ย้อนรอยเหยี่ยวข่าวเหยื่อไฟใต้ กับคาถา "ระวังภัย" 3 จังหวัดชายแดน
"เสี่ยงทุกคน เจ้าหน้าที่ก็เสี่ยง นักข่าวก็เสี่ยง แต่ทุกคนต้องทำงานในหน้าที่" เป็นเสียงของ ปทิตตา หนูสันทัด เหยี่ยวข่าวสาวจากศูนย์ข่าวอิศราที่กลายเป็นเหยื่อระเบิดรายล่าสุดจากการติดตามเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด (อีโอดี) เข้าไปทำข่าวยังจุดเกิดเหตุระเบิดที่บ้านฮูลูปาเระ หมู่ 1 ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อวันเสาร์ที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา
ปทิตตา โดนระเบิดลูกที่ 2 ซึ่งคนร้ายวางดักเอาไว้ห่างจากระเบิดจุดแรกราวๆ 100 เมตร ทำให้เธอและเพื่อนนักข่าวอีก 4 คนได้รับบาดเจ็บ แม้อาการไม่ได้หนักหนา แต่ก็เป็นดั่งสัญญาณเตือนอีกครั้งหนึ่งว่า การปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น...อันตรายทุกวินาที!
ถึงจะอยู่ในห้วงพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น และทางการตีปี๊บว่าสถิติความรุนแรงมีแนวโน้มลดระดับลง แต่ก็ประมาทมิได้
เกือบ 1 ทศวรรษของสถานการณ์ไฟใต้ แน่นอนว่าครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ "นักข่าว" ต้องตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ทั้งๆ ที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งของฝ่ายไหนเลย ความสูญเสียมีทั้งระดับบาดเจ็บเล็กน้อย บาดเจ็บสาหัส และสังเวยชีวิต โดยเหตุการณ์สำคัญๆ ที่บันทึกไว้มีดังนี้
7 ต.ค.2548 คนร้ายปาระเบิดเข้าไปในร้านลาบแห่งหนึ่งใกล้กับโรงแรมอิมพีเรียลนราธิวาส อ.เมือง จ.นราธิวาส ทำให้ผู้สื่อข่าวและทีมงานของสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ซึ่งกำลังนั่งรับประทานอาหารกันอยู่ได้รับบาดเจ็บ โดยนักข่าวกลุ่มนี้เป็นทีมข่าวที่ติดตามทำข่าว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ลงไปปฏิบัติภารกิจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
2 ต.ค.2549 เกิดเหตุระเบิดขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบเหตุการณ์เผาตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ทำให้ผู้สื่อข่าวที่ติดตามทำข่าวได้รับบาดเจ็บ 2 ราย
16 ม.ค.2550 คนร้ายจุดชนวนระเบิดแสวงเครื่องที่ฝังไว้ใต้ผิวถนนในหมู่บ้าน ขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร เดินทางเข้าไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านบือเจาะ หมู่ 1 ต.บือเจาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ที่เพิ่งถูกคนร้ายวางเพลิงเผา โดยจุดเกิดระเบิดอยู่ห่างจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ ประมาณ 200 เมตร แรงระเบิดทำให้นักข่าวได้รับบาดเจ็บ 2 ราย คือ ณรงค์ นวลสกุล ผู้สื่อข่าวพิเศษประจำ จ.นราธิวาส ของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 กับ สัญฐิติ ขอจิตเมตต์ ผู้สื่อข่าวเครือเนชั่น ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่เพิ่งโดนระเบิดในเหตุการณ์ล่าสุดจนได้รับบาดเจ็บอีกครั้งเมื่อ 19 ต.ค.ที่ผ่านมาด้วย
22 พ.ค.2550 เกิดเหตุยิงกันบนถนนท่าสาป-ลำใหม่ บ้านปีซัด หมู่ 1 ต.ลำใหม่ อ.เมือง จ.ยะลา มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ระหว่างที่ตำรวจกำลังเก็บวัตถุพยานในที่เกิดเหตุโดยมีผู้สื่อข่าวติดตามทำข่าวนั้น ปรากฏว่าคนร้ายได้จุดชนวนระเบิดที่ฝังไว้ใต้ผิวถนนตรงจุดที่พบศพ ทำให้ตำรวจ อาสาสมัครกู้ภัย รวมทั้งนักข่าวได้รับบาดเจ็บรวม 12 คน
รายชื่อผู้บาดเจ็บเฉพาะนักข่าว ได้แก่ ไฉน ถมทอง ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ ททบ.5 และผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยประจำ จ.ยะลา สุรพันธ์ บุญถนอม ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ชาวใต้ และช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ รุ่งสุรีย์ กิตติกุลสวัสดิ์ ช่างภาพสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 ประจำ จ.ยะลา เอกรักษ์ ศรีรุ่ง ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ประจำ จ.ยะลา นอกจากนั้นยังมี นายฟิลิป เบลนคินซอพ ช่างภาพนิตยสารไทม์ ชาวออสเตรเลีย ซึ่งเป็นคนข่าวต่างประเทศรายแรกที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ไฟใต้ด้วย
17 ก.ค.2550 เกิดเหตุระเบิดที่หน้าร้านยะลาบุญศรี จำกัด ตั้งอยู่ริมถนนรถไฟ ในเขตเทศบาลนครยะลา โดยเป็นระเบิดที่คนร้ายวางไว้ในตะกร้าหน้ารถจักรยานยนต์ จอดทิ้งไว้ริมฟุตบาท หลังเกิดเหตุผู้สื่อข่าวได้เข้าไปรายงานข่าวตามปกติ จังหวะนั้นเองคนร้ายซึ่งคาดว่าแฝงตัวอยู่ใกล้กับจุดเกิดเหตุได้จุดชนวนระเบิดอีกลูกหนึ่งที่ซุกไว้ในรถจักรยานยนต์คันเดียวกัน จนเกิดระเบิดขึ้นอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ชุดอีโอดีได้รับบาดเจ็บทันที 4 นาย และมีผู้สื่อข่าวได้รับบาดเจ็บ 4 คน
คนข่าวที่ได้รับบาดเจ็บเที่ยวนั้น ได้แก่ นายมะรูดิง ตีโด ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 นายอะหมัด รามันศิริวงศ์ ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี (ในขณะนั้น ปัจจุบันส่งข่าวให้ศูนย์ข่าวอิศราด้วย) นายเอกรักษ์ ศรีรุ่ง ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 และ นายสุรพันธ์ บุญถนอม ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ชาวใต้ ซึ่ง 2 คนหลังเป็นการโดนรอบ 2
15 มี.ค.2551 เกิดระเบิด "คาร์บอมบ์" ที่หน้าโรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี แรงระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และได้รับบาดเจ็บอีกเกือบ 20 คน โดยหนึ่งในจำนวนนั้นมี ปาเรซ โลหะสัณห์ ผู้สื่อข่าวเครือเนชั่นประจำ จ.ปัตตานี รวมอยู่ด้วย
21 ส.ค.2551 เกิดระเบิด "คาร์บอมบ์" ที่หน้าร้านอาหารสีส้ม อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ซึ่ง "คาร์บอมบ์" ดังกล่าวเป็นระเบิดลูกที่ 2 (second bomb) ทำให้ ชาลี บุญสวัสดิ์ หรือ "ป๋าชาลี" ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเสียชีวิต นับเป็นนักข่าวคนแรกที่ต้องสังเวยชีวิตให้กับไฟใต้ นอกจากนั้นยังมี ผดุง วรรณลักษณ์ ผู้สื่อข่าวโมเดิร์นไนน์ทีวี (ช่อง 9) ได้รับบาดเจ็บสาหัส
16 ก.ย.2554 เกิดระเบิดที่ อ.สุไหงโก-ลก เช่นกัน ทำให้ ภมร ภรณ์พานิช เหยี่ยวข่าวรุ่นใหญ่จากหนังสือพิมพ์สื่อสมุทร ถูกไฟคลอกทั้งตัวจากระเบิดลูกที่ 2-3 อาการสาหัส หลังจากนั้นอีก 7 วัน เขาก็เสียชีวิต
และล่าสุด 19 ต.ค.2556 เกิดระเบิดลูกที่ 2 (second bomb) ที่ตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ทำให้ "คนข่าว" ได้รับบาดเจ็บไปอีก 5 ราย คือ กรียา โต๊ะตานี ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 มะดารี โต๊ะลาลา ช่างภาพและผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเอเอฟพี มูรนี มามะ ผู้ช่วยผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์สยามรัฐ สัญฐิติ ขอจิตต์เมตต์ และ ปทิตตา หนูสันทัด
ปทิตตา หนึ่งในเหยี่ยวข่าวที่ได้รับบาดเจ็บ บอกว่า สถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นมาร่วม 10 ปี ถึงวันนี้ทุกคน ทุกหน่วยรู้วิธีดูแลความปลอดภัยให้กับตนเอง แม้นักข่าวจะไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริงของคนร้ายก็ตาม เช่น หากเป็นการติดตามเจ้าหน้าที่เข้าไปทำข่าว ก็จะพยายามเลี่ยงไม่ใช้เส้นทางสายเดียวกันกับเจ้าหน้าที่ แต่หากเลี่ยงไม่ได้ ก็จะไม่เดินทางไปและกลับพร้อมกัน
"เจ้าหน้าที่เขาก็พยายามกั้นเขตอันตรายที่เป็นจุดเกิดเหตุเอาไว้ แต่คนร้ายก็ยังวางระเบิดลูกที่ 2-3 ดักทำร้าย มีทั้งวางห่างจากจุดแรกแค่ 2-3 ก้าว ไปจนถึง 10 เมตร 100 เมตร หรือเป็นกิโลฯ ทำให้ป้องกันยากจริงๆ เจ้าหน้าที่เขาก็เตือนตลอด เช่น อย่ายินริมถนน อย่ายืนใกล้กอหญ้า ถ้าเห็นอะไรผิดปกติอย่าเข้าไปใกล้ ให้อยู่บนเส้นขาวกลางถนนเท่านั้น ถ้ามีรถให้ยืนหลังรถหรือใช้รถบัง แต่ถ้าเป็นรถที่จอดอยู่ก่อนห้ามเข้าไปใกล้ เพราะอาจเป็นคาร์บอมบ์"
"อย่างเหตุระเบิดครั้งล่าสุดที่ทำให้ได้รับบาดเจ็บ ก็เห็นก้อนหินวางอยู่บนกอหญ้าตรงข้ามจุดที่คนร้ายวางระเบิดเอาไว้ ตอนแรกก็ไม่รู้ กำลังจะตะโกนถามเจ้าหน้าที่ก็ได้ยินเสียงดังตูมข้างหลังเสียก่อนจนตัวเองและพี่ๆ นักข่าวถูกแรงอัดของระเบิดล้มกันระเนระนาด เจ้าหน้าที่เล่าให้ฟังว่าเป็นการทำสัญลักษณ์ของคนร้ายเพื่อกำหนดจุดวางระเบิด เพราะการวางแต่ละครั้งเขาจะมีคนคอยสังเกตการทำงานของเจ้าหน้าที่ว่ากั้นพื้นที่ห่างเท่าไหร่ ใช้เวลามากน้อยแค่ไหนกว่าจะเข้าถึงจุดเกิดเหตุ อย่างระเบิดลูกที่ 2 ครั้งนี้ เป็นการจุดระเบิดด้วยการตั้งเวลา ซึ่งคนร้ายคำนวณเวลาไว้หมดแล้ว และอุปกรณ์ตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือหรือวิทยุสื่อสารก็ช่วยอะไรไม่ได้เลย" ปทิตตา บอก
แม้สุดท้าย ปทิตตา จะเรียกร้องให้สมาคมวิชาชีพสื่อให้ความสำคัญกับการอบรมวิธีการรายงานข่าวในสถานการณ์ความไม่สงบ และสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันตนเองเพื่อความปลอดภัย เช่น เสื้อเกราะอ่อน และหมวกกันน็อค แต่ถึงที่สุดแล้วคงหนีไม่พ้นการระแวดระวัง สังเกตสังกา และไม่ประมาทแม้แต่วินาทีเดียว ดังเช่นบทกลอนที่ ร.อ.นพดล เตชะ จากหน่วยเฉพาะกิจยะลา 16 เคยแต่งเอาไว้เตือนใจเพื่อนทหาร เมื่อครั้งปฏิบัติหน้าที่ชายแดนใต้เมื่อเดือน ก.พ.2555
บทกลอนชิ้นนี้ชื่อว่า "ข้อคิดในการลาดตระเวนเส้นทาง" ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือ "ก้าวไปข้างหน้ากับการ ปปส." (ป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ) หลักสูตรการพัฒนาองค์ความรู้การก่อการร้ายและการก่อความไม่สงบสำหรับผู้บริหาร ส่วนวิชาการปฏิบัติการพิเศษ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ซึ่ง "คนข่าว" สามารถนำไปปรับใช้เป็นเครื่องเตือนสติได้เหมือนกัน...
ตรวจดูไหล่ทาง ระยะห่าง 50 เมตร
สังเกตสายไฟ มั่นใจแล้วจึงผ่าน
หัวท้ายสะพาน อีกย่านชุมชน
ถนนขรุขระ รอยปะสับสน
หลักลายแยบยล ดูจนแน่ใจ
ท่อลอดสองข้าง มีของวางใส่
ขุดเจาะเสาไฟ จำไว้ให้ดี
ตามจุดเส้นทาง ของวางใช่ที่
เนินสูงที่มี โจมตีเราได้
ทางแยกยูเทิร์น อย่าเมินใส่ใจ
กระถางต้นไม้ กองทรายข้างทาง
ม้านั่งเพิงพัก มักอยู่ด้านข้าง
ถนนหนทาง ออกห่างจงดี
รถยนต์มอเตอร์ไซค์ จอดไว้ไม่ใช่ที่
ผิดสังเกตสิ้นดี หลีกหนีจะปลอดภัย
เดินแล้วเหนื่อยนัก อย่าพักใต้ไม้ใหญ่
ศาลาบรรลัย เข้าไปอันตราย
ต้องหมั่นสังเกต สิ่งบอกเหตุทั้งหลาย
ละทิ้งความสบาย ถึงที่หมายปลอดภัย
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 มะดารี โต๊ะลาลา กับกล้องถ่ายรูปคู่ใจ
2 ปทิตตา หนูสันทัด