ถอดบทเรียน"หนึ่งปีแท็บเล็ต"ชายแดนใต้... ป.1ยังเด็กไป - ไร้เนื้อหาสอดคล้องท้องถิ่น
ผ่านมาแล้วกว่า 1 ปีกับนโยบาย One Tablet per Child หรือโครงการแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (ป.1) ทั่วประเทศ ต้องบอกว่ามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลากหลาย ทั้งสนับสนุนและคัดค้าน รวมทั้งติเพื่อก่อ
รัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายเอาไว้ตั้งแต่เข้ารับหน้าที่ (23 ส.ค.2554) ว่าจะจัดหาเครื่องแท็บเล็ตพีซี (Tablet PC) ให้แก่โรงเรียน โดยเริ่มทดลองดำเนินการในโรงเรียนนำร่องสำหรับระดับชั้น ป.1 ปีการศึกษา พ.ศ.2555 ควบคู่กับการเร่งพัฒนาเนื้อหาที่เหมาะสมตามหลักสูตรบรรจุลงในแท็บเล็ตพีซี รวมทั้งจัดทำระบบอินเทอร์เน็ตไร้สายตามมาตรฐานการให้บริการในสถานศึกษาที่กำหนด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
"แท็บเล็ต" คือเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา ขนาดเล็กกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค แต่ใหญ่กว่าสมาร์ทโฟน เป็นระบบไร้สาย คือไม่ต้องเสียบสายในการเชื่อมต่อกับเครือข่าย สามารถสั่งงานทางหน้าจอได้เพียงนิ้วสัมผัส และใช้ทำงานร่วมกับเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือไอที โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องสถานที่และเวลา
แม้รัฐบาลจะตั้งใจแจกแท็บเล็ตให้กับเด็กๆ ตั้งแต่ต้นปีการศึกษา โดยเริ่มในปีการศึกษา 2555 ดังกล่าว แต่ก็ติดปัญหาเรื่องการประมูลจัดซื้อและการจัดส่งสินค้า ทำให้กว่าแท็บเล็ตจะเดินทางถึงมือเด็กๆ ได้ก็เป็นช่วงที่เปิดเทอมไปแล้วหลายเดือน ส่วนใหญ่กว่าจะใช้ได้เต็มรูปแบบก็เป็นภาคการศึกษาที่ 2
ปีนี้ก็เช่นกัน แม้รัฐบาลจะขยายโครงการให้แจกแท็บเล็ตแก่เด็ก ป.1 ในปีการศึกษา 2556 และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (ม.1) ด้วย ส่วนแท็บเล็ตที่แจกไปแล้วเมื่อปีการศึกษาที่แล้ว ก็ให้ตามติดตัวเด็กไปใช้ต่อในชั้น ป.2 แต่จนถึงขณะนี้จบภาคการศึกษาที่ 1 ไปแล้ว แท็บเล็ตล็อตใหม่ก็ยังไม่ถึงมือนักเรียน เนื่องจากโครงการจัดซื้อมีปัญหาซ้ำอีก ประกอบกับมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงมีการสั่งให้ทบทวน
ณ นาทีนี้จึงมีเด็กเพียงรุ่นเดียวที่ได้ใช้แท็บเล็ต และใช้ผ่านมาแล้ว 1 ปีการศึกษา จึงน่าจะมาถอดบทเรียนกันดูว่า การใช้แท็บเล็ตของเด็กๆ เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาอย่างไรบ้าง
ที่ผ่านมาแม้จะมีการประเมินผลการใช้แท็บเล็ตของเด็กๆ ในภาพรวมโดยสถาบันที่ได้รับมอบหมายไปบ้าง เช่น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หรือสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เป็นต้น แต่เนื่องจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จัดเป็นพื้นที่พิเศษที่เด็กๆ ไม่ได้สื่อสารภาษาไทยเป็นภาษาหลักเหมือนเด็กภาคอื่น อีกทั้งยังมีอัตลักษณ์พิเศษด้านศาสนาและวัฒนธรรม "ทีมข่าวอิศรา" จึงลงพื้นที่สำรวจโรงเรียนต่างๆ เพื่อติดตามดูผลสัมฤทธิ์ของการใช้แท็บเล็ตประกอบการเรียนการสอน
อบรมเข้ม "ครู" ก่อนใช้แท็บเล็ต
หากสอบถามเด็กๆ แน่นอนว่าต้องตื่นเต้นดีใจกับ "เครื่องเล่นชิ้นใหม่" ที่มีสาระอยู่ข้างในชิ้นนี้ แต่หากฟังเสียงครูผู้สอน อาจมีมุมมองที่แตกต่างออกไป
ที่โรงเรียนบ้านปาเระ ต.บาราโหม อ.เมือง จ.ปัตตานี ตั้งอยู่ริมถนนสายปัตตานี-นราธิวาส ปีการศึกษาที่แล้วมีเด็กชั้น ป.1 จำนวน 26 คน ได้รับแท็บเล็ตจากรัฐบาล 26 เครื่อง ครูสุกานดา เหล็มปาน ครูประจำชั้น บอกว่า ความสนใจและการรับรู้ของเด็กแต่ละคนมีไม่เท่ากัน และนั่นคืออุปสรรคใหญ่ของการเรียนรู้และการใช้งานแท็บเล็ตประกอบการเรียนการสอน
"ก่อนได้รับแจกแท็บเล็ต ครูประจำชั้นในระดับ ป.1 ทุกคนต้องไปอบรมวิธีการใช้ การติดตั้ง และรูปแบบการสอนอย่างเข้มข้นครบวงจรเป็นเวลาหลายวัน แต่ก็เป็นเรื่องที่เรียนรู้ไม่ยาก พอมาสอนจริงกลับยากยิ่งกว่าในช่วงแรกๆ"
ครูสุกานดา เล่าว่า เด็กในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีพื้นฐานเรื่องคอมพิวเตอร์มาเลย จึงต้องเริ่มสอนตั้งแต่การเปิด-ปิดเครื่อง และต้องสอนอย่างละเอียดทีละคน ใช้เวลานานพอสมควรจึงจะทำได้ การรับรู้ของเด็กแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน บางคนเรียนรู้เร็ว บางคนไปเร็วกว่าที่ครูสอน แต่บางคนก็ตามไม่ทัน หาปุ่มไม่เจอ ก็ต้องสอนเฉพาะตัวให้
ไร้เนื้อหาสอดคล้องท้องถิ่น
ครูสุกานดา บอกต่อว่า ไม่ได้ใช้แท็บเล็ตประกอบการเรียนการสอนทุกชั่วโมง ทุกคาบ แต่จะสอนใน 5 รายวิชาหลัก คือ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และสังคม ควบคู่ไปกับเนื้อหาในหนังสือ แต่ปัญหาคือเนื้อหาสาระที่บรรจุมาเป็นเนื้อหาจากส่วนกลาง เมื่อใช้ในพื้นที่นี้ จึงใช้ประกอบได้เฉพาะกับหนังสือซึ่งเป็นเนื้อหาพื้นฐานที่ต้องใช้กันทุกโรงเรียนตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดมาเท่านั้น แต่ไม่มีเนื้อหาที่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นเลย
"เราอยากให้มีสาระเนื้อหาที่เหมาะสมกับเด็กท้องถิ่นด้วย แต่ก็คงเป็นเรื่องยาก เพราะต้องทำเรื่องไปยัง สพฐ.ให้ทำสาระวิชาใหม่ หากมีการระดมสมองกันตั้งแต่ก่อนเกิดโครงการนี้ ก็จะมีสาระวิชาที่เหมาะสมกับเด็กในแต่ละท้องถิ่น จะได้มีความรู้ควบคู่กับเรื่องของชุมชนผ่านซอฟท์แวร์ที่ทันสมัย และทำให้เด็กเข้าใจได้ง่ายขึ้นอีกด้วย เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวเขาจริงๆ"
ผู้ปกครองไม่กล้านำกลับบ้าน
ตามนโยบายของรัฐบาล ไม่ได้ห้ามหากเด็กๆ ต้องการนำแท็บเล็ตกลับไปใช้ต่อที่บ้าน แต่นั่นก็ต้องระวังเรื่องความเสียหายและสูญหาย ทางโรงเรียนต่างๆ จึงวางมาตรการว่า สามารถนำแท็บเล็ตกลับบ้านได้ หากผู้ปกครองยินดีรับผิดชอบถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้น
ที่โรงเรียนบ้านปาเระ ไม่มีผู้ปกครองรายใดให้ลูกๆ นำแท็บเล็ตกลับไปใช้ที่บ้านเลย...
"ส่วนใหญ่เด็กที่นี่จะอยู่กับตายายมากกว่าพ่อแม่ที่เข้าไปทำงานในมาเลเซีย ผู้สูงอายุจึงไม่สามารถแนะนำอะไรให้เด็กได้ นำกลับบ้านไปก็ไม่มีประโยชน์ เรื่องนี้คงขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่" ครูสุกานดา กล่าว
"ยอมรับว่าโครงการแจกแท็บเล็ตเป็นโครงการที่ดี ทำให้เด็กยากจนและด้อยโอกาสที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ที่บ้านได้เรียนรู้เท่าทันเพื่อน แต่ข้อจำกัดของแต่ละท้องถิ่นมีไม่เหมือนกัน"
แจก ป.4 น่าจะดีกว่า ป.1
ครูสุกานดา สรุปบทเรียนของตนเองจากการใช้แท็บเล็ตสอนเด็กๆ แบบ "ใช้จริง-เรียนจริง" ว่า หากให้เด็กระดับ ป.4 ถึง ป.6 ใช้จะมีประโยชน์มากกว่าเด็ก ป.1 เพราะมีความพร้อมทั้งวัยวุฒิและความรับผิดชอบมากกว่า
"การสอนเด็ก ป.1 เป็นเรื่องหนักและเครียดทุกวิชา อย่างครูมารับช่วงประจำชั้น ป.1 เมื่อตอนเปิดเทอม 2 ของปีการศึกษาที่แล้ว เพราะครูคนเดิมกำลังจะเกษียณ ก็ต้องใช้กลยุทธ์สารพัด เด็กบางคนไม่กล้าอ้าปากอ่าน การรับรู้ของเด็กไม่เท่ากัน ยิ่งกลับไปบ้านพ่อแม่ไม่สนใจอีกก็ยิ่งไปกันใหญ่ เด็กที่นี่จะอ่อนภาษาไทยและต้องเรียนอิสลามศึกษาแบบเข้ม ดูตารางเรียนแล้วเครียดแทนเด็กเหมือนกัน" ครูสุกานดา บอก
ส่วนที่โรงเรียนบ้านบางปู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ครูพรรณี จุฑานันท์ ครูประจำชั้นในระดับ ป.1 ที่รับหน้าที่ดูแลเด็กกว่า 20 คนจากเด็ก ป.1 ทั้งหมด 70 คน เล่าว่า แท็บเล็ตจะมีปัญหากับเด็กที่อ่านหนังสือไม่ออก เพราะเด็กจะเฉย เรียนรู้ช้า
"เวลาเรียนและใช้แท็บเล็ตของโรงเรียนบ้านบางปู จะต้องมีครู 2 คนช่วยกันสอน ทำหน้าที่ดูเนื้อหา 1 คน ส่วนอีกคนดูเรื่องการใช้แท็บเล็ต เด็กที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แท็บเล็ตไม่ได้ช่วยอะไร ส่วนเด็กที่เรียนรู้เร็ว ไปได้เร็ว ก็จะเบื่อที่ต้องรอเพื่อนที่ไปช้า เด็กที่ไปช้าก็จะมาสอนซ่อมเสริมให้เขา ช่วงแรกที่ใช้ก็ยาก เพราะเด็กที่นี่ส่วนใหญ่ไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ที่บ้าน ครูเองก็ไม่ได้รับแจก ผู้อำนวยการจึงให้ต่อโปรเจ็คเตอร์ทั้ง 3 ห้องของ ป.1 ไว้ใช้กับโน้ตบุ๊คและแท็บเล็ต เด็กจะได้เห็นวิธีใช้ในจอ ทำให้สะดวกมากขึ้น"
เด็กตื่นเต้น-ครูมีภาระเพิ่ม
ข้อดีของแท็บเล็ตในความเห็นของครูพรรณี คือ ทำให้เด็กอยากมาโรงเรียนทุกวัน เพราะถ้าใครไม่มาก็จะตามไม่ทันว่าครูสอนอะไรไปถึงไหนแล้ว และเพื่อนๆ จะบอกว่าเรียนโน่นเรียนนี่กันสนุก เด็กชอบและตื่นเต้นในวันที่ใช้แท็บเล็ต ซึ่งใช้แต่ละวิชาประมาณ 2 ชั่วโมง เป็นเวลาที่เหมาะกับช่วงความสนใจของเด็ก
