คนอุบลฯ จับผิดภาพเครื่องบินตกที่ลาวในโลกออนไลน์-สื่อหลักไม่ใช่ภาพจริง!!
“ในช่วงที่เกิดเหตุเครื่องบินตกใหม่ๆ มีคนนำภาพเครื่องบินตก ทั้ง 2 ภาพนี้ ไปเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียจำนวนมาก สื่อมวลชนหลายแห่งก็นำภาพนี้ไปใช้ด้วย แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว ไม่มีใครสามารถที่เก็บภาพเครื่องบินตกที่ลาวได้เลย ทั้งก่อนและหลังตก ภาพเครื่องบินตกทั้งสองภาพที่ถูกนำไปแชร์กันในขณะนี้จึงไม่ใช่ภาพเหตุการณ์จริง”
กรณีเครื่องบินโดยสารของสายการบินลาวแอร์ไลน์ เที่ยวบิน QV 301 ประสบอุบัติเหตุตกกลางแม่น้ำโขง ขณะกำลังร่อนลงจอดที่สนามบินปากเซ แขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมานั้น
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา นายสุชัย เจริญมุขยนันท ผู้อำนวยการ สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวใช้ชื่อว่า “Suchainews”
โดยระบุว่า คนอุบลฯจับผิด ภาพเครื่องบินตกที่ลาวไม่ใช่ภาพจริง
พร้อมขยายความว่า “จนถึงวันนี้ ยังไม่ปรากฏภาพก่อนและระหว่างเครื่องบินตกที่สปป.ลาว เมื่อ 16 ตุลาคม 2556 ภาพที่เผยแพร่ทั่วไปทางสื่อกระแสหลักและโซเชียลมีเดียไม่ถูกต้อง
นายสุชัย ยังระบุด้วยว่า Facebook ของ นายสาทิศ เมธาสิทธิ์ สุขสำเร็จ คนอุบลราชธานี ได้เปิดเผยเรื่องนี้
- ภาพนิ่งเครื่องบินจมน้ำเป็นภาพของเครื่องบินรัสเซียเมื่อ 11 กค.54
Click : http://goo.gl/0jbCrT
- ภาพเครื่องบินโหม่งหัวลง เป็นภาพเครื่องตกที่อัฟกานิสสถานเมื่อ 29 เมย.56
Click : http://goo.gl/ZPvPtS
ข้อมูล : Sarthit Medhasith Suksumret
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้ติดต่อไปยัง นายสุชัย เจริญมุขยนันท ผู้อำนวยการ สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ได้รับการยืนยันจากนายสุชัย ว่า ได้โพสต์ข้อความเรื่องภาพเครื่องบินตกดังกล่าวจริง
“ในช่วงที่เกิดเหตุเครื่องบินตกใหม่ๆ มีคนนำภาพเครื่องบินตก ทั้ง 2 ภาพนี้ ไปเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียจำนวนมาก สื่อมวลชนหลายแห่งก็นำภาพนี้ไปใช้ด้วย แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว ไม่มีใครสามารถที่เก็บภาพเครื่องบินตกที่ลาวได้เลย ทั้งก่อนและหลังตก ภาพเครื่องบินตกทั้งสองภาพที่ถูกนำไปแชร์ตกกันจึงไม่ใช่ภาพเหตุการณ์จริง”
นายสุชัย กล่าวต่อไปว่า หลังจากที่ภาพเครื่องบินตกทั้งสองภาพนี้ถูกเผยแพร่ออกไป คุณนายสาทิศ ซึ่งเป็นคนอุบลราชธานี ซึ่งมีความรู้เรื่องเครื่องบินเป็นอย่างดี ได้ไปตรวจสอบข้อมูลภาพเครื่องบินทั้งสองภาพนี้ และพบหลักหลักยืนยันชัดเจนว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ
คือภาพนิ่งเครื่องบินจมน้ำเป็นภาพของเครื่องบินรัสเซียเมื่อ 11 กค.54 และภาพเครื่องบินโหม่งหัวลง เป็นภาพเครื่องตกที่อัฟกานิสสถานเมื่อ 29 เมย.56
“หลังได้รับทราบข้อมูลผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก จึงรีบนำมาเสนอต่อให้สาธารณชนได้รับทราบ เพราะการนำภาพเหตุการณ์เครื่องบินตกในต่างประเทศ มาระบุว่าเป็นภาพเครื่องบินตกในลาวครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่ไม่สมควร บางคนเห็นภาพกรณีเครื่องบินรัสเซีย และเห็นว่ายังมีคนอยู่รอบเครื่องบิน คิดว่าเป็นภาพเครื่องบินที่ลาว คิดว่าคงไม่เป็นอะไรมาก แต่พอมาฟังข่าวแล้วทราบว่าผู้โดยสารอาจเสียชีวิตทั้งหมดอาจทำให้เกิดความสับสนขึ้นได้”
“การแชร์ภาพเหตุการณ์สำคัญในโลกออนไลน์ ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะสื่อมวลชนกระแสหลัก ควรจะมีการตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องก่อนนำเสนอ เพราะไม่เช่นนั้น อาจทำให้ข้อมูลที่เผยแพร่ออกไปสร้างความสับสน ให้กับสังคมมากขึ้นไปอีก ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังมาก” นายสุชัยระบุ