไทยเราได้เลิกแบบเก่ามาใช้แบบใหม่ที่ดีที่สุภาพเหมาะสมกว่าเป็นอันมากเช่นในรัชกาลที่ ๔ ทรงเลิกธรรมเนียมไม่สวมเสื้อเข้าเฝ้า เป็นให้สวมเสื้อเป็นต้น การเลิกของเดิมที่ไม่เหมาะสมมาเป็นแบบใหม่ที่เหมาะสมเป็นการควรทำเพื่อความเจริญก้าวหน้า การที่คนในโลกนี้เจริญขึ้นจากแบบคนป่ามาเป็นคนเมืองก็เพราะเปลี่ยนจากแบบคนป่ามาโดยลำดับ ถ้าจะเลิกอะไรไม่ได้ก็จะต้องเป็นคนป่าอยู่เหมือนอย่างเดิม แต่ถ้าของเดิมดีอยู่ จะทิ้งหรือเลิกเสียก็เป็นการทำผิด เช่นสถาบันที่เป็นหลักของชาติ ระบบความเชื่อถือเป็นต้นที่เป็นหลักสำคัญ เมื่อทิ้งเสียก็คือทิ้งตัวเราเอง
(ข) ของเดิมที่ไม่เหมาะสมในบางประการ เมื่อปรับปรุงเสียบ้างก็จะเป็นประโยชน์ดังนี้ก็ปรับปรุงให้เหมาะสมขึ้น มีอยู่เป็นอันมากที่ไทยเราได้ปรับปรุงจากของเดิม ในรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงปรับปรุงพิธีการทางพราหมณ์ให้มีทางพระพุทธศาสนาเข้าแทรกหลายอย่าง ในบัดนี้คนไทยทั่วไปก็ได้ปฏิบัติพิธีกรรมต่างๆ โดยมากมีรูปพิธีเป็นทางพราหมณ์แต่มีการบำเพ็ญกุศลเป็นทางพุทธปนกันอยู่ สิ่งที่ปรับปรุงของเดิมให้ดีขึ้นนี้มีอยู่ทั่วไปตั้งแต่สิ่งเป็นธรรมชาติไปจนถึงสิ่งที่คนประดิษฐ์ขึ้น เช่น ร่างกายนี้เกิดมาทีแรกก็ตัวนิดเดียวแต่ปรับปรุงให้โตใหญ่ขึ้นจากตัวเดิมนั่นแหละจนถึงแก่เฒ่าใช้ไม่ได้จึงทิ้ง คือตายกันเสียทีหนึ่ง เครื่องนุ่งห่มก็ยุติกันว่าคนเมืองต้องนุ่งต้องห่ม ส่วนการที่จะปรับปรุงให้ยาวๆ สั้นๆ อย่างไรนั้นไม่ยุติ ยวดยานพาหนะเดิมก็เป็นเกวียน เป็นรถม้า ต่อมาก็ปรับปรุงเป็นรถยนต์เป็นเรือบินเรือเหาะ เป็นต้น แต่ถ้าของเดิมเหมาะอยู่ไปปรับปรุงแก้ไข ก็เป็นการเสียเพราะไปแก้ดีให้เสีย เช่น ระบบหรือแบบที่เป็นลักษณะของคนไทยที่ลงตัวอยู่แล้ว จะเปลี่ยนทำเป็นท่าจีนแขกฝรั่งไปอย่างไร ก็เป็นการเสียมากกว่าดี แบบโบสถ์วิหารและลวดลายไทยต่างๆ ที่นับว่าเป็นศิลปะชั้นยอด เป็นแบบที่ลงตัวแล้วจะเปลี่ยนแก้อย่างไรก็ไม่ดีไปกว่าของเดิม
(ค) การรักษาของเราไว้ไม่เปลี่ยนแปลงอะไร ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ควรรักษาก็เท่ากับเป็นการหยุดความเจริญของตนเองให้ชะงักงัน ดังเผ่าคนที่ไม่ยอมเปลี่ยนอะไรในปัจจุบัน กลายเป็นเผ่าคนป่าที่ยังมีให้เห็นอยู่ในบางที่บางแห่ง แต่ถ้าของเราดีอยู่แล้วไม่รักษาไว้ก็เท่ากับไม่รักษาตัวเอง
(๒) ความมัวเมาในวัตถุ ความเจริญส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้เป็นความเจริญทางวัตถุซึ่งเป็นเครื่องบำรุงความสุขสะดวกทางกาย ตลอดถึงเครื่องบำรุงตา บำรุงหูตลอดถึงบำรุงใจให้เพลิดเพลินด้วยวัตถุต่างๆ วัตถุเหล่านี้ทำให้เกิดความมัวเมาได้ง่าย เมื่อมีความมัวเมาต้องการในวัตถุก็จะทิ้งศีลธรรมทิ้งศาสนาเสียได้ ทำอะไรได้โดยไม่เลือกทางเพื่อให้ได้วัตถุที่ต้องการมาเท่านั้น ในข้อนี้ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า กาม มี 2 ชนิดคือกิเลสกาม กิเลสเป็นเหตุให้ใคร่ ให้ปรารถนาวัตถุกาม พัสดุอันน่าใคร่น่าปรารถนาเมื่อโลกเจริญด้วยวัตถุกาม ก็ยั่วกิเลสกามของคนให้มากขึ้น
(๓) ความปล่อยตัว เมื่อเกิดความมัวเมาก็ขาดสติ จึงปล่อยตัวให้ทำอะไรก็ได้โดยปราศจากความละอาย มนุษย์เรานั้นแม้พัฒนามาจากคนป่า เป็นคนเมืองดังที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า “โปรี”หรือ ที่เรียกว่า “สิวิไลซ์” แต่ก็ยังมีสันดานเป็นคนป่าหรือเป็นสัตว์อยู่ แต่อาศัยที่มนุษย์เรามีใจสูง มีปัญญารู้ สำนึกในผิดชอบชั่วดี มีหิริโอตตัปปะ คือรู้จักละอาย รู้จักเกรงกลัวความผิด จึงได้สร้างกฎระเบียบศีลธรรมหรือศาสนาขึ้นสำหรับประพฤติปฏิบัติตนให้เรียบร้อยงดงาม รู้จักปกปิดซ่อนเร้นสิ่งที่ควรปกปิดซ่อนเร้น รู้จักเว้นการควรเว้น ประพฤติการควรประพฤติ แต่ถ้าปล่อยตัวเพราะความมัวเมาดังกล่าว สันดานเก่าก็จะออกมา จะกลายเป็นมักได้อย่างไม่น่าเป็น จะดุร้ายยิ่งกว่าสัตว์ป่าเสียอีก
(๔) ความจำเป็นและเหตุอื่นบางอย่าง เช่น ความอดอยากแร้นแค้น ความถูกข่มเหง ความไม่ได้รับความยุติธรรม ความทอดธุระ ความปฏิบัติไม่ถูกทาง เป็นต้น
ทางแก้ไข เนื่องด้วยปัญหาสังคม เป็นเรื่องที่ครอบคลุมไปทั้งหมด การแก้ปัญหาสังคมจึงต้องอาศัยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่ในพระพุทธศาสนาวิธีแก้สังคมได้มีแสดงธรรมไว้สำหรับใช้ทุกแง่ทุกมุม แต่ขอให้นำไปปฏิบัติใช้ทุกแง่ทุกมุมก็แล้วกัน เช่น สติ ความระลึกได้ ความสำนึกรู้ ธัมมวิจยะ ปัญญาเลือกเฟ้น วิริยะความเพียรในการทำเหตุ สันโดษ ความพอใจในผลที่ได้รับ แม้เพียงเท่านี้จะทำให้มีสติปัญญารู้จักยับยั้งชั่งใจ เลือกรับสิ่งที่ควรรับเป็นต้น และไม่เฉื่อยชาเกียจคร้าน มีความขยันหมั่นเพียรในการประกอบกรณียกิจต่าง และจะไม่ทุจริตคอรัปชั่น และมีข้อเพิ่มเติมด้วยธรรมที่เป็นหลักสังคมโดยตรง ตามมงคลคาถาแรกของพระพุทธเจ้าว่า “การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต การบูชาผู้ควรบูชา” ไม่คบคนพาลก็คือไม่สังคมกับคนเขลาหมายถึงคนชั่วคนผิด คบบัณฑิต คือสังคมกับคนฉลาด หมายถึงคนดี บูชาผู้ควรบูชา คือบูชาคนดี ไม่บูชานับถือคนชั่ว
อนึ่ง แต่ละคนตั้งใจปฏิบัติตามพระโอวาท 3 ข้อ ที่ว่า ละความชั่ว ทำความดี ชำระจิตของคนให้ผ่องแผ้ว
ทั้งนี้ จะต้องมีศรัทธาในสิ่งที่ถูก ประกอบด้วยปัญญา แม้ในพระพุทธศาสนาเองและในสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย จึงควรจะต้องศึกษาให้มีความรู้เหตุผลแม้ที่เป็นเบื้องต้นของพระพุทธศาสนา และในสิ่งที่ประสบ จะเชื่อถืออะไรก็ให้มีเหตุผล คือ คิดพินิจพิจารณาเสียก่อน จะต้องมีวิริยะ ความเพียร สมาธิ ความตั้งใจมั่น โดยไม่เฉื่อยชาผลัดเพี้ยนในกิจที่ควรทำ และจะต้องมีสติเป็นหางเสือประจำอยู่เสมอ ดังนี้ก็จะไม่ทิ้งของเดิมที่ดีอยู่ไปรับของใหม่ที่ผิด จะไม่มัวเมาในวัตถุ จะไม่ปล่อยตัว
พระพุทธศาสนากับสังคมไทยที่เป็นส่วนสำคัญนั้นได้กลมกลืนกันอย่างลึกซึ้ง วัดทั้งหลายที่มองเห็นกันอยู่ทั่วไปที่คิดว่าเป็นที่ตั้งพระพุทธศาสนานั้น คิดดูให้ดี จะเห็นว่าที่แท้เป็นสังคมไทยลักษณะหนึ่ง ลักษณะโบสถ์วิหารเป็นต้นก็เป็นศิลปะแบบไทย พระพุทธรูปเองก็เป็นศิลปะแบบไทย ตัวพระพุทธศาสนาเองเป็นหลักธรรมอันบริสุทธิ์ที่ปรากฏอยู่ในความรู้และความประพฤติ ฉะนั้นแม้ในบ้านเองซึ่งเป็นสังคมไทยอีกลักษณะหนึ่งก็มีพระพุทธศาสนาซึมซาบอยู่เป็นระบบความเชื่อถือ ความเคารพเชื่อฟัง เป็นต้น ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
ระบบสังคมไทยที่เป็นพระพุทธศาสนาสร้างขึ้นดังกล่าวเป็นระบบสังคมที่ดี ให้เกิดความสุขความเจริญ พระพุทธศาสนาไม่เคยทำให้สังคมไทยเสื่อม แต่ที่เสื่อมก็เพราะขาดพระพุทธศาสนาหรือใช้ธรรมไม่ถูกทาง
จึงควรศึกษาให้มีความรู้จักพระพุทธศาสนาโดยเหตุผล เช่นให้รู้จักสันโดษว่ามุ่งให้ปฏิบัติอย่างไร และปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม หรือให้เหมาะแก่ความมุ่งหมาย ให้เหมาะแก่ภาวะของตน เหมือนอย่างใช้ยาให้เหมาะแก่โรค เช่น คฤหัสถ์ก็ปฏิบัติในคิหิปฏิบัติดังหัวข้อต่างๆ ที่อ้างมาแล้วข้างต้นทุกคนจะมีความสุขความเจริญ และสังคมไทยก็จะมีความสุขความเจริญ
……