"ถ้าจะให้เหมาะสมจริงๆ คิดว่าควรแจกแท็บเล็ตให้เด็ก ป.4 ถึง ป.6 ใช้มากกว่า เพราะเด็กระดับนั้นมีความรับผิดชอบ รู้จักรักษา และมีสมาธิจดจ่อมากกว่า ขณะที่ เด็ก ป.1 เหมาะกับการเรียนพื้นฐานการอ่านและการเขียน ให้เขาทำตรงนี้ให้ชำนาญแล้วการใช้แท็บเล็ตก็จะง่ายขึ้น"
"ตอนนี้ครูต้องรับภาระทั้งหมด เช้ามาก็ต้องชาร์จแบต สอนเสร็จต้องเก็บรักษา เพราะผู้อำนวยการเคยเรียกประชุมผู้ปกครองแล้วทุกคนเห็นพ้องกันว่าไม่ให้เอาแท็บเล็ตกลับบ้านด้วยหลายเหตุผล เช่น ระยะเวลาในการเดินทางไป-กลับบ้าน อาจจะเจอผู้ไม่หวังดี เพราะชุมชนบางปูมีประชากรหนาแน่น มีวัยรุ่นมั่วสุมเยอะ กลับไปถึงบ้านตอนเย็นเด็กก็ต้องเรียนอัลกุรอาน แล้วไปเรียนตาดีกาต่อที่มัสยิด กลับบ้าน 2-3 ทุ่ม การบ้านก็ต้องทำ จะเอาเวลาที่ไหนใช้ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็ไม่มีความรู้เรื่องนี้ ถ้าเอาไปแล้วเสียหายก็ต้องรับผิดชอบ ส่งซ่อมที่ศูนย์หาดใหญ่ก็นานเป็นเดือน เด็กคนนั้นก็จะไม่มีแท็บเล็ตใช้ เรียนไม่ทันเพื่อนอีก จึงตกลงกันว่าให้เก็บเครื่องไว้ที่โรงเรียนดีกว่า"
แม้การใช้แท็บเล็ตประกอบการเรียนการสอนจะก่อภาระมากมาย แต่ ครูพรรณี ก็ยังดีใจที่นโยบายนี้เปิดโอกาสให้เด็กด้อยโอกาสและยากจนได้เข้าถึงเทคโนโลยีเท่าเทียมกับเด็กที่มีความพร้อม
"การใช้แท็บเล็ตสามารถสร้างนิสัยดีๆ ให้กับเด็กได้ สอนให้เด็กรู้จักรักษาของของตนเอง ขณะที่ครูก็ต้องศึกษาหาความรู้ ใช้เทคโนโลยีให้เป็น เพื่อให้ทันสถานการณ์ และต้องทำให้ได้ด้วยตัวเอง สำคัญคือหากมีการระดมสมองคิดนำเสนอวิชาให้เหมาะกับเด็กในแต่ละภูมิภาค แต่ละท้องถิ่น โดยสอดแทรกเนื้อหาเข้าไปก่อนจัดทำสาระวิชาทั้งชุด คงจะดีไม่น้อยกับเด็กๆ ที่มีอัตลักษณ์และวัฒนธรรมที่แตกต่าง แต่ทุกวันนี้ครูต้องรับเรื่องทุกอย่างมาจากส่วนกลาง และทุกโรงเรียนต้องทำเหมือนกันหมด"
บทเรียนสุดท้ายของแทบทุกนโยบายจากภาครัฐที่ทำให้เกิดประโยชน์อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ คือ ต้องเลิกแนวคิดการตัดเสื้อโหลที่เชื่อเอาเองว่าทุกคนในประเทศนี้จะใส่ได้พอดี ไม่ขาดไม่เกิน แล้วหันมาการกระจายอำนาจ กระจายความรับผิดชอบ และสร้างการมีส่วนร่วมจากท้องถิ่นอย่างแท้จริง!
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 และ 4 เด็กๆ ที่โรงเรียนบ้านปาเระ
2 หนุ่มน้อยมุสลิมกำลังขะมักเขม้นกับการใช้แท็บเล็ต
3 ครูสุกานดา สอนนักเรียนโดยใช้แท็บเล็ตเป็นสื่อ