สำรวจ“ร่างกม.ฉบับประชาชน”สภาฯ อันทรงเกียรติ ปัดตกไปแล้วกี่ฉบับ?
"..ที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐผูกขาดอำนาจในการออกกฎมายและมีแนวโน้มที่จะลำเอียง เข้าข้างกลุ่มที่มีอำนาจการต่อรองสูงในสังคม การให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย จึงเป็นการเปิดพื้นที่ ให้เสียงที่ไม่เคยมีใครฟัง ไม่มีคนได้ยิน.."
ในขณะที่รัฐสภายังคงวุ่นวายกับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่สังคมกำลังตั้งคำถามว่ามีการสอดไส้และเปลี่ยนแปลงหลักการเดิมเพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือพวกพ้องของตนให้พ้นผิดหรือไม่นั้น
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้ทำการสำรวจร่างกฎหมายในส่วนที่นำเสนอโดยประชาชน พบว่า ตลอดระยะเวลานับแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 มีการรับรองสิทธิของประชาชนในการเสนอร่างกฎหมาย กระทั่งรัฐธรรมนูญปี 2550 แก้ไขให้การเสนอร่างกฎหมายโดยประชาชนทำได้ง่ายขึ้น โดยแก้ไขจำนวนเข้าชื่อจากเดิม 50,000 คน เป็น 10,000 คนนั้น จนถึงวันนี้ มีร่างกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชนรวมทั้งสิ้น 85 ฉบับ
โดยข้อมูลจากรายงานประกอบการประชุมเวทีสาธารณะในหัวข้อ “บทเรียน 16 ปี สิทธิประชาธิปไตยทางตรงในการเข้าชื่อเสนอฎหมายของประชาชน” ที่คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม, คณะกรรมการปฎิรูปกฎหมาย ( คปก. ), มูลนิธิเอเชีย, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, สำนักประสานการพัฒนาเพื่อสังคมสุขภาวะ ( สปสพ.) และคณะนิคิศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกันจัดขึ้น
ได้ระบุถึงสถานภาพของร่างกฎหมายภาคประชาชนแต่ละฉบับหลังจากเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรไว้ว่าในจำนวนร่างกฎหมายฉบับประชาชนที่มีทั้งสิ้น 85 ฉบับนี้ ร่างกฎหมายที่ตกไป มีถึง 32 ฉบับ, ร่างกฎหมายที่รอลงมติในสภาผู้แทนราษฎร หลังผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมสองสภา มี 3 ฉบับ, ร่างกฎหมายที่บังคับใช้มีเพียง 5 ฉบับ และร่างกฎหมายที่อยู่ในกระบวนการของสภาผู้แทนราษฎรมีทั้งสิ้น 24 ฉบับ ส่วนร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่างการยกร่างและรวบรวมรายชื่อมี 20 ฉบับ
สำหรับร่างกฎหมายภาคประชาชนที่ตกไปทั้ง 32 ฉบับ ได้แก่
ร่าง พ.ร.บ. ป่าชุมชน พ.ศ. ….
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 28 ก.พ. 2542 ผู้เสนอคือ นายจรัล ขาสัก กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 52,698 คน
ร่าง พ.ร.บ. จัดตั้งจังหวัดภูเวียง
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 17 พ.ย. 2546 ผู้เสนอคือ นายประดิษฐ์พงษ์ แดงอ่อน กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 56,030 คน
ร่าง พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ….
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 27 พ.ค. 2547 ผู้เสนอคือ นายพลเดช ปิ่นประทีป กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 150,000 คน
ร่าง พ.ร.บ. วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 14 ก.ย. 2548 ผู้เสนอคือ นายไพฑูรย์ สมแก้ว กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 167,101 คน
ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการจดทะเบียนและซื้อขายหลักทรัพย์ของกิจการเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และบุหรี่ พ.ศ. ….
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 20 ก.ค.2548 ผู้เสนอคือ พลตรีจำลอง ศรีเมือง กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 63,455 คน
ร่าง พ.ร.บ. สภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. ….
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 25 ธ.ค. 2542 ผู้เสนอคือ นายพรม ติชาวัน กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 64,368 คน
ร่าง พ.ร.บ. ล้มละลาย ( ฉบับที่… ) พ.ศ. ….
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 6 ก.พ. 2546 ผู้เสนอคือ นายเชียรช่วง กัลยาณมิตร กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 136,913 คน
ร่าง พ.ร.บ. จัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ พ.ศ. ….
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 10 พ.ค. 2542 ผู้เสนอคือ นางอรพรรณ์ เมธาดิลกกุล กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 43,228 คน
ร่าง พรบ สภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. …..
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 9 มิ.ย.2542 ผู้เสนอคือ นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 25,366 คน
ร่าง พ.ร.บ. กองทุนหมู่บ้านแห่งชาติ พ.ศ. …..
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 8 ส.ค. 2542 ผู้เสนอคือ นายสุวิทย์ คุณกิตติ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 36,748 คน
ร่าง พ.ร.บ. ธนาคารหมู่บ้าน พ.ศ. …..
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 9 ต.ค.2543 ผู้เสนอคือ นายเงิน ไชยศิวามงคล กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 9,831 คน
ร่าง พ.ร.บ. จัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ พ.ศ. …..
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 24 ก.ย. 2545 ผู้เสนอคือ นายสุวิทย์ นิคมภักดิ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 980 คน
ร่าง พ.ร.บ. จดแจ้งการผลิตและจำหน่ายเหล้าพื้นบ้าน ฉบับประชาชน พ.ศ. …..
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 14 ตุลาคม 2545 ผู้เสนอคือ นายอุดม สมประสงค์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 18,899 คน
ร่าง พ.ร.บ. จัดตั้งจังหวัดชุมแพ พ.ศ. …..
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 27 พ.ค. 2546 ผู้เสนอคือ นายชีวิน ชายชีวินลิขิต กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 3,205 คน
ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม ( ฉบับที่…)
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 25 ม.ค. 2555 ผู้เสนอคือ นายยอดเยี่ยม ศรีมันตะ
ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม ( ฉบับที่…)
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 1 ก.พ. 2555 ผู้เสนอคือ นายนิรันดร์ ด่านไพบูรณ์
ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. ….
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 28 ม.ค. 2554 ผู้เสนอคือ นายเกียรติยศ โรเจอร์
ร่าง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ( ฉบับที่…) พ.ศ. ….
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 6 มี.ค. 2555 ผู้เสนอคือ นายชาญ คำภิระแปง
ร่าง พ.ร.บ. เงินวิทยฐานะและเงิรประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ( ฉบับที่…) พ.ศ. ….
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 6 มี.ค. 2555 ผู้เสนอคือ นายชาญ คำภิระแปง
ร่าง พ.ร.บ. การจัดทำหนังสือสัญญา ระหว่างประเทศ พ.ศ. ….
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 18 มี.ค. 2552 ผู้เสนอคือ ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 10,378 คน
ร่าง พ.ร.บ. แก้ไข เพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา ( ฉบับที่…) พ.ศ. ….
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 29 พ.ค. 2555 ผู้เสนอคือ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ กับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน 30,383 คน
ร่าง พ.ร.บ. เงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. …
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 29 ต.ค. 2546 ผู้เสนอคือ นายถวิล น้อยเขียว กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 54,520 คน
ร่าง พ.ร.บ. สถาบันกำนันผู้ใหญ่บ้าน พ.ศ. ….
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 3 ต.ค. 2551 ผู้เสนอคือ นายสมศักดิ์ ไพศาลสัจธรรม กับประชาชนผู้มีสิทธเลือกตั้ง จำนวน 10,028 คน
ร่าง พ.ร.บ. กองทุนสินไหมทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. ….
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 2 เม.ย. 2554 ผู้เสนอคือ นางสาว กชนุช แสงแถลง กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 10,446 คน
ร่าง พ.ร.บ. ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ….
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 9 มิ.ย. 2553 ผู้เสนอคือ นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 19,819 คน
ร่าง พ.ร.บ. หลักประกันชราภาพแห่งชาติ พ.ศ. ….
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 9 มี.ค. 2553 ผู้เสนอคือ นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา กับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน 19,819 คน
ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม ( ฉบับที่…) พ.ศ. ….
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 8 พ.ค. 2553 ผู้เสนอคือ นายเหวง โตจิราการ และประชาชน 71,543 คน
ร่าง พรบ ประกันสังคม ( ฉบับที่… ) พ.ศ. ….
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 24 พ.ย. 2553 ผู้เสนอคือ นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 14,264 คน
ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม ( ฉบับที่…) พ.ศ. ….
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 9 พ.ค. 2555 ผู้เสนอคือ นางธิดา ถาวรเศรษฐ และประชาชน 71,543 คน
ร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ….
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 26 มี.ค. 2544 ผู้เสนอคือ นางระกาวินทร์ ลีชนะวานิชพันธ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 52,837 คน
ร่าง พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ( ฉบับที่…) พ.ศ. ….
วันที่ยื่นต่อรัฐสภา 13 พ.ย. 2555 ผู้เสนอคือ นายสัมพันธ์ คมฤทธิ์
ร่าง พ.ร.บ. การประมง พ.ศ. …. ผู้เสนอคือ นายวิโชติศักดิ์ รณรงค์ไพรี ภาคประชาชนรวบรวมรายชื่อไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด จึงไม่ได้เสนอร่างกฎหมายดังกล่าวต่อรัฐสภา แต่ประชาชนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายได้นำเสนอเนื้อหากับกรรมาธิการ
นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงอุปสรรคและปัญหาของการเข้าชื่อเสนอกฎหมายภาคประชาชนว่า เมื่อเสนอกฎหมายไปยังสภาผู้แทนราษฎรแล้ว สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จะตรวจสอบว่ากฎหมายฉบับนั้นๆ อยู่ในหมวด 3 คือหมวดที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือหมวด 5 ซึ่งว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่าให้เสนอได้เฉพาะกฎหมายที่อยู่ใน 2 หมวดนี้เท่านั้น ประการต่อมาคือการตรวจสอบรายชื่อว่าคุณเข้าชื่อเสนอกฎหมายจริงไหม ซึ่งที่ผ่านมาจะใช้วิธีเช็คไปที่กรมการปกครอง ให้มีคำสั่งตรวจสอบทะเบียนราษฎร์
จากนั้น กรมการปกครองก็จะประกาศ ไปที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้ประกาศว่าคุณลงชื่อไว้หรือเปล่า จากนั้น เมื่อตรวจสอบรายชื่อแล้ว จะพิจารณาต่อไปว่า หากเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ประธานสภาฯ จะพิจารณาว่าต้องส่งให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับรอง ถ้านายกฯ ไม่รับร้อง ร่างกฎหมายนั้นก็ตกไปตั้งแต่ต้น
“ ถ้าในกรณีครบทุกขั้นตอน นายกฯ รับรองแล้ว วิธีปฏิบัติที่ผ่านมาที่เป็นปัญหามากก็คือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ประธานสภาจะรอให้รัฐบาลออกกฎหมายมาประกบกับร่างกฎหมายของประชาชนแล้วเสนอร่วมกัน คือ ต้องมีร่างกฎหมายของรัฐบาล ของพรรคการเมือง ของประชาชน หากร่างกฎหมายใดมีไม่ครบตามที่ว่ามาก็จะไม่บรรจุไว้ในระเบียบพิจารณา เขาจะรอให้มีกฎหมายรัฐบาลเสนอมาด้วย แต่ปัญหาคือ อย่างล่าสุด ร่างกฎหมายประกันสังคม มีครบทุกฉบับแต่สภาพิจารณาให้ร่างประชาชนตกไปเลย นี่คือปัญหาและเป็นคำถามว่าสิทธิทางตรงของประชาชน รัฐบาลปฏิเสธได้ไหม ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ปฏิเสธแล้ว”
“การเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายฉบับประชาชน จึงขึ้นอยู่กับพลังการต่อรองของประชาชนด้วย ซึ่งที่ผ่านมาผมเห็นว่ามีกฎหมายบางฉบับที่ภาคประชาชนมีพลังและสามารถเรียกร้องให้ร่างกฎหมายนั้นผ่านการพิจารณา ซึ่งที่ผ่านมา มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจคือร่าง ร่าง พ.ร.บ. วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนที่มีคนเป็นแสนรับรอง โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้คือเพื่อให้สถานะวิชาชีพเขาเข้มแข็งขึ้น เขามาชุมนุมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า 10,000 คน จากเดิมที่มีการชะลอพิจารณาร่างกฎหมายนี้ แต่เมื่อเขามาชุมนุม กฎหมายก็ผ่านเลยและกฎหมายประชาชนอีกฉบับหนึ่งคือ พ.ร.บ.สัญชาติไทย ฉบับคนไทยพลัดถิ่นที่เขาเดินเท้าจาก จ.ประจวบคีรีขันธ์มาถึง กทม. เพื่อขอสัญชาติไทย”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า อะไรคือเงื่อนไขสำคัญอีกบ้างที่ทำให้ร่างกฎหมายฉบับประชาชนทั้ง 2 ฉบับ ผ่านการพิจารณา นายไพโรจน์ตอบว่ากรณีคนไทยพลัดถิ่น เขามีความชอบธรรมที่จะได้รับสัญชาติไทย สังคมปฏิเสธเขาไม่ได้ เพราะเดิมทีเขาเป็นคนไทย แต่ถูกแยกออกไปด้วยเส้นเขตแดนที่กำหนดโดยอังกฤษ ทำให้เขากลายเป็นประชากรในฝั่งพม่า แต่พม่าก็ไม่ถือว่าเขาเป็นคนพม่า เพราะเขาคือคนไทยมาแต่ดั้งเดิม กอปรกับการที่เขาก็ใช้วิธีการเรียกร้องด้วยการเดินเท้ามาจาก จ.ประจวบคีรีขันธ์ จนถึงกรุงเทพฯ ทั้งร่วมเกาะติดการพิจารณาในสภาอย่างใกล้ชิดโดยตลอด ทำให้สภาไม่อาจปฏิเสธพลังของคนกลุ่มนี้ได้ กฎหมายฉบับนี้จึงสำเร็จ ส่วนกฎหมายเรื่องวิชาชีพสาธารณสุข ถือเป็นกลุ่มวิชาชีพที่ใหญ่มากกลุ่มหนึ่ง หากมองจากมุมมองทางการเมือง อำนาจต่อรองในเชิงปริมาณของประชาชนกลุ่มนี้มีเยอะ จึงเป็นการได้มาซึ่งการสนับสนุนพรรคการเมืองได้ด้วย
“ถ้าเสียงเขามากก็เป็นฐานเสียงในทางการเมืองได้ด้วย นี่ก็เป็นนัยทางการเมืองที่สำคัญ นอกจากนั้น กฎหมายทั้งสองฉบับนี้ ก็ไม่ได้ไปขัดแย้งทางการเมืองกับใคร”
ขณะที่ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมที่ร่างโดยประชาชนไม่ถูกหยิบมาพิจารณานั้น นายไพโรจน์มองว่า “กฎหมายนิรโทษกรรม ไม่มีพลังต่อรอง กำลังญาติเขาก็ไม่พอ เท่าที่ผมสัมผัสได้เขายังไม่เข้มแข็งพอ ต้องให้เขาเรียนรู้เองว่ามันเป็นเรื่องของเจตจำนง เพราะในการผลักดันกฎหมายที่ร่างขึ้นโดยประชาชนนั้น สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่เรื่องของความรู้ทางกฎหมาย แต่มันต้องเกิดจากความเข้าใจในหลักสิทธิตามระบอบประชาธิปไตยและต้องเกิดจากการผลักดันของประชาชนเอง”
นอกจากนี้ นายไพโรจน์ ระบุถึงการแก้ไขกฎหมายการเข้าชื่อของประชาชน ที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาแล้ว โดยมีสาระสำคัญคือเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น เพราะกำหนดให้ใช้แค่บัตรประชาชน จากเดิมที่ต้องใช้หลักฐานคือสำเนาทะเบียนบ้านด้วย ส่วนการตรวจสอบจากเดิมที่ต้องส่งไปให้กรมการปกตรวจสอบ แต่กฎหมายที่กำลังพิจารณากันอยู่ในตอนนี้ กำหนดให้ส่งมาที่เจ้าตัวเลยตรวจสอบโดยตรง ว่าเขาเป็นผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายจริงหรือไม่ ซึ่งนายไพโรจน์กล่าวว่า กฎหมายแก้ไขการเข้าชื่อนี้ มีแนวโน้มที่จะผ่านการพิจารณาและถูกประกาศใช้
“เบื้องต้น ทราบว่าวิปรัฐบาลเห็นด้วย แต่ที่ช้าคือเมื่อกฎหมายมีการแก้ไขก็เลยต้องตั้งกรรมาธิการร่วม 2 สภาฯ พิจารณาว่ารับรองหรือไม่รับรอง ซึ่งตอนนี้ วุฒิรับรองแล้ว ก็เหลือขั้นตอนที่สภาผู้แทนราษฎรรับรองและพิจารณา ซึ่งคาดว่าน่าจะผ่าน อยู่ที่ว่าจะผ่านในสมัยประชุมนี้ หรือสมัยประชุมหน้า เพราะยังมีเรื่องอื่นที่สภาเร่งพิจารณา ทั้งงบประมาณ, การแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 68
ดังนั้น หากในเร็วๆนี้ไม่มีการพิจารณารัฐธรรมนูญ มาตรา 68 นายไพโรจน์จึงเชื่อว่ากฎหมายเข้าชื่อโดยประชาชนน่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาและมีความเป็นไปได้สูงที่จะผ่านในสมัยประชุมนี้
“ถ้าผ่านการพิจารณาแล้ว การเข้าชื่อเสนอ กฎหมายโดยภาคประชาชนก็ง่ายขึ้น ถ้าเราเห็นว่ากฎหมายภาคประชาชนฉบับไหนน่าสนใจ เมื่อเราศึกษาอย่างดีแล้วก็เชิญชวนผู้ที่สนใจให้เขาศึกษาและร่วมลงชื่อได้ง่ายขึ้น จากที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐผูกขาดอำนาจในการออกกฎมายและมีแนวโน้มที่จะลำเอียง เข้าข้างกลุ่มที่มีอำนาจการต่อรองสูงในสังคม การให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย จึงเป็นการเปิดพื้นที่ ให้เสียงที่ไม่เคยมีใครฟัง ไม่มีคนได้ยิน สามารถสะท้อนความต้องการ สะท้อนปัญหาของเขา เพื่อแก้ไขความไม่เป็นธรรมได้ ดังนั้น การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย จึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตยที่ให้ประชาชนได้แสดงออกในทางการเมืองได้โดยตรง” นายไพโรจน์ระบุ