จาก“เขื่อนแม่วงก์”ถึง“ปากบารา”ได้เวลาเดินเท้าเปลี่ยนแปลง“โลก”อีกครั้ง
"..ปัจจัยที่ทำให้ชาวบ้านวิตกกังวลคือ กรณีต้องให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเพิกถอนพื้นที่อุทยานเภตรา-ตะรุเตา เพื่อรองรับการก่อสร้าง นั่นหมายถึงความกังวลต่อผลกระทบต่อทรัพยากรธณรมชาติอันเป็นแหล่งที่ทำกิน รวมถึงการท่องเที่ยวที่อาจกระทบหากทรัพยากรถูกทำลายไป.."
หลายคนเชื่อว่า “การเดิน” เปลี่ยนโลกได้ หรืออย่างน้อยก็จุดกระแสจิตสำนึกได้ นับตั้งแต่ปรากฎการณ์เดินเท้าคัดค้านการก่อสร้าง “เขื่อนแม่วงก์” ที่ผ่านมา
เช่นกัน วันที่ 22 ตุลาคมนี้ กิจกรรมการคัดค้าน “ท่าเรือน้ำลึกปากบารา” เดินด้วยใจจากอันดามัน-อ่าวไทย กำลังจะเกิดขึ้น ท่าเรือน้ำลึกปากบาราเป็นหนึ่งในโครงการ “แลนด์บริดจ์สตูล-สงขลา” เพื่อรองรับอุตสาหกรรมหนักในพื้นที่
ขณะที่มีการออกมาคัดค้านของชาวบ้านในพื้นที่ อ.ละงู จ.สตูลอย่างเหนียวแน่นและเป็นรูปธรรม เพราะชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะกระทบวิถีชีวิตการประกอบอาชีพที่อาศัยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งนำไปสู่การคัดค้านเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เพราะเม็ดเงินส่วนหนึ่งจะถูฏนำมาใช้กับโครงการดังกล่าว
ในปี พ.ศ. 2551 - 2553 กระทรวงคมนาคม โดยสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ใช้งบกว่า 100 ล้านบาท เสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎร และสภาฯก็ได้อนุมัติงบเพื่อศึกษาเกี่ยวกับระบบรางรถไฟ ระบบการขนส่ง และรวมไปถึงด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่างๆ
โดยหลักๆ คือ แนวเส้นหรือระบบรางรถไฟ 3 - 4 แนว ในการเชื่อมทะเล 2 ฝั่ง คือฝั่งอันดามัน ที่บ้านปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล กับฝั่งอ่าวไทย ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา มี 2 บริษัท ผลการศึกษาออกมาเป็นรูปเล่มเรียบร้อย
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ชาวบ้านวิตกกังวลคือ กรณีต้องให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเพิกถอนพื้นที่อุทยานเภตรา-ตะรุเตา เพื่อรองรับการก่อสร้าง นั่นหมายถึงความกังวลต่อผลกระทบต่อทรัพยากรธณรมชาติอันเป็นแหล่งที่ทำกิน รวมถึงการท่องเที่ยวที่อาจกระทบหากทรัพยากรถูกทำลายไป
สีสันใต้ท้องทะเลของเขตอุทยานเภตรา-ตะรุเตา ใครเห็นแทบไม่มีคำถามใดๆเพิ่มเติม เพราะงดงามลงตัวดีแล้ว ที่สำคัญเป็นความงดงามที่คนเราสร้างไม่ได้ธรรมชาติเท่านั้นที่ทำหน้าที่ให้คนเราได้ชื่นชม ด้วยความหลากหลายที่งดงามยิ่งนัก พื้นที่แห่งนี้จึงได้รับการประกาศเป็นพื้นที่อุทยาน แต่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
เพราะกว่าสถานที่ใดๆจะมีการประกาศเป็นพื้นที่อุทยานได้นั้นต้องมีผลงานการศึกษาวิจัยอย่างสมบูรณ์แบบตามหลักวิธีการวิจัย สำหรับที่นี่ ปะการังเจ็ดสี คือความภาคภูมิใจ
ระหว่างทางการต่อสู้ ภาพถ่าย คือการบันทึกเรื่องราวสะท้อนความรักหวงแหนในถิ่นฐาน
“ปกป้องสตูล” เป็นคอลเล็คชั่นภาพถ่ายโดย “วัฒย์จนพล ศรีชุมพวง” ช่างภาพอิสระผู้เกาะติดการทำงานเชิงอนุรักษ์ของชาวบ้านในพื้นที่ ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านภาพถ่าย (ชมอัลบัมเต็มได้ที่ www. realframe.net)
“ในฐานะช่างภาพสารคดี ผมมองในแง่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากนั้น จึงเริ่มเข้าพื้นที่เพื่อถ่ายภาพ ภายหลังจากการทำความเข้าใจโครงการฯและทำการศึกษาข้อมูล ผมรู้สึกว่า โครงการดังกล่าวจะสร้างความเสียหายใหญ่หลวงในระยะยาว ให้กับทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่และใกล้เคียง ตลอดจนถึงสิ่งแวดล้อมต่างๆมากจนเกินไป ทำให้ไม่สามารถนำความแข็งแรงของข้อดีในโครงการฯขึ้นมาเป็นข้อโต้แย้งได้และนั่นยังเป็นสาเหตุให้ประชาชนออกมาต่อต้านโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา”
@กิจกรรม เดินด้วยใจจากอันดามัน-อ่าวไทย 22 ตุลาคม 2556
กำหนดการ เส้นทางเดินด้วยรัก เชื่อมสะพานแผ่นดิน-โดยสะพานมนุษย์ ปากบาราจ.สตูล-บ.สวนกง อ.จะนะจ.สงขลา
อังคาร 22 ตุลาคม 2556
09.00 น. เริ่มสตาร์ทจากท่าเรือท่องเที่ยวปากบารา มีพิธีการ/แถลงการณ์ จากปากบารา ถึงท่าแพ พักท่าแพ
พุธ 23 ตุลาคม 2556
ออกจากท่าแพ ถึงทุ่งนุ้ย .
พฤหัสบดี 24 ตุลาคม 2556
ออกจากทุ่งนุ้ย ถึงเขาพระ
ศุกร์ 25 ตุลาคม 2556
ออกจากเขาพระ ถึงหูแร่
เสาร์ 26 ตุลาคม 2556
ออกจากหุแร่ ถึงหาดใหญ่
อาทิตย์ 27 ตุลาคม 2556
ออกจากหาดใหญ่ ถึงนาหม่อม
จันทร์ 28 ตุลาคม 2556
ออกจากนาหม่อม ถึงจะนะ
(โดยระหว่างเดินจะมีกิจกรรมเชิงรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจตลอดเส้นทาง)
ภาพหมายเลข 1 : ปู่เย็น ชาวบ้านคนหนึ่งที่อยู่อาศัยในตำบลละงูแต่ดั้งเดิม ยังคงเก็บหอยตลับ เพื่อเลี้ยงชีพ บริเวณชายหาดบางศิลา บ้านปากบาง ในพื้นที่อำเภอละงู ซึ่งยังคงมีอยู่เป็นจำนวนมาก หอยตลับนอกจากจะนำมาบริโภคหรือแปรรูปเนื้อส่งขายแล้ว เปลือกของหอยยังสามารถนำมาใช้ประดิษฐ์เป็นของที่ระลึกเพื่อจำหน่ายได้อีกด้วย
ภาพหมายเลข 2 : ปลาโรนันจุดขาว ชนิดพันธุ์ปลาหายากประเภทหนึ่ง ก่อนถูกนำไปแช่แข็ง โดยนักตกปลาท้องถิ่นระหว่างการขนย้ายขึ้นฝั่งที่ท่าเทียบเรือปากบาราปัจจุบัน
ภาพหมายเลข3: การออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านของชาวบ้านในพื้นที่