ดูชัดๆ ต้นทุน-ผลกำไร "บูลสกายฯ" นำเข้ารถหรูเลี่ยงภาษี รัฐเสียหายหลักล้าน!!
ดูชัดๆ ต้นทุน ผลกำไร ส่วนต่างภาษี นำ รถ เบนซ์หรู บ.บูลสกาย รัฐเสียหายหลักล้าน!! เปิดตัว บริษัทอักษรย่อ “เจ” ตัวละครใหม่ ผู้ขายรถให้กับรองประธานสภาอุตฯ จ.ชลบุรี โยงการเมือง?
การปรากฏตัวของ บริษัท พรเทพอินเตอร์กรุ๊ป จำกัด ซึ่งมีนายพรเทพ ชีวะธรรมานนท์ รองประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดชลบุรี เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ ในฐานะผู้ครอบครอง รถเมอร์เซเดส-เบนซ์ ClS 350 สีดำ ทะเบียน กธ.84XX ซึ่งมีที่มาจากการนำเข้าของบริษัท บูลสกาย 24 ซึ่งถูกระบุในสำนวนการสอบสวนของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ว่าอาจจะมีพฤติการณ์หลีกเลี่ยงภาษีการนำเข้ารถหรู
พร้อมคำยืนยันจาก นายพรเทพ ซื้อรถคันนี้ต่อมาจากบริษัทนำเข้ารายหนึ่ง ในราคา 6 ล้านบาทถ้วน
(อ่านประกอบ:รองสภาอุตฯ ชลบุรี รับเป็นผู้ครอบครอง รถเมอร์เซเดส-เบนซ์ บ. บูลสกายฯ)
กำลังเป็น"จิ๊กซอว์" ชิ้นสำคัญ ที่ช่วยขยายภาพข้อเท็จจริง เกี่ยวกับความสงสัยในเรื่อง ต้นทุน ผลกำไร และส่วนต่างภาษีๆ ที่ว่า บริษัทนำเข้ารถอิสระ(เกรย์มาร์เก็ต) ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้ารถหรูจากต่างประเทศ ว่า แท้จริงแล้ว มีจำนวนเท่าไร มันคุ้มค่ากับความเสียง ทางคดีความทั้ง อาญา และแพ่ง ที่จะได้รับตอบแทนในกรณีถูกจับได้หรือไม่ ให้ชัดเจนขึ้นอย่างมาก
เพราะตัวเลข 6 ล้านบาท คือ คำยืนยันถึงที่มาผลกำไรที่สุดคุ้ม จากการดำเนินธุรกิจในเรื่องนี้ อย่างชัดเจนที่สุด
ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ภายหลังได้รับการยืนยันถึงราคาซื้อขายรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ ClS 350 สีดำ จากนาย นายพรเทพ ว่าอยู่ที่ราคาคันละ 6 ล้านบาทถ้วนดังกล่าว
ได้ทำการคำนวณราคาต้นทุน ผลกำไร และภาษี ที่ บริษัท บูลสกายได้รับจากการซื้อขายรถคนนี้ ต่อมาจากบริษัท ในประเทศอังกฤษ ตามฐานข้อมูลในปรากฎในผลสอบของ ป.ป.ท. พร้อมเปรียบเทียบราคาการนำเข้ารถ ที่บริษัท ในประเทศอังกฤษ แจ้งไว้กับ กรมศุลกากร ของอังกฤษ พบข้อเท็จจริงดังนี้
1. ในการนำรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ ClS 350 สีดำ ดังกล่าว เข้ามาในประเทศไทย บริษัท บูลสกาย จำกัด สำแดง ราคา ในประเทศไทย ว่าบริษัท “A” (ตัวย่อ) ขายให้ในราคา 25,260 เหรียญสหรัฐ หากคำนวณเป็นค่าเงินบาท ในช่วงเวลานั้น ซึ่งอยู่ที่ อัตรา 30 บาท ต่อหนึ่งเหรียญสหรัฐ
เท่ากับว่าบริษัท บูลสกายฯ ซื้อรถต่อมาในราคาคันละ 757,800 บาท
ทั้งนี้ เมื่อคิดอัตราภาษีจำนวน 200 % (ตามข้อกำหนดกรมศุลกากร)จากราคาซื้อรถดังกล่าว บริษัท บูลสกายฯ จะมียอดภาษีที่จะต้องเสียอยู่ที่ 1,500,000 บาท (มีหลักฐานปรากฏอยู่ในรายงานการตรวจสอบของ ป.ป.ท. ว่าบริษัทบูลสกายฯ เสียภาษีการนำเข้ารถคันนี้เป็นจำนวนเงิน 1,500,000 บาท )
ทำให้ราคาต้นทุนการนำรถคันนี้ของบริษัทบูลสกายฯ อยู่ที่จำนวน 2,257,800 บาท
2. อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท “A” (ตัวย่อ) ในประเทศอังกฤษ ได้สำแดงราคารถยนต์คันดังกล่าว ต่อศุลกากรอังกฤษ ในราคา 55,000 ปอนด์
หากคำนวณเป็นค่าเงินบาท ในช่วงเวลานั้น ซึ่งอยู่ที่อัตรา 48 บาทต่อหนึ่งปอนด์ ราคารถคันนี้จะอยู่ที่ 2,640,000 บาท
ทั้งนี้ เมื่อนำรถคันนี้เข้ามาในประเทศ และคิดอัตราภาษีจำนวน 200 % เท่ากัน จะทำให้ยอดภาษีที่จะต้องเสียขึ้นไปอยู่ที่ 5 ล้านบาท
เมื่อรวมต้นทุนการนำเข้าทั้งหมด จะอยู่ที่ตัวเลข 7,640,000 บาท
3. หากนำต้นทุนของรถยนต์แบบเสียภาษีถูกต้อง มาเปรียบเทียบ กับรถที่นำเข้ามาแบบหลีกเลี่ยงภาษีการนำเข้า ในกรณี รถเมอร์เซเดส-เบนซ์ ClS 350 คันนี้ ของบริษัทบูลสกาย จะพบว่ามีส่วนต่างเกิดขึ้นเป็นจำนวนถึง 3,500,000 บาท และเป็นตัวเลขภาษีที่รัฐต้องสูญเสียไปจากกรณีนี้
