ข่าวลับ-ลือ-รั่ว...แต่ไม่มั่ว! เรื่องพูดคุยสันติภาพ
สถานการณ์ขณะนี้อยากร้องเพลง "เหนื่อยไหม" ของ เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ มอบให้กับการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น เพราะต้องเจอกับความยากเข็ญและอุปสรรคมากมายเสียเหลือเกิน
แบบนี้เองกลิ่นของสันติภาพจึงหอมหวน และสร้างความหวังให้กับผู้คนได้มากมาย...
ณ ปัจจุบัน แม้ข่าวคราวเรื่องพูดคุยสันติภาพจะเงียบหายไปจากหน้าสื่อแทบทุกแขนง เพราะรัฐบาลไทยตัดสินใจเลื่อนวันนัดพูดคุยออกไปอย่างไม่มีกำหนด จากเดิมวางตารางเวลาไว้คร่าวๆ สัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ต.ค. โดยมีตัวเลขวันที่ 20 แพลมออกมา แต่วันนี้ถือว่าชัดเจนตรงกันทุกฝ่ายแล้วว่าจะไม่มีการนัดพูดคุยก่อนวันที่ 25 ต.ค. ซึ่งเป็นวันครบรอบ 9 ปีเหตุการณ์ตากใบ ส่วนเหตุผลการเลื่อนไปหลังตากใบตามที่กล่าวอ้างกันและเป็นข่าวไปหมดแล้วนั้น จะฟังขึ้นหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละท่านจะพิจารณาตัดสินกันเอง
แต่ถึงกระนั้น หลังฉากที่ไม่ปรากฏข้อมูลผ่านสื่อ ก็มีความเคลื่อนไหวหลายด้านเกี่ยวกับการพูดคุยสันติภาพซึ่งผมอยากจะเล่าให้ฟัง ทั้งข่าวลับ ข่าวลือ ข่าวรั่ว แต่ไม่มั่ว เพราะมีแหล่งที่มาทุกข่าว เพียงแต่สถานการณ์จริงจะเป็นไปตามข่าวหรือไม่เป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก เพราะมีปัจจัยแทรกซ้อนหลายประการ ด้วยปัญหาความไม่เป็นเอกภาพและการไม่บูรณาการกันแบบไทยๆ นั่นแหละ
เริ่มจากข่าวที่เรียกเสียงฮือฮาและทำลายความหวังของกองเชียร์อย่างมาก ก็คือ โต๊ะพูดคุยสันติภาพล้มแล้ว! จริงๆ ประเด็นนี้ตกเป็นข่าวมาระยะหนึ่ง แต่ไม่ค่อยน่าเชื่อถือนักในช่วงแรก กระทั่งมีข่าวบีอาร์เอ็นปรับโครงสร้างคณะพูดคุย และ ฮัสซัน ตอยิบ อาจหลุดจากหัวหน้าทีม จึงเริ่มเห็นเค้าลาง
ยิ่งฝ่ายรัฐบาลไทยแสดงท่าทีปฏิเสธข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อของบีอาร์เอ็น ยิ่งสอดรับกับข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่า บีอาร์เอ็นถูกบังคับให้ขึ้นโต๊ะพูดคุยทั้งๆ ที่ไม่เต็มใจ จึงเสนอข้อเรียกร้องแบบ "สุดซอย" เพื่อให้ฝ่ายไทยล้มกระดาน
เรื่องนี้แม้โดยข้อเท็จจริงอาจไม่หวือหวาเหมือนที่เป็นข่าว แต่ก็มีเหตุมีผลรองรับพอสมควร โดยเฉพาะท่าทีอันแข็งกร้าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่ส่งสัญญาณว่าข้อเรียกร้องทั้ง 5 น่าจะรับไม่ได้สักข้อ ทำให้เกิดคำถามว่าเมื่อผู้นำกองทัพที่เป็นกำลังหลักของการจัดการปัญหาภาคใต้อย่าง "ผบ.ทบ." แสดงท่าทีขนาดนี้ แล้วการพูดคุยจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร
สอดรับกับ "แนวคำตอบ" ต่อ 5 ข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นซึ่งจัดทำโดย กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) ที่แม้จะไว้เยื่อใยทำนองว่า "รับข้อเรียกร้องไว้พิจารณา" แต่คำตอบที่ตอบกลับแต่ละข้อล้วนยอกย้อนและโยนโจทย์ยากๆ กลับไปให้บีอาร์เอ็นทั้งสิ้น
ผู้ชำนาญการณ์หลายท่านชี้ว่า โต๊ะพูดคุยแม้ยังไม่ล้ม แต่โดยสภาพก็เหมือนล้มไปแล้ว เพราะไม่รู้จะคุยอะไรกันต่อ เนื่องจากคำตอบของฝ่ายไทยเสมือนหนึ่งปิดประตูการพูดคุย
ข่าวต่อมา จริงๆ ก็สืบเนื่องจากข่าวแรก คือ กองทัพได้ "เทคโอเวอร์" การพูดคุยสันติภาพแล้ว ประเด็นก็คือ โต๊ะพูดคุยจะล้มหรือไม่ก็ยังไม่รู้ เพราะอาจมีการนัดคุยกันต่อไปอีกจากปัจจัยสนับสนุนหลายอย่าง (เช่น บีอาร์เอ็นเกิดอยากคุยขึ้นมาจริงๆ หรือมาเลเซียไม่อยากเสียหน้า จึงบังคับวิถีให้เกิดการพูดคุยต่อให้ได้) แต่การพูดคุยจะไม่เหมือน 3-4 ครั้งที่ผ่านมาอีกแล้ว เนื่องจากฝ่ายกองทัพได้เข้าไปมีบทบาทในกระบวนการพูดคุยมากขึ้น
ประเด็นนี้น่าคิด เพราะแต่เดิมกองทัพถูกกันออกห่างจากกระบวนการพูดคุยสันติภาพในระยะเริ่มต้น สังเกตจากวันลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุย เมื่อ 28 ก.พ.2556 ไม่มีผู้แทนจากกองทัพบกร่วมอยู่ด้วย มีแต่ผู้แทนจาก กอ.รมน.ที่ถูกส่งตามไปในช่วงใกล้ลงนาม
ทั้งๆ ที่กองทัพบก และ กอ.รมน. คือหน่วยนำในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในห้วงเกือบ 10 ปีมานี้!
แม้หลังจากวันที่ 28 ก.พ.ต่อเนื่องมา บทบาทของกองทัพก็ยังถูกจำกัดมาตลอด การส่งคนเข้าไปร่วมในคณะพูดคุยดูจะเป็นความเห็นชอบของแกนนำคณะพูดคุยอย่าง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง แห่งศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 (ศปป.5) กอ.รมน. หรือ พล.ต.ชรินทร์ อมรแก้ว รองแม่ทัพภาคที่ 4 ก็ตาม
ทว่าหลังจากบีอาร์เอ็นส่งคำอธิบาย 5 ข้อเรียกร้องเพิ่มเติมตามการร้องขอของรัฐบาลไทย เป็นเอกสาร 38 หน้า โดยส่งผ่าน "มาเลเซีย" ในฐานะผู้อำนวยความสะดวก ดูเหมือนบทบาทของกองทัพและดุลอำนาจในทีมพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยเริ่มเปลี่ยนไป
คำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหมคนใหม่ หนึ่งในแกนนำคณะพูดคุยสันติภาพ ที่บอกว่านายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แนะนำให้คณะพูดคุยปรึกษาหารือกับ ผบ.ทบ.อย่างใกล้ชิด ทำให้ ผบ.ทบ.เป็นเสมือนหนึ่ง "ที่ปรึกษา" ของคณะพูดคุย ย่อมเป็น "นัยยะ" อันสำคัญ
เป็นคำแนะนำของนายกฯ ภายหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ แถลงข่าวคัดค้านข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็น โดยเฉพาะประเด็นเขตปกครองพิเศษ และข่าว กอ.รมน.ส่งแนวคำตอบต่อ 5 ข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นไปยัง สมช.แล้วด้วยซ้ำ
ตีความได้หรือไม่ว่าท่าทีอันแข็งกร้าวของ ผบ.ทบ.ต่อ 5 ข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็น ได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรีไม่น้อย
และหลังจากนั้นก็เริ่มมีข่าวปรับทีมพูดคุยฝ่ายไทย โดย พล.ท.ภราดร บอกว่าเป็นการปรับตามบีอาร์เอ็น (ที่มีข่าวเสริมทีมชุดใหญ่ ดึงผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ การปกครอง การศึกษา และเยาวชนเข้าร่วม) เพื่อให้เป็นทีมที่สูสี พอรับมือกันได้ ในขณะที่ ผบ.ทบ.กลับให้สัมภาษณ์ว่า ต้องปรับทีมใหม่ทั้งหมด และเลื่อนนัดพูดคุยออกไป เพราะฝ่ายไทยยังไม่มีความพร้อม
ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมานายกฯยิ่งลักษณ์ แสดงท่าทีสนับสนุนการพูดคุยสันติภาพภายใต้การเดินเกมของ พล.ท.ภราดร และ พ.ต.อ.ทวี อย่างเต็มที่ และให้อิสระในการทำงานอย่างมาก แต่ภายหลังมีการเปิดเผยคำอธิบายข้อเรียกร้อง 5 ข้อ จำนวน 38 หน้าของบีอาร์เอ็น ท่าทีของนายกฯก็เริ่มเปลี่ยนไป และหันไปฟังฝ่ายทหารมากขึ้น
มีข่าวว่าทีมเลขาธิการนายกฯได้ส่งเอกสารของบีอาร์เอ็นไปสอบถามความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน หนึ่งในนั้นคือนักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดังที่เคยเป็นที่ปรึกษา "วงนอก" ให้กับรัฐบาลไทยรักไทยยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังเรืองอำนาจ ทำให้ "นายใหญ่แห่งดูไบ" เชื่อถือเป็นอย่างมาก
คำตอบของนักวิชาการรายนี้ คือ ข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นแทบจะรับไม่ได้เลยแม้แต่ข้อเดียว เพราะมีประเด็นผูกโยงเกี่ยวเนื่องกัน รับข้อหนึ่งจะส่งผลไปยังอีกข้อหนึ่ง โดยเฉพาะ "สิทธิความเป็นเจ้าของดินแดนปาตานี" หากไทยยอมรับ อาจส่งผลต่อข้อเรียกร้องเรื่อง "เขตปกครองพิเศษ" ในความหมายที่มากกว่า Special Administrative Region
คำตอบและบทวิเคราะห์ชุดนี้ถูกส่งถึงนายกฯยิ่งลักษณ์ด้วย ซึ่งเนื้อหาก็สอดคล้องกับคำตอบของหน่วยงานความมั่นคงอื่นๆ (นอกเหนือจาก สมช.) ที่ส่งถึงรัฐบาลเช่นกัน
ว่ากันว่า "คนใกล้ตัวนายกฯ" ถึงกับปรารภว่าท่าทีของรัฐบาลคือ...ไม่รับ 5 ข้อเรียกร้อง!
นี่คือต้นสายปลายเหตุของบทบาทที่เพิ่มขึ้นของกองทัพต่อการพูดคุยสันติภาพ และดุลอำนาจที่เริ่มเปลี่ยนไปในคณะพูดคุยฝ่ายไทย
ที่สำคัญในห้วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ปรากฏปฏิบัติการปิดล้อม-ตรวจค้น-ยิงปะทะ และวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหาคดีความมั่นคงแบบถี่ยิบ โดยที่เสียงคัดค้านของหน่วยที่รับผิดชอบงานพัฒนาและความเป็นธรรมในชายแดนใต้เริ่มแผ่วเบาลง...
ปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวคิดการใช้ปฏิบัติการทางทหารกดดันคู่ขัดแย้งในระหว่างการพูดคุยสันติภาพ เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบบนโต๊ะพูดคุยเจรจา เป็นยุทธวิธีที่ฝ่ายทหารค่อนข้างจะเห็นพ้องกัน ทั้งทหารที่อยู่นอกโต๊ะพูดคุยและในโต๊ะพูดคุย
แต่ในความเห็นของตัวแทนหน่วยที่รับผิดชอบงานพัฒนาและความเป็นธรรมมองสถานการณ์ในพื้นที่อย่างไม่สบายใจ...
ล่าสุดมีข่าวอดีตทหารใกล้ตัว ผบ.ทบ. พยายามเปิดแทร็ค (track) หรือช่องทางการพูดคุยใหม่ โดยมีการนัดพบปะกับอดีตแกนนำขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนหารือลับกันหลายรอบ
ยิ่งสอดรับกับข่าว "โต๊ะพูดคุย ไทย-บีอาร์เอ็น ล้มแล้ว" ดังที่เล่าให้ฟังในตอนต้น
อย่างไรก็ดี หากถามใจ พล.ท.ภราดร ที่ยังคงเดินสายออกสื่อวิทยุ โทรทัศน์ ทั้งสื่อรัฐ สื่อเอกชน และล่าสุดก็เตรียมไปพบปะกับสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ในวันที่ 5 พ.ย. ย่อมชัดเจนว่าเขายังมั่นใจว่าโต๊ะพูดคุยสันติภาพระหว่างไทยกับบีอาร์เอ็นจะยังคงมีต่อไป แต่บทบาทของฝ่ายไทยตอนนี้กำลังเล่น "ดีเลย์ แทคติก" หรือ "กลยุทธ์ยื้อเวลา"
แต่ดูเหมือนแกนนำคณะพูดคุยจากหน่วยงานพัฒนาฯจะไม่เอาด้วยกับกลยุทธ์นี้ เพราะมีการส่งทีมบินไปประเทศสวีเดน และเปิดโต๊ะพูดคุยกับแกนนำพูโลบางปีก โดยเฉพาะพูโลสาย กัสตูรี มาห์โกตา และสาย ซัมซูดิน คาน
ข่าวแจ้งว่าในสายกัสตูรี ได้พบกับหัวขบวนตัวจริง ส่วนในสายซัมซูดิน หัวขบวนยังไม่ยอมปรากฏกาย...
ขณะเดียวกันก็ยังมีทริปหอบหิ้วกันไปอินโดนีเซียอีกหลายครั้ง โดยที่อินโดฯ มีประชาคมจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปพำนักอยู่ไม่น้อยเช่นกัน
ถือเป็นการขับเคลื่อนที่น่าจับตา เพราะฝ่ายบีอาร์เอ็นที่เข้าร่วมโต๊ะพูดคุยเคยเสนอข้อเรียกร้องว่า รัฐบาลไทยต้องพูดคุยกับพวกเขากลุ่มเดียวเท่านั้น ส่วนกลุ่มอื่นๆ เขาจะรับหน้าเสื่อไปจัดหามาขึ้นโต๊ะเอง
คำให้สัมภาษณ์ของ พล.ท.ภราดร ทุกครั้งก็ยังย้ำตามนี้ แต่เมื่อถูกถามถึง "ทริป" ของหน่วยพัฒนาฯ เจ้าตัวก็อ้ำอึ้งไปเหมือนกัน
ถึงวันนี้ท่าทีของฝ่ายทหารกับฝ่ายพัฒนาในคณะพูดคุย ดูจะสวนทางกัน และเดายากว่าถึงที่สุดแล้วใครจะเป็น "คนเคาะ" ว่าการพูดคุยกับบีอาร์เอ็นควรจะเดินหน้าต่อหรือลืมๆ กันไป
เรื่องนี้ต้องถึงนายใหญ่ หรือจบที่นายกฯ แล้วต้องฟังเสียงนกหวีดจาก ผบ.ทบ.ด้วยหรือไม่ เป็นความท้าทายที่น่าติดตาม...
ข่าวล่าสุดหลุดมาว่า ในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาฯ (21-27 ต.ค.) ซึ่งแต่เดิมมีกำหนดนัดพูดคุยสันติภาพรอบใหม่ แต่ทางการไทยเลื่อนออกไปนั้น ทางการมาเลเซียได้จัดประชุมตัวแทนกลุ่มขบวนการจากชายแดนใต้ของไทยทุกกลุ่มที่พำนักอยู่ในมาเลเซีย เพื่อบังคับวิถีให้เดินหน้าพูดคุยต่อไป หากบีอาร์เอ็นไม่พร้อมหรือไม่เต็มใจ ก็จะจัดทีมใหม่ ดึงกลุ่มอื่นผสมเข้าไป เพื่อให้การพูดคุยเดินหน้าให้ได้ อย่างน้อยก็อีกสักระยะหนึ่ง
เหนื่อยไหม...พูดคุยสันติภาพ!
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ความรุนแรงที่ตอบโต้กันไปมาระหว่างฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มก่อความไม่สงบยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องแม้อยู่ในช่วงของการพูดคุยสันติภาพ
หมายเหตุ : ใช้เทคนิครวมภาพโดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา