ฟ้าครึ้มที่ตากใบ... 9 ปีรัฐจ่ายค่าเสียหายร่วม 700 ล้าน!
เวียนมาบรรจบอีกครั้งสำหรับวันครบรอบเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อ 25 ต.ค.2547 ซึ่งได้กลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในห้วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา เพราะผลของมันทำให้มีผู้เสียชีวิตมากมายถึง 85 คน
เรื่องคดีความจะว่าไปก็จบไปเกือบหมดแล้ว แม้จะยัง "ไม่ถึงที่สุด" อย่างเด็ดขาดในบางคดี เช่น คดีการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมจำนวน 78 ราย ระหว่างเคลื่อนย้ายด้วยการถอดเสื้อมัดมือไพล่หลัง นอนเรียงซ้อนทับกันบนรถบรรทุกของทหาร เพื่อนำตัวไปสอบปากคำยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี (คดีที่ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งในสำนวนชันสูตรพลิกศพ หรือไต่สวนการตายว่า ตายเพราะขาดอากาศหายใจ) ซึ่งแม้มีข่าวอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้ตัดสิทธิผู้เสียหายยื่นฟ้องคดีเอง
ส่วนคดีแพ่งที่ครอบครัวผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐเพื่อเรียกค่าเสียหาย กับคดีอาญาที่รัฐเป็นโจทก์ยื่นฟ้องแกนนำผู้ชุมนุมจำนวน 58 คนในข้อหาปลุกปั่นยั่วยุให้เกิดความวุ่นวายนั้น ต้องถือว่าจบไปแล้ว เนื่องจากรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีนโยบายให้อัยการถอนฟ้องคดี ขณะที่กองทัพบกก็ยินยอมจ่ายค่าเสียหายทางแพ่งจำนวน 42 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขว่าญาติผู้เสียหายต้องถอนฟ้อง และไม่สามารถรื้อฟื้นคดีขึ้นมาได้อีก (เฉพาะคดีแพ่ง)
ด้วยเหตุนี้ความคืบหน้าในช่วงปีหลังๆ ที่เกี่ยวกับเหยื่อเหตุการณ์ตากใบและครอบครัว จึงเป็นเรื่องของการช่วยเหลือเยียวยาทางการเงินและจิตใจ โดยเฉพาะจากนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ภายใต้การผลักดันของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นด้านหลัก
การช่วยเหลือเยียวยาดำเนินไปอย่างครอบคลุมมากที่สุดตั้งแต่เกิดเหตุการณ์มาเมื่อ 9 ปีที่แล้ว แม้จะไม่ครบถ้วนทุกคน ทุกครอบครัวก็ตาม...
เปิดตัวเลขเยียวยาเหยื่อตากใบ 641 ล้าน
ตัวเลขเงินเยียวยากรณีตากใบในภาพรวมที่รัฐบาลจ่ายไปแล้ว เป็นเงินทั้งสิ้น 641,451,200 บาท ทั้งนี้ไม่นับรวมค่าเสียหายทางแพ่งที่กองทัพบกจ่ายในคดีแพ่ง และไม่นับรวมถึงเงินเยียวยาเบื้องต้นหลังเกิดเหตุที่มีจ่ายกันประปราย
ในจำนวนเงินเยียวยา 641,451,200 บาท แยกเป็น
- ผู้เสียชีวิต 85 ราย เป็นเงิน 561,101,000 บาท
- ผู้ได้รับบาดเจ็บ 51 ราย จ่ายไปแล้ว 49 ราย เป็นเงิน 60,455,000 บาท โดยผู้ที่ยังตกหล่นอีก 2 คน คือ นายเจะลาซิ ทวีศักดิ์ กับ นายวัรตี มูซอ ไม่สามารถติดต่อได้ และเจ้าตัวไม่มาแสดงตน
- ทุพพลภาพ 1 ราย เป็นเงิน 6,380,000 บาท
- ผู้ที่ถูกรัฐดำเนินคดีแล้วอัยการถอนฟ้อง 58 ราย เป็นเงิน 2,025,200 บาท
- ผู้ที่ถูกควบคุมตัวแต่ไม่ถูกดำเนินคดี 1,280 ราย จ่ายไปแล้ว 766 ราย เป็นเงิน 11,490,000 บาท ส่วนที่เหลือ ไม่ได้มาแสดงตน
จากยอดรวมของเงินเยียวยา 641,451,200 บาท ซึ่งยังจ่ายไม่ครบเสียทีเดียว หากนำไปรวมกับค่าเสียหายทางแพ่งที่กองทัพบกจ่ายไปแล้ว 42 ล้านบาทเมื่อราวปี 2550 และเงินเยียวยาเบื้องต้นหลังเกิดเหตุอีกจำนวนหนึ่ง ย่อมเท่ากับว่าตลอด 9 ปีหลังเกิดเหตุการณ์ตากใบ รัฐต้องจ่ายค่าเสียหายเป็นตัวเงินไปแล้วทั้งสิ้นราว 700 ล้านบาท!
ทั้งนี้ ยังไม่นับมูลค่าความสูญเสียทางจิตใจของครอบครัวผู้เสียชีวิต ทุพพลภาพ และได้รับบาดเจ็บซึ่งประเมินค่ามิได้ ทั้งยังไม่รวมถึงความสูญเสียด้านภาพลักษณ์ของประเทศ และการสูญสิ้นศรัทธาที่มีต่อรัฐไทยของประชาชนกลุ่มใหญ่ กระทั่งถูกกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนนำไปใช้เป็นเงื่อนไขขยายมวลชนและก่อความรุนแรงต่อเนื่องมา จนกลายเป็นความเสียหายที่ยังไม่หยุดยั้งและยังไม่จบสิ้น
เกิดอะไรขึ้นที่ตากใบ...
อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ตากใบเมื่อ 9 ปีที่แล้ว เกิดขึ้นในเดือนรอมฎอน ซึ่งตรงกับวันที่ 25 ต.ค.2547 เรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดต่อเนื่องมาคือการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐจนทำให้มีประชาชนเสียชีวิตมากถึง 85 ราย แม้จะไม่ผิด แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงเพียงท่อนเดียวเท่านั้น เพราะในเหตุการณ์วันนั้นยังมีเรื่องราวอื่นๆ ประกอบอีกเป็นจำนวนมาก
เหตุการณ์จริงเริ่มจากมีกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งชาย หญิง และเด็กจำนวนไม่มากนักรวมตัวกันที่หน้า สภ.ตากใบ เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) บ้านโคกกูแว หมู่ 5 ต.พร่อน อ.ตากใบ จำนวน 6 คน ซึ่งถูกควบคุมตัวในคดียักยอกทรัพย์และแจ้งความเท็จ หลังจากปืนลูกซองยาวของทางราชการที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแลสูญหายไป
ช่วงนั้นมีเหตุคนร้ายบุกปล้นอาวุธปืนตามบ้านผู้นำท้องถิ่นและ ชรบ. ได้ปืนไปเป็นกอบเป็นกำ โดยทำกันง่ายๆ แค่สวมหมวกไอ้โม่งบุกเข้าไปตอนกลางคืนก็ได้ปืนไปทุกครั้ง ทำให้บางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการ "สมรู้ร่วมคิด" หรือ "สมยอม" กันระหว่าง "ผู้ปล้น" กับ "ผู้ถูกปล้น" หรือไม่ จนกระทรวงมหาดไทยต้องคาดโทษว่า หากผู้นำท้องถิ่นหรือ ชรบ.คนใดถูกปล้นปืนไปอีกอย่างไม่สมควรแก่เหตุ จักต้องถูกดำเนินคดีในข้อหา "ยักยอกทรัพย์ของทางราชการ" เพราะถือว่ารู้เห็นกับกลุ่มโจร
และ ชรบ. 6 คนที่ตากใบก็ถูกจับกุมด้วยเหตุนี้...