4. และหากนำราคาซื้อรถที่ บริษัท พรเทพอินเตอร์กรุ๊ป จำกัด ซื้อมาในราคาคันละ 6,000,000 บาท มาเปรียบเทียบจากต้นทุนที่แท้จริงในการนำรถเข้ามาในประเทศของ บริษัท บูลสกาย จะพบว่า มีส่วนต่างเกิดขึ้นจำนวนเงินถึง 3,742,200 บาท
(ดูตารางเปรียบเทียบ)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังบริษัทตัวแทนขายรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ แห่งหนึ่ง ได้รับการยืนยันว่า รถเมอร์เซเดส-เบนซ์ ClS 350 เป็นรถรุ่นที่บริษัทนำเข้ารถอิสระ(เกรย์มาร์เก็ต) นำเข้ามาขายในประเทศไทย ขณะที่บริษัทตัวแทนนำเข้าของค่ายเบนซ์โดยตรงจะนำเข้าเฉพาะ รถเมอร์เซเดส-เบนซ์ ClS รุ่น 250 เท่านั้น แต่ถ้าจะมีการนำเข้ามาราคาขายรถ รุ่น 350 จะถูกตั้งราคาไว้ตั้งแต่ 7-8 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนราคาขายรถ รุ่น 350 ของบริษัทนำเข้ารถอิสระ(เกรย์มาร์เก็ต) จะอยู่ที่ประมาณ 6 ล้านบาทเป็นต้นไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในรายงานการตรวจสอบของ ป.ป.ท. ระบุชัดเจนว่า กรณีการนำเข้ารถแบบผิดกรณีลักษณะนี้ความเสียหายที่ได้รับทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีในกรณีข้างต้นประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากการสอบสวนพบว่ามีรถยนต์นำเข้าในกรณีดังกล่าวมากกว่า 7,000 คันต่อปี และรถยนต์คันหนึ่งมีการหลีกเลี่ยงภาษีประมาณ 800,000 บาท ถึง 9,000,000 บาทต่อคัน แล้วแต่ชนิดของรถยนต์ และเมื่อตรวจพบในภายหลัง รัฐไม่สามารถติดตามเรียกเก็บภาษีส่วนที่ขาดไปจากบริษัทผู้นำเข้าอิสระดังกล่าวได้ เนื่องจากบริษัทดังกล่าวไม่มีตัวตน บางบริษัทจะปิดตัวและไปเปิดตัวเป็นบริษัทใหม่ต่อเรื่อยๆ
ทั้งนี้ ป.ป.ท.ยังระบุดวยว่า พฤติการณ์ดังกล่าวเชื่อว่ามีการทำเป็นขบวนการ ระหว่างผู้นำเข้าอิสระในประเทศไทย กับบริษัทผู้ส่งออกในประเทศต่างประเทศ โดยเจ้าหน้าที่รัฐ มีส่วนรู้เห็นหรือให้ความสะดวกในการรับราคาตามที่ผู้นำเข้ารถยนต์อิสระสำแดงราคา
โดยเบื้องต้น จากการตรวจสอบใบขนสินค้า และเอกสารใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่ม เบื้องต้นพบว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการรับราคารถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศของผู้นำเข้าอิสระที่สำแดงราคาต่ำ เป็นเหตุให้รัฐต้องสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษี จำนวน 108 ราย อันอาจเข้าข่ายกระทำหรือไม่กระทำอย่างใด เพื่อให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมมิต้องเสียหรือเสียน้อยไปกว่าที่จะต้องเสีย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ภายหลังจากที่บริษัท บูล สกาย 24 จำกัด นำรถออกมาจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2554แล้ว บริษัท บูลสกาย 24 จำกัด ได้ทำการโอนรถยนต์คันนี้ ต่อไปยังบริษัทเอกชนอีกแห่งหนึ่ง ที่มีตัวย่อว่า “เจ” ในวันเดียวกันทันที
จากนั้น บริษัท เจ (ตัวย่อ) ก็มีการโอนรถต่อไปยังลีซซิ่งของธนาคารเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่งอีกครั้ง ก่อนที่รถคันนี้จะถูกโอนต่อไปเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท พรเทพอินเตอร์กรุ๊ป จำกัด
จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า บริษัท ที่เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากการขายรถครั้งนี้ที่แท้จริง อาจจะเป็น บริษัท เจ (ตัวย่อ) ส่วนบริษัท บูลสกายฯ อาจเป็นเพียงแค่นายหน้าท รับหน้าที่นำรถเข้ามาเพื่อส่งต่อใ้ห้บริษัทอื่นอีกทอดหนึ่งเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า บริษัท เจ (ตัวย่อ) ที่ถูกระบุว่า เป็นผู้ขายรถให้กับ บริษัท พรเทพอินเตอร์กรุ๊ป จำกัด เบื้องต้น มีตัวตนอยู่จริง
และในช่วงปี 2554 กรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ เคยปรากฏรายชื่อเป็นผู้บริจาคเงินให้กับพรรคการเมืองใหญ่ เป็นจำนวนเงินหลายล้านบาทด้วย