เปิดชื่อ 6 "กม.ฉบับประชาชน" ฝ่าด่านสภาฯสำเร็จ-บางฉบับรอ 5 ปี!
เปิดชื่อ 6 ร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชน ที่สามารถฝ่าด่านการพิจารณาของ ส.ส.และ ส.ว.จนสามารถบังคับใช้ได้สำเร็จ บางฉบับต้องรอถึง 5 ปี!
จากกรณีที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอว่า ร่างกฎหมายในส่วนที่นำเสนอโดยประชาชน ภายหลังรัฐธรรมนูญ 2550 ลดจำนวนผู้เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย จากเดิม 50,000 คน เหลือเพียง 10,000 คน ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 85 ฉบับมีร่างกฎหมายที่ถูกตีตกไปถึง 32 ฉบับ ร่างกฎหมายที่ลดรอลงมติในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร หลังผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมสองสภา มี 3 ฉบับร่างกฎหมายที่อยู่ในกระบวนการของสภาผู้แทนราษฎร มี 24 ฉบับ ส่วนร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่างการยกร่างและรวบรวมรายชื่อ มี 20 ฉบับ โดยมีร่างกฎหมายที่บังคับใช้มีเพียง 5 ฉบับ เท่านั้น
(อ่านประกอบ สำรวจ“ร่างกม.ฉบับประชาชน”สภาฯ อันทรงเกียรติ ปัดตกไปแล้วกี่ฉบับ?)
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบร่างกฎหมายที่บังคับใช้แล้ว กระทั่งฉบับที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาเร็วที่สุด ก็ยังต้องใช้เวลากว่า 11 เดือน ขณะที่มีบางฉบับใช้เวลาเกือบ 5 ปี
โดยร่างกฎหมายที่นำเสนอโดยประชาชน และขณะนี้มีผลใช้บังคับทั้ง 5 ฉบับ ประกอบด้วย
1.ร่าง พ.ร.บ. วิชาชีพแพทย์แผนไทย พ.ศ. ….
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 17 มิถุนายน 2551 ผู้เสนอคือ นายอร่าม อามระดิษ และนายณัฎฐภัทร์ นิชาเกียรติธนา กับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน 10,227 คน บังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2556
2.ร่าง พ.ร.บ. โรงเรียนเอกชน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 2 ต.ค. 2551 ผู้เสนอคือ นายยืนยง จิรัฎฐิติกาล กับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน 11,577 คน บังคับใช้เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2554
3.ร่าง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 28 สิงหาคม 2552 ผู้เสนอคือ นายวิทธยา บริบูรณ์ทรัพย์ กับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน 13,812 คน บังคับใช้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2553
4.ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. ….
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 28 สิงหาคม 2552 ผู้เสนอคือ นายวิทธยา บริบูรณ์ทรัพย์ กับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน 12,602 คน บังคับใช้เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2553
5.ร่าง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการ กระทรวงศึกษาธิการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 28 สิงหาคม 2552 ผู้เสนอคือ นายวิทธยา บริบูรณ์ทรัพย์ กับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน 13,940 คน บังคับใช้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2553
นอกจากนี้ ยังมี 6.ร่างพ.ร.บ. วิชาชีพการสาธารณะสุขชุมชน พ.ศ. …. ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ แล้ว อยู่ระหวา่งขั้นตอนการทูลเกล้าฯ
ร่างกฎหมายดังกล่าวยื่นต่อรัฐสภา 25 กุมภาพันธ์ 2553 ผู้เสนอคือ นายไพศาล บางชวด กับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน 14,892 คน
ส่วนร่างกฎหมายที่นำเสนอโดยประชาชนและใกล้จะได้บังคับใช้ โดยเหลือเพียงรอการลงมติจากสภาผู้แทนราษฎร หลังผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมสองสภา มีจำนวนทั้งสิ้น 2 ฉบับประกอบด้วย
1.ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. ….
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 14 ตุลาคม 2553 ผู้เสนอคือ นายภูมิ มูลศิลป์ กับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน 10,751 คน
(ปัจจุบันอยู่ในระเบียบวาระการประชุมสภาฯ หัวข้อที่ (1) เรื่องที่ที่ประชุมเห็นชอบให้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อน ลำดับที่ 2)
2.ร่าง พ.ร.บ. องค์การอิสระด้านการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ….
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 19 กุมภาพันธ์ 2552 ผู้เสนอคือ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง กับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน 11,434 คน
(ปัจจุบันอยู่ในระเบียบวาระการประชุมสภาฯ หัวข้อที่ (4) เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ลำดับที่ 4.17)
ทั้งนี้ นับแต่รัฐธรรมนูญ 2550 บังคับใช้ มีสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 2 ชุดด้วยกัน ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 23 (รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2550-10 พฤษภาคม 2554 และสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 24 (รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2554-ปัจจุบัน"
ภาพประกอบ - จากเว็บไซต์ llaw.or.th