วันนั้นจากเช้าจนถึงบ่าย มีจำนวนผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้นจากหลักร้อยเป็นหลักพันและหลายพันคน ช่วงแรกมีความพยายามเจรจาต่อรองเพื่อให้สลายการชุมนุม มีการเดินเรื่องประกันตัว ชรบ.ทั้ง 6 คนออกมา และให้ผู้นำท้องถิ่นขึ้นพูดทำความเข้าใจกับผู้ชุมนุม แต่การชุมนุมกลับไม่สงบลง แถมยังส่อเค้ารุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้ฝ่ายรัฐมองอย่างไม่ไว้ใจว่าน่าจะเป็นการชุมนุมที่เกิดจากการ "จัดตั้ง" และหวังให้เกิดสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงตามมา
ฝ่ายรัฐประเมินว่าแกนนำที่ปลุกปั่นการชุมนุมมีประมาณ 100 คน จึงคิดจับกุมเพื่อแยกแกนนำออกจากผู้ชุมนุม เพื่อให้ผู้ร่วมชุมนุมส่วนใหญ่ซึ่งไม่ได้ต้องการให้เกิดความรุนแรงหรือแค่มาดู ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ได้แยกย้ายกันกลับบ้าน
ทว่าแกนนำได้กระจายตัวอยู่ในหมู่ผู้ชุมนุม ทำให้ยากต่อการแยกแยะ สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ จนมีเสียงคล้ายปืนดังขึ้น 1 ครั้ง จากนั้นจึงมีการใช้อาวุธ แก๊สน้ำตา ฉีดน้ำ และเจ้าหน้าที่ได้ระดมกำลังทหารตำรวจเข้าปิดล้อมกวาดจับผู้ชุมนุมผู้ชายได้จำนวนมาก เบื้องต้นมีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุจากการใช้อาวุธ 6 ราย และไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลอีก 1 ราย
ต่อมามีการสั่งให้ผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุม ถอดเสื้อ นอนคว่ำหน้า แล้วนำเสื้อไปมัดมือไพล่หลัง และลำเลียงขึ้นรถยีเอ็มซีโดยการนำไปเรียงซ้อนกัน 2-4 ชั้น เพื่อนำไปสอบปากคำและคัดแยกที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ห่างจาก อ.ตากใบ จุดเกิดเหตุกว่า 150 กิโลเมตร
การเดินทางที่ใช้เวลานานกว่า 5 ชั่วโมง ประกอบกับความอ่อนเพลียเนื่องจากอยู่ในช่วงถือศีลอด ทำให้มีผู้เสียชีวิตระหว่างการถูกควบคุมตัวบนรถจีเอ็มซีถึง 78 ราย ส่วนที่รอดชีวิตมาได้จำนวนไม่น้อยก็พิการ แขนขาไม่มีแรง
ตากใบในวันฟ้าครึ้ม...
ก่อนจะถึงวันครบรอบ 9 ปีเหตุการณ์ตากใบเพียงไม่กี่วัน "ทีมข่าวอิศรา" ไปเยือนโรงพักตากใบอีกครั้ง วันนั้นฟ้าครึ้ม หยาดฝนใกล้ร่วงหล่นลงจากฟากฟ้าเต็มที...
ลานกว้างหน้าโรงพัก และบริเวณสนามเด็กเล่นกับศาลาริมแม่น้ำ ไม่น่าเชื่อว่าจะจุผู้คนได้มากกว่า 1 พันคน สิ่งก่อสร้างทุกอย่างยังอยู่เหมือนเดิม ทว่ารกร้างและรุงรังกว่าเดิม เหมือนไม่มีคนใส่ใจดูแล
ด้านหน้าโรงพักเดิม ซึ่งติดกับถนนเลียบแม่น้ำ ฝั่งตรงข้ามเป็นศาลาและสนามเด็กเล่นนั้น วันนี้ประตูถูกปิดตาย แม้ป้ายบอกชื่อโรงพักจะยังคงอยู่ก็ตาม กำแพงด้านนี้ถูกพันด้วยลวดหนาม มีเถาวัลย์เลาะเลี้ยวเกี่ยวเกาะ ขณะที่ลานกว้างด้านในซึ่งเคยเป็นที่ชุมนุม มีร่องรอยของการก่อสร้างอาคารใหม่คาอยู่ แต่อยู่ในขั้นเพิ่งทำฐานรากเท่านั้น พื้นที่ส่วนอื่นๆ กลายเป็นที่เก็บรถของกลาง แต่เหมือนเป็นการจอดทิ้งมากกว่าจอดรอคดีจบ
สำหรับด้านหน้าโรงพักในปัจจุบัน เป็นด้านที่ติดกับถนนอีกเส้นหนึ่งที่แยกจากถนนเลียบแม่น้ำ อาคารมีร่องรอยเหมือนทาสีใหม่ และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติงานอยู่บนโรงพักตามปกติ หลายคนกำลังสาละวนกับการเก็บของ เพราะฝนใกล้ตกเต็มที
บริเวณศาลาฝั่งตรงข้ามด้านหน้าโรงพักเดิม วันนี้เป็นสถานที่หย่อนใจสำหรับกลุ่มวัยรุ่น เด็กหนุ่มคนหนึ่งเล่าว่า ตอนเกิดเหตุการณ์ตากใบเขาเรียนอยู่ชั้น ป.4 ไม่ได้มาดูเหตุการณ์เพราะแม่ไม่ให้มา แต่ก็รับรู้เหตุการณ์บางส่วนจากที่เพื่อนๆ บางคนเล่า เพราะในวันนั้นก็มีเพื่อนและรุ่นพี่หลายคนมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น
"นานๆ ครั้งคนที่อยู่ในเหตุการณ์บางคนก็จะมานั่งที่นี่ เหมือนมารำลึกความหลัง ส่วนผมไม่ได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ ก็มาพักผ่อนตามปกติหลังเลิกเรียน พอค่ำๆ ก็กลับบ้าน"
ที่สนามเด็กเล่น อับดุลฮากิม ฮูเซ็ง วัย 10 ขวบ กำลังเล่นปีนป่ายอย่างสนุกสนานอยู่กับเพื่อนๆ หนูน้อยเล่าให้ฟังว่า บ้านอยู่แถวๆ เทศบาล ห่างจากจุดเกิดเหตุไม่มาก ทุกๆ วันจะมาวิ่งเล่นอยู่แถวนี้ ส่วนบริเวณศาลา พวกวัยรุ่นมักพาแฟนมานั่งดูแม่น้ำ
"ตอนเกิดเหตุผมยังเด็กอยู่ แต่ก็พอรู้เรื่องว่ามีอะไรเกิดขึ้นเพราะแม่เล่าให้ฟัง นอกจากที่แม่เล่า ผมยังเห็นร่องรอยกระสุนที่เสาศาลา ตอนแรกก็ไม่รู้ แต่ตอนหลังมีคนบอกว่าเป็นรอยกระสุนในวันเกิดเหตุ คิดว่าดีนะที่มีรอยกระสุนหลงเหลืออยู่ เพราะคนอื่นๆ และเด็กอย่างผมจะได้จดจำ ไม่ลืม"
อับดุลฮากิม บอกด้วยว่า แม่เล่าว่าหลังเกิดเหตุการณ์ พื้นที่แถวนี้ก็ไม่ได้ถูกพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นเลย อย่างโรงพักตากใบ เมื่อก่อนประตูที่ถูกปิดอยู่ทุกวันนี้ ชาวบ้านสามารถเดินเข้าออกได้ แต่ตอนหลังมีการสร้างโรงพักใหม่ ประตูฝั่งนี้ก็เลยถูกปิดตาย ชาวบ้านเดินผ่านไม่ได้อีกเลย
ฝันร้ายที่ไม่เคยลืม...
สำหรับคนที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์จริงอย่าง ยูวารีเยาะ มีนา อายุ 45 ปี มุมมองและความรู้สึกของเธอย่อมต่างออกไป เธอเล่าว่าไปร่วมดูเหตุการณ์ในวันนั้นเหมือนกัน แต่ไม่ได้ไปพร้อมกับ มะรีกา บินอูมา ผู้เป็นสามี เพราะสามีออกจากบ้านไปก่อน เธอรู้ทีหลังจึงตามไป
"เมื่อไปถึงก็เจอคนเยอะมาก เหมือนกำลังทำอะไรสักอย่าง จึงเข้าไปดูใกล้ๆ จากนั้นก็กลับออกมาไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ปิดเส้นทางเข้าออกทั้งหมด พยายามจะคลานออกเพราะเป็นห่วงลูกในท้อง ตอนนั้นตัวเองท้องได้ 3 เดือน แต่ก็ไปไม่ได้ กระทั่งสุดท้ายเจ้าหน้าที่ถึงปล่อยให้ผู้หญิงกลับบ้าน และเห็นเขานำตัวพวกผู้ชายขึ้นรถ"
"เหตุการณ์ผ่านมาเกือบ 10 ปี แต่เหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน ไม่เคยลืม อยากจะลืมแต่ก็ลืมไม่ลง ตอนนั้นท้องได้ 3 เดือน แม้ตัวเองไม่ได้ถูกจับขึ้นบนรถ แต่ตอนเกิดเหตุก็พยายามคลานเพื่อลอดรั้วหนี แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะประตูทุกด้านถูกปิดหมด มีผู้หญิงและเด็กประมาณ 50 กว่าคน เจ้าหน้าที่แยกผู้หญิงและเด็กออกมาอยู่อีกที่หนึ่ง จน 2 ทุ่มกว่าเจ้าหน้าที่จึงนำพวกเราขึ้นรถไปส่งที่บ้าน"
"ตอนนั้นคิดว่าแฟนซึ่งเข้าไปร่วมดูเขาชุมนุมด้วยต้องตายแน่ๆ เนื่องจากในสถานที่ชุมนุมมีเสียงปืนดังขึ้นเป็นชุดๆ หลายระลอกมาก ก๊ะ (สรรพนามแทนตัวเอง แปลว่าพี่) นั่งรออาแบ (สามี) ทั้งคืน แต่ก็ไม่เห็นกลับ ตอนเช้าญาติและเพื่อนบ้านช่วยกันออกไปหาว่าเขาอยู่ที่ไหน ก็ได้ข่าวว่าเจ้าหน้าที่พาคนที่ชุมนุมทั้งหมดไปที่ค่ายอิงคยุทธฯ บ่อทอง (อ.หนองจิก จ.ปัตตานี) เราก็เดินทางไปหาว่าอาแบอยู่ไหน ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เมื่อไปสอบถามเจ้าหน้าที่จึงได้คำตอบว่าอาแบยังมีชีวิตอยู่ แต่ก็ไม่รู้ว่าเขาพาอาแบไปอยู่เรือนจำไหน ไปถามที่เรือนจำจังหวัดปัตตานี เรือนจำจังหวัดยะลาก็ไม่มี กระทั่งมาพบว่าอาแบอยู่ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส ก็สบายใจขึ้นมาหน่อยเมื่อรู้ว่าเขายังมีชีวิตอยู่ สามีถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ 16 วัน ถึงได้ประกันตัวออกมาสู้คดี ต้องสู้ถึง 2 ปีจึงจะจบ"
ยูวารีเยาะ ย้ำว่า ถึงแม้เหตุการณ์จะผ่านมา 9 ปีเต็ม แต่ก็ไม่เคยลืม ถือเป็นฝันร้ายที่สุดในชีวิต และอยากให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนกับเจ้าหน้าที่ว่า ทำอะไรต้องวิเคราะห์ให้ละเอียด เพราะเมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้วมันเรียกย้อนกลับมาไม่ได้ และความเจ็บปวดทั้งหมดก็ตกอยู่กับชาวบ้าน
ดูเหมือนท้องฟ้าที่ตากใบ จะไม่ได้มืดครึ้มเพราะเมฆฝนแต่เพียงอย่างเดียว...
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยาภาพ :
1 ป้ายเก่าของโรงพัก สภ.ตากใบ
2 ประตูโรงพักที่เคยเปิด วันนี้ถูกปิดตาย
3 สนามเด็กเล่นตรงข้ามโรงพักด้านที่ติดกับแม่น้ำ
4 อับดุลฮากิม (เสื้อสีน้ำเงิน)
5 รอยกระสุนที่เสาศาลาตามคำบอกเล่าของอับดุลฮากิม