ทำทีละขั้นตอน ผสมผสานสร้าง'ตาข่าย'รองรับสังคมผู้สูงอายุ
สังคมไทยก้าวเข้าสู่ 'สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society)' จากที่เคยมีประชากรผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี แค่ร้อยละ 10.38 ของประชากร
ปี 2554 ได้เพิ่มเป็นร้อยละ 12.2 ขณะที่มีการคาดกันว่า ปี 2573 ประเทศไทยจะเป็น 'สังคมสูงอายุอย่างแท้จริง' มีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25.12
ผลจากการเป็นสังคมผู้สูงอายุ... จากกรณีศึกษาหลายประเทศที่ผ่านสภาวการณ์นี้มาแล้ว และรวบรวมจากโครงการวิจัย "ภาพรวมผลการศึกษาและข้อเสนอแนะการก้าวสู่สังคมสูงอายุของไทย" โดย ดร.อรพินท์ สพโชคชัย นักวิชาการอิสระ และอดีตคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ระบุว่า
...การกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีประชากรวัยสูงอายุเพิ่มมากขึ้นนั้น ส่งผลให้ประเทศไทยเริ่มขาดแคลนประชากรวัยแรงงาน กระทบเป็นลูกโซ่ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ แรงงานสูงอายุเสียสิทธิ์และโอกาสในการทำงาน
รวมไปถึงปัญหาเชิงจิตวิทยา คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ
กรณีที่ประชากรขาดความสมดุล ยังสร้างปัญหาและภาระทางสังคมในเรื่องบริการสาธารณะและสวัสดิการภาครัฐอีกด้วย
สภาวการณ์เช่นนี้ เป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ทั้งในเชิงคุณภาพชีวิต ภาวะเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและความมั่นคงในชีวิตของผู้สูงอายุ ดร.อรพินท์ ถอดบทเรียนหลายประเทศที่เคยประสบปัญหานี้ พบว่า มีการดำเนินการเชิงนโยบายและมาตรการที่หลากหลาย เพื่อรองรับปัญหาและความท้าทายดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
เช่น
มาตรการทั้งในเชิงเศรษฐกิจ การขยายอายุการทำงาน การปรับระบบบำนาญ
และมาตรการเชิงสังคม เช่น สร้างหลักประกันทางสังคม คุณภาพชีวิต และแก้ไขปัญหาความยากจนของกลุ่มผู้สูงอายุ
สำหรับประเทศไทย มีทางเลือกอะไรบ้าง...?
ดร.อรพินท์ บอกว่า ตามกฎหมายไทยได้กำหนด "นิยามผู้สูงอายุ" โดยใช้เกณฑ์ อายุ 60 ปี เป็นแนวทางในการกำหนดให้บุคคลเกษียณอายุจากหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นๆ ที่ใช้เกณฑ์ของราชการ
ขณะที่เอกชนไม่มีการกำหนดไว้ชัดเจน ขึ้นอยู่กับประเภทอุตสาหกรรมและงาน ส่วนมากกำหนดที่ 55 ปี ตามที่ปฏิบัติในสากล และมีบางอุตสาหกรรมอาจขยายถึง 60 ปี
อย่างไรก็ตาม โอกาสที่ไทยจะเป็น รัฐสวัสดิการโดยสมบูรณ์ เช่นในประเทศตะวันตกก็มีความเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น ขณะที่จำนวนประชากรรุ่นใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงมีจำนวนผู้รับบริการมากกว่า ทำให้ความมั่นคงและความมั่งคั่งทางการเงินต่ำ ที่สำคัญเราขาดความมั่นคงทางการเมืองเสริมเข้ามาอีกด้วย
สิ่งที่ประเทศไทยควรพิจารณา นักวิชาการอิสระ เสนอว่า คือ 'ระบบผสมผสาน' ระหว่างการสนับสนุนโดยภาครัฐ การพึ่งพาตนเอง และส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวและชุมชน เพื่อเป็น 'ตาข่ายทางสังคม' ที่รองรับประชากรกลุ่มผู้สูงอายุ
โดยงานวิจัยของ ดร.อรพินท์ ได้เสนอมาตรการรองรับไว้ 2 นโยบาย ได้แก่
1.นโยบายเพื่อรองรับการเป็นสังคมสูงอายุ เริ่มต้นที่การสร้างสังคมที่เข้าใจ และมีทัศนคติที่ดีต่อผู้สูงอายุไทย โดยการพัฒนา หรือกำหนดนิยามเชิงบวกสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่ยึดติดกับอายุและลักษณะทางกายภาพ รวมถึงให้ความรู้แก่สังคม เช่น จัดทำข้อมูลสถานการณ์ประเทศไทยกับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสม่ำเสมอ
เน้นการพัฒนาปรับปรุงระบบบริการสาธารณะหลักๆ อาทิ บริการสาธารณสุข สวัสดิการสังคม และระบบประกันชราภาพ เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นในคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ
ที่สำคัญ...ต้องเตรียมความพร้อมประชาชนทุกวัย เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทั้งด้านทัศนคติ สุขภาพอนามัย การวางแผนชีวิต การศึกษา การทำงาน การวางแผนครอบครัว และการออมเพื่อวัยชรา ควบคู่ไปกับกฎหมายการออมแห่งชาติ และการส่งเสริมการออมกับสถาบันในภาคเอกชน
ทั้งนี้ ต้องให้ความสำคัญกับมาตรการที่ส่งเสริม ป้องกัน หรือชะลอการก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างถาวร เช่น ส่งเสริมครอบครัวที่มีความพร้อม หรือประชากรหนุ่มสาวที่มีการศึกษาสูงให้มีบุตรมากกว่า 2 คน เพื่อชดเชยกลุ่มประชากรที่ไม่สามารถมีลูก หรือไม่มีลูก
2.นโยบายการขยายอายุเกษียณ ที่มาจากการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังให้เกิดความชัดเจน เพื่อนำมากำหนดทิศทางและดำเนินการทางเศรษฐกิจและที่สังคมที่เหมาะสม กำหนดการขยายอายุเกษียณเป็นกฎหมายบังคับใช้ แต่ต้องสร้างความเข้าใจกับสังคม ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนร่วมคิด ร่วมแก้ไข เสนอแนะและร่วมดำเนินการ
โดยเฉพาะ 'กลุ่มนายจ้าง' ควรกำหนดมาตรการจูงใจให้จ้างแรงงานสูงอายุ ให้เป็นยุทธศาสตร์หรือแผนงานที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนมาตรการขยายอายุเกษียณ
ทั้งนี้ ควรกำหนดให้มีกลไกภาครัฐเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงาน เพื่อให้สามารถดำเนินนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพและมีศักยภาพสูง อย่างการขยายอายุการทำงาน อาจให้กระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพ ส่วนการสร้างหลักประกันทางสังคมและคุณภาพชีวิต อาจให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นเจ้าภาพ และจัดสรรงบประมาณ เพื่อกระตุ้นความสนใจนักวิชาการ นักวิจัยให้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผู้สูงอายุในมิติต่างๆ
อย่างไรก็ดี ดร.อรพินท์ มองในมิติ 'ด้านกฎหมาย' ด้วยว่า ควรมีการทบทวน แก้ไขและปฏิรูปกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากร เศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่ รวมถึงปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมในปัจจุบันที่ยังไม่ค่อยสมบูรณ์ ไม่ครอบคลุม และเพียงพอนัก หากต้องพึ่งพิงการอุดหนุนจากกระบวนการประกันสังคมเพียงอย่างเดียว
ท้ายที่สุด ดร.อรพินท์ เน้นย้ำว่า การชะลอการก้าวสู่สังคมสูงอายุ และการขยายอายุเกษียณ เป็นเรื่องยาก ละเอียดอ่อน ต้องใช้เวลา ขณะที่การสร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้สังคมยอมรับ ช่วยลดความสับสนและกระแสต่อต้านลงได้ โดยเฉพาะในสังคมยุคใหม่ ดังนั้น ต้องดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน มีระยะเวลาเตรียมพร้อม
ขณะที่นางศศิธร กะลีวัง เลขาชมรมผู้สูงอายุเคหะร่วมเกล้า แสดงความหนักใจต่อการขยายอายุเกษียณ เนื่องจากมีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ไม่มีความสามารถ และไม่มีทักษะด้านอาชีพเพียงพอ ดังนั้น หากจะมีการขยายอายุเกษียณควรเริ่มที่การส่งเสริมทักษะอาชีพของกลุ่มผู้สูงอายุ ดูแลผู้สูงอายุในชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นรากฐาน และให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการออม เพื่อให้วัยชราสามารถพึ่งพาตนเองได้
เช่นเดียวกับ นางศรีอมร ญาณะวรรณ ประธานชมรมผู้สูงอายุมีนบุรี ที่เห็นด้วยกับการขยายอายุเกษียณ เนื่องจากเชื่อมั่นว่า มีผู้ที่อายุ 60 ปีจำนวนมากที่ยังมีความสามารถและศักยภาพในการทำงาน โดยเฉพาะสาขาอาชีพที่อาศัยทักษะ เช่น การสอนหนังสือ หรือสอนทักษะอาชีพต่างๆ ตามถนัด
"ผู้สูงอายุจำนวนมากในหลายชุมชนสามารถรวมกลุ่มผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ แต่ประสบปัญหาด้านการขาย การตลาดหรือต่อยอดสินค้า จึงอยากให้ภาครัฐมีกลไกมาสนับสนุนกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนด้วย สำหรับกลุ่มที่ประกอบอาชีพในบริษัท หรือโรงงานอยากให้มีการจัดสรรประเภทงานที่เหมาะสมแก่ผู้สูงอายุด้วย"
อย่างไรก็ตาม นางศรีอมร ตั้งข้อสังเกต และอยากให้มีความชัดเจนว่า หากมีการขยายอายุเกษียณแล้ว เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะถูกตัดสิทธิ์ไปด้วยหรือไม่