เช็คอุณหภูมิธุรกิจหนังไทยในเวทีโลก-อาเซียน กับ 3 กูรูแห่งวงการ
ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมหนังไทยในเวทีนานาชาตินั้นได้รับผลตอบรับที่ดี โดยเฉพาะเรื่องราวแนวแอคชั่นอย่าง ‘องค์บาก’ หรือ ‘ต้มยำกุ้ง’ ที่สร้างปรากฏการณ์สะกดชาวโลกให้หันกลับมาเหลียวมองธุรกิจบ้านเรา จนสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศมหาศาล แต่สำหรับบริบท ‘ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน:เออีซี’ ยังนึกไม่ออกว่าธุรกิจหนังจะมีทิศทางเช่นไร?
ซึ่งในเวทีเสวนา ‘การเปิดเสรีในอุตสาหกรรมหนัง และแนวโน้มความร่วมมือในธุรกิจหนังของกลุ่มประเทศอาเซียน’ ที่จัดขึ้น ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เราได้พบกับ 3 กูรูแห่งวงการผู้มากความสามารถที่จะมาไขความกระจ่าง...
ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้บริหาร บริษัท บาแรมยู จำกัด ในฐานะผู้กำกับหนังสร้างชื่อ องค์บาก-ต้มยำกุ้ง ที่ดังไกลถึงฮอลลิวูด เริ่มต้นบอกเล่าความสำเร็จของหนังแอคชั่นไทยว่า อดีตเจ้าแห่งศิลปะการต่อสู้ต้องยกให้ฮ่องกง แต่สังเกตว่าระยะหลังเริ่มเงียบ ๆ ไป เพราะคนดูรู้สึกว่าศิลปะดังกล่าวมิใช่ของแปลก แต่เมื่อ ‘องค์บาก’ เกิดขึ้น คนดูต่างชาติเห็นว่าศิลปะมวยไทยเป็นสิ่งแปลกใหม่ในตลาดโลก ประกอบกับเดิมกีฬามวยไทยเป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว จึงส่งผลให้หนังเรื่องนี้ก้าวไปไกลมาก
แต่อย่างไรก็ตาม หากไม่นับ ‘องค์บาก’ ที่โด่งดังไกลถึงฮอลลิวูด จะเห็นว่าหนังไทยเรื่องอื่นขายให้กับต่างชาติยากมาก หรือหากขายได้ก็จะถูกนำไปรีเมคใหม่ เช่น ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ จึงเกิดข้อสงสัย? เพราะเหตุใดต่างชาติจึงไม่นำหนังเวอร์ชั่นไทยไปฉายเลย
ซึ่งเมื่อลองกลับมาคิดก็เพราะ... ‘ทัศนคติ’ ที่มีต่อหนังไทยนั่นเอง ดังนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้ต้องย้อนกลับมาวิเคราะห์ว่า “ฮอลลิวูดรู้สึกอย่างไรกับหนังประเทศอื่น”
ญี่ปุ่น ถือเป็นประเทศที่ทำให้ทั่วโลกเกิดการยอมรับในด้านการพัฒนาเทคโนโลยี เพราะฉะนั้นในหนังฮอลลิวูด ตัวละครญี่ปุ่นจึงมักได้รับบทบาทไม่พ้นนักธุรกิจ หรือบางทีก็เป็นโจรยากูซ่า ต้องขอบอกว่าการเป็นโจรมิใช่เรื่องง่าย หากบารมีไม่ถึงจริงก็เป็นไม่ได้ เช่น หนังเรื่องหนึ่งมีแบรดพิตต์เป็นพระเอก ดังนั้นหากปล่อยให้มีโจรที่บารมีไม่ถึง ข่มพระเอกไม่ได้ คนดูจะไม่เชื่อ
ฮ่องกง เป็นประเทศเล็ก ๆ แต่กลับผลิตหนังฉายทั่วโลกมากมาย สามารถให้ความรู้สึกว่าเป็นจีนได้ด้วย ส่งผลให้นักแสดงฮ่องกงได้รับบทบาทสำคัญในฮอลลิวูด เช่น โจว เหวิน ฟะ เล่นเป็นโจรใน ‘ไพเรทส์ ออฟ เดอะ แคริบเบียน ที่สำคัญ นักแสดงฮ่องกงยังเคยสวมบทบาทกษัตริย์ไทยใน ‘แอนนา แอนด์ เดอะ คิง’ จึงแปลกใจว่าเพราะอะไรจึงไม่นำคนไทยมาเล่นเอง
ตะวันออกกลาง นับเป็นไม้เบื่อไม้เมากับสหรัฐฯ ดังนั้นค่ายหนังฮอลลิวูดส่วนใหญ่จึงมีทัศนคติต่อนักแสดงประเทศเหล่านี้ให้สวมบทบาทเป็นผู้ก่อการร้าย วางระเบิดเมือง คาร์บอม
เม็กซิโก เป็นประเทศยากจน ทำให้หนังหลายเรื่องปรากฏตัวละครชาวเม็กซิกันแอบลักลอบเข้าประเทศ ขายยาเสพติด ขายตัว เล่นคุณไสยเวทมนตร์
อินเดีย มีความสามารถโดดเด่นด้านคอมพิวเตอร์ ทำให้เมื่อมีฉากห้องทดลองหรือห้องปฏิบัติการต่าง ๆ จะพบนักแสดงอินเดียอยู่ในเรื่องด้วย
แต่เมื่อย้อนกลับมาที่ ‘ไทย’ เชื่อหรือไม่? ผมหาไม่เจอคนไทยที่เคยรับบทบาทสำคัญในหนังฮอลลิวูด ทั้งนี้ไม่นับรวมหนังที่มาถ่ายทำบ้านเรา เพราะมีทัศนคติไม่เชื่อในศักยภาพของนักแสดงไทย เช่น ให้คนไทยรับบทเป็นตำรวจอนาคต...เขาจะบอกเราว่าเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะคนดูไม่เชื่อ
บทบาทพระเจ้า...เขาจะบอกเราว่าโม้เกินไป
บทบาทประธานาธิบดีสหรัฐฯ...เขาจะบอกเราว่าโอ้โห! คุณจะทำให้หนังเจ๊งเลยหรือ?
บทบาทกัปตันยานอวกาศ...เขาจะบอกเราว่าคนไทยขับยานอวกาศเป็นหรือ?
บทบาท 1 ในกลุ่มฮีโร่...เขาจะบอกเราว่าฮีโร่ไม่ยอมรับเราหรอก เพราะเป็นคนไทย
หากเป็นดังกล่าวข้างต้นแล้ว ‘นิชคุณ’ นักร้องเกาหลีสัญชาติไทยจะสามารถสร้างชื่อเสียงในหนังฮอลลิวูดได้หรือไม่ ต้อขอบอกว่า หากรู้ว่านิชคุณเป็นคนไทยก็จะเกิดความรู้สึก แต่ถ้าบอกเป็นเกาหลีผมว่าขึ้นแท่นไปแล้ว
“ผมคิดไม่ถึงว่าในชีวิตจริงจะเป็นเช่นนี้ เมื่อหนังไทยไปฮอลลิวูดแล้วไม่มีคนดู ตราบใดที่ไทยยังไม่หากลวิธีในการสร้างความยอมรับไม่มีทางที่จะเสียเงินมาดูหนังไทย” ปรัชญา กล่าว และว่าบางคนอาจตกใจและโกรธฮอลลิวูด แต่ผมว่าไม่ต้องไปโกรธเขา เพราะนี่คือความจริง โดยเราลองหลับตานึกถึงประเทศที่ไทยไม่ยอมรับ แม้จะมีหนังดีที่สุดมาฉายในโรงหนังไทย ถามว่าคุณจะดูหรือไม่? หากดูก็มักมีกำแพงบางอย่างที่เรียกว่า ‘ทัศนคติ’ มาขวางกั้นเสมอ
ด้านเกรียงศักดิ์ ศิลากอง ผอ.เทศกาลหนังโลกแห่งกรุงเทพฯ กล่าวว่า คนไทยมักไม่ดูหนังในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย หรือแม้แต่หนังลาว ‘ฮักอำลำ’ ยังไม่มีคนไทยดู ทั้งที่สามารถเข้าใจภาษาลาวได้ ตนเองจึงเชื่อว่าหนังจะได้รับความสนใจนั้น ‘นายทุน’ ซึ่งเป็นผู้กำหนดทิศทางของหนังจะต้องเข้ามามีส่วนสำคัญมากในการขับเคลื่อน เรียกได้ว่านายทุนทำให้เกิดกระแสได้และมีคนดูได้
“แม้ ‘ฮักอำลำ’ จะมีเทคนิคการถ่ายทำที่ดี แต่เมื่อปรากฏภาษาเพื่อนบ้านในเรื่องจึงเป็นสาเหตุให้คนไทยไม่ชอบดู หากตรงกันข้ามคนลาวหรือประเทศอื่นในอาเซียนกลับดูหนังไทย โดยคนดูมาเลเซียจะชื่นชอบหนังผีไทยมาก เรียกว่าจำชื่อได้ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ซึ่งนายทุนจะมีบทบาทในการกำหนดว่าหนังเรื่องไหนจะมาแรง” ผอ.เทศกาลหนังโลกแห่งกรุงเทพฯ กล่าว
ขณะที่ภาณุ อารี ฝ่ายต่างประเทศ บริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มองว่าวัฒนธรรมการดูหนังเริ่มเปลี่ยนไป โดยในอดีตกลุ่มคนดูจะมีความหลากหลายมาก หลายคนเป็นแม่ค้า ชาวบ้านธรรมดา ๆ แต่เมื่อเข้าสู่ยุค 90 อุตสาหกรรมหนังเปลี่ยนไปเป็นมัลติเพล็กซ์ ส่งผลให้กลุ่มคนดูเปลี่ยนเป็น ‘วัยรุ่น’ ซึ่งเกิดขึ้นแทบทุกประเทศในอาเซียน และเป็นกำลังหลักในการตัดสินใจว่าหนังเรื่องไหนจะเกิดการยอมรับ
จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมหนังไทยจึงประสบความสำเร็จ เพราะเราถามวัยรุ่นซึ่งเป็นกลุ่มคนดูหลักในอุตสาหกรรม แน่นอนว่ายอมรับหนังไม่กี่รูปแบบ นั่นคือ หนังฮอลลิวูดกับหนังไทยที่มีจุดขายชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าหนังไทยค่อนข้างแข็งแกร่งในอาเซียน และมักกลายเป็นสัญลักษณ์ของหนังอาเซียนด้วยซ้ำ ถือเป็นข้อดีสำหรับบ้านเราที่จะนำเสนอหนังให้เป็นที่รู้จักแก่ต่างชาติ โดยไม่จำเป็นต้องให้กระทรวงวัฒนธรรมช่วยจัดโรดโชว์มากมาย
ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญที่จะพบเมื่อเข้าสู่อาเซียนคือหนังประเทศอื่นในภูมิภาคจะเข้ามาฉายในไทยได้ยาก เพราะคนดูไทยมีทัศนคติที่ไม่ดีกับหนังเหล่านั้น ถือเป็นความไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง
“เราเรียกร้องว่าจะสร้างตลาดหนังร่วมกันอย่างไร หรือสร้างวัฒนธรรมร่วมกันอย่างไร มันไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เคยเกิดขึ้นและหายไปแล้ว โดยโอกาสที่จะย้อนกลับไปมันยากขึ้น ถ้าตราบใดคนดูค่อย ๆ อายุน้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ไร้ประสิทธิภาพที่สุด เพราะหาเงินเองไม่ได้ แต่กลายเป็นกลุ่มที่กำหนดทิศทางหนังได้มากที่สุด ทำให้หนังอาเซียนหลายเรื่องถูกจำกัดเฉพาะกลุ่ม” ภาณุ กล่าว และว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดกลุ่มคนดูเพียงเท่านั้น เพราะการเกิดขึ้นของโรงหนังมัลติเพล็กซ์ที่เข้ามาทำลายกลุ่มคนดูชนชั้นแรงงาน แบ่งชนชั้น ดังนั้นหากมองโลกในแง่ร้าย ต่อให้ภูมิภาคอาเซียนรวมกันในอุตสาหกรรมหนังแล้ว คิดว่ายังคงเป็นเรื่องยากมากที่กลุ่มคนดูจะกระจายและยอมรับหนังที่มีความแตกต่างกันเช่นนี้ .