พลิกกม.!!ใครต้องเป็น“หัวขบวนใหญ่”เอาผิดทางกม.ผู้ก่อมลพิษน้ำมันในทะเล
“เป็นที่น่าสังเกตว่า ในปัจจุบันยังคงมีเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามันอย่างต่อเนื่อง รวมกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า 200 ครั้งตามสถิติของกรมเจ้าท่า ดังเหตุการณ์ที่ระยองเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม และที่หาดบางแสน เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งอัยการในฐานะทนายความของรัฐไม่ได้ดำเนินการฟ้องร้องต่อผู้ที่กระทำความเสียหายให้เกิดขึ้นแต่อย่างใด”
ไม่ว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ การปรากฏคราบน้ำมันในชายหาดทะเลบางแสน ใครจะเป็น “ผู้ก่อเหตุ” หรือความจริงต่อกรณีปัญหาน้ำมันดิบรั่วไหลในทะเลระยอง ที่ปัจจุบันก็ยังมีข้อสังเกตต่อปริมาณน้ำมันดิบ ที่รั่วไหลออกมาว่ามีจำนวนเท่าไรกันแน่
แต่มีข้อเท็จจริงทางกฎหมายที่น่าสนใจประการหนึ่ง เกี่ยวกับปัญหามลพิษทางน้ำมัน ที่สังคมควรรับทราบ
จากการตรวจสอบพบว่า ศ. ดร.ไผทชิต เอกจริยกร ผู้แทนคณาจารย์สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เขียน “เอกสารเพื่อประกอบการพิจารณากฎหมายของสมาชิกรัฐสภา เรื่องร่างพระราชบัญญัติความรับผิดทางแพ่งเพื่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมัน”
เคยวิเคราะห์ถึงช่องโหว่ของการดำเนินการทางกฎหมายเมื่อเกิดเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลในทะเลของไทยไว้อย่างน่าสนใจ โดยมีใจความตอนหนึ่งระบุว่า
“เมื่อเกิดอุบัติการณ์น้ำมันรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำจนก่อให้เกิดความเสียหายแล้ว การชดใช้ค่าเสียหายหรือการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นย่อมต้องเป็นไปตามกฎหมาย แต่เนื่องจากประเทศไทยไม่มีกฎหมายเฉพาะว่าด้วยความรับผิดเพื่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมัน การชดใช้ค่าเสียหายหรือการเยียวยาจึงต้องพิจารณาจากกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจากการศึกษาพบว่ากฎหมายที่มีบทบัญญัติว่าด้วยความรับผิดและการจัดการมลพิษทางน้ำอันเกิดจากน้ำมันมีเพียง 4 ฉบับเท่านั้นได้แก่ (1) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บทบัญญัติในหมวