ครอบครัวตาเล๊ะกับวิบากกรรม? ลูกอยู่ในเรือนจำถูกกล่าวหาซ้ำคดีพยายามฆ่า
"ไม่รู้จะพูดอย่างไร มันเจ็บใจที่มาทำกันอย่างนี้ ถ้าอีกฝ่าย (แนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบ) มาบอกให้ช่วยตัดต้นไม้ โปรยตะปูเรือใบ หรือเผายางรถยนต์ ผมจะทำให้ทันที"
นี่คือเสี้ยวหนึ่งของความเจ็บช้ำที่แปรเปลี่ยนเป็นความคับแค้นใจซึ่ง สุกรี ตาเล๊ะ อายุ 51 ปี ชาวบ้าน ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ระบายกับตำรวจ ภายหลังเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับลูกชายที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นทั้งที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องมานานกว่า 4 ปี
เป็นที่ทราบกันดีว่ารากเหง้าของปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก "ความไม่เป็นธรรม" ที่คนในพื้นที่ได้รับมาตลอด โดยเฉพาะความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมเอง ส่งผลให้พื้นที่นี้ในห้วงทศวรรษที่ผ่านมา บางปีมีสถิติคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้องพุ่งสูงสุดถึงกว่าร้อยละ 70
ไม่เพียงผลของคดีแต่ละคดีที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเท่านั้นที่น่าตกใจ แต่ในจำนวนคดีความมั่นคง 8,778 คดี (นับจากต้นปี 2547 ถึงสิ้นปี 2555) พบว่าเป็นคดีที่รู้ตัวผู้กระทำเพียง 2,079 คดี คิดเป็นร้อยละ 23.68 คดีที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำถึง 6,699 คดี คิดเป็นร้อยละ 76.32 และจับผู้ต้องหาได้เพียง 1,472 คดี
หน่วยงานตำรวจมักชี้แจงว่าสาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะคดีความมั่นคงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ค่อยมีใครกล้าเป็นพยาน และการก่อเหตุมีแรงจูงใจพิเศษที่ไม่ใช่เรื่องแก้แค้นส่วนตัว ชู้สาว หรือขัดผลประโยชน์กันเหมือนพื้นที่อื่น ทำให้หาตัวผู้กระทำผิดยาก
ฟังดูเผินๆ ก็เป็นเหตุผลที่พอรับฟังได้ แต่ความจริงในอีกบางแง่มุมอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะกรณีที่เกิดกับครอบครัวของ สุกรี ตาเล๊ะ
ในมุมของชาวบ้าน...ลำพังการดำรงชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัยในพื้นที่สีแดงก็ยากลำบากมากพออยู่แล้ว แต่เมื่อมีสมาชิกในครอบครัวตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับในคดีอุกฉกรรจ์ขึ้นมาอีก ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ในครอบครัวยิ่งย่ำแย่
เมื่อเดือน ก.ค.2552 ครอบครัวตาเล๊ะ ถูกตำรวจนำกำลังเข้าค้นบ้านถึง 2 ครั้งเพื่อจับกุม นายมะอาซัม ตาเล๊ะ ตามหมายจับของศาลจังหวัดนราธิวาส ในข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุเกิดระหว่างทางไปน้ำตกฉัตรวารินทร์ ใน อ.สุไหงปาดี เมื่อเดือน ธ.ค.2551
นายสุกรี ผู้เป็นพ่อได้พยายามอธิบายให้ตำรวจฟังว่า บุตรชายของเขาถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำจังหวัดนราธิวาสตั้งแต่เดือน ก.ค.2550 ในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนถึงแก่ความตายในคดีทำร้ายคนที่มาขโมยยางในสวนยางพาราที่เขารับจ้างกรีดยางอยู่ ลูกชายจะพ้นโทษตามคำพิพากษาของศาลในวันที่ 12 เม.ย.2555 ในเมื่อลูกอยู่ในคุกจะไปก่อเหตุยิงผู้อื่นเมื่อปี 2551 ได้อย่างไร
"เจ้าหน้าที่เขาไม่รับฟัง เราจึงเดินทางไปหาญาติผู้เสียหายในคดีก็พบว่า ช่วงที่ตำรวจนำภาพผู้ต้องสงสัยไปให้ดูนั้น ทางญาติผู้เสียหายก็ไม่ได้ยืนยันว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุ แล้วเหตุใดลูกชายของผมถึงถูกออกหมายจับอีก รู้สึกน้อยใจที่ผู้ใหญ่ไม่รับฟัง"
หลังจากนายมะอาซัมพ้นโทษออกมาเมื่อปี 2555 ตำรวจก็ยังเรียกให้เข้ามอบตัวในคดีพยายามฆ่า นายมะอาซัมจึงตัดสินใจหลบหนีไปอยู่ที่ประเทศมาเลเซียเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว และมีแนวโน้มจะเข้าเป็นแนวร่วมกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจากความคับแค้นในจิตใจที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่
ส่วนนายสุกรีได้พยายามร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมไปยังหน่วยงานต่างๆ กระทั่งเรื่องถูกส่งถึง พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) เมื่อเดือน ส.ค.2556 และเห็นว่าเป็นคดีที่น่าสนใจ น่าจะให้ความเป็นธรรมได้หากข้อร้องเรียนมีมูลความจริง
พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ จึงมอบหมายให้ พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ผู้บังคับการปราบปราม (ผบก.ป.) พ.ต.อ.อธิป แท่นนิล ผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราบปราม (ผกก.ปพ.บก.ป.) รับเรื่องไปตรวจสอบ และได้สั่งการให้ พ.ต.ท.ทรงรักษ์ ขุนศรี สารวัตร กก.ปพ.บก.ป. กับ ร.ต.อ.นิธิพัฒน์ กังรวมบุตร รองสารวัตร ปพ.บก.ป. ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง
พ.ต.อ.อธิป เล่าว่า ได้ทำงานร่วมกับพนักงานอัยการ และ สภ.สุไหงปาดี ในฐานะรับผิดชอบท้องที่เกิดเหตุ โดยได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดของกรณีที่เกิดขึ้นอีกครั้ง พร้อมทำหนังสือสอบถามไปยังเรือนจำกลางสงขลา และทัณฑสถานบำบัดพิเศษสงขลา ซึ่งเป็นสถานที่คุมขังนายมะอาซัมต่อจากเรือนจำจังหวัดนราธิวาส ก็ได้รับการยืนยันว่าในช่วงที่ถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุในคดีร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นเมื่อปี 2551 นั้น นายมะอาซัมถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจริง จึงได้รวบรวมหลักฐานทั้งหมดประสานอัยการจังหวัดนราธิวาสจนสามารถถอนหมายจับได้
นี่คือคดีตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า บางครั้งความไม่เป็นธรรมก็ไม่ได้เกิดจากปัญหาทางเทคนิคหรือเป็นเพราะลักษณะพิเศษของคดีความมั่นคงในพื้นที่นี้ดังที่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบนิยมชี้แจง
ทว่าปัญหาน่าจะเกิดจาก "การไม่บูรณาการ" หรือไม่พยายามบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากกว่า ดังที่ พ.ท.นพ.เอนก ยมจินดา ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เคยให้สัมภาษณ์ "ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา" เอาไว้ในลักษณะถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ช่วงที่ลงไปปฏิบัติงานในตำแหน่งรองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
"พูดง่ายๆ คือทหาร ตำรวจ อัยการ ศาล และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองทำงานแบบไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน บางเรื่องที่เกิดปัญหาขึ้นก็ไม่ยอมรับว่าหน่วยงานของตัวเองผิด นี่คือความจริงในพื้นที่...ทำให้คนไทยพุทธกับมุสลิมไม่ไว้วางใจกระบวนการยุติธรรมและเจ้าหน้าที่รัฐในภาพรวม"
คดีที่เกิดขึ้นกับนายมะอาซัมและครอบครัวตาเล๊ะเป็นอีกหนึ่งคดีที่ตอกย้ำว่า "ความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม" ยังคงดำรงอยู่และเป็นเชื้อไฟอย่างดีที่ทำให้สถานการณ์ความไม่สงบในดินแดนแห่งนี้ยังคงคุโชนและไม่เห็นแนวโน้มของการมอดดับ!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : สุกรี ตาเล๊ะ ขณะเล่าเรื่องราวของลูกชายและระบายความอัดอั้นให้ตำรวจฟัง
หมายเหตุ : วิศิษฎ์ ชวนพิพัฒน์พงศ์ เป็นผู้สื่อข่าวสายอาชญากรรมของเครือเนชั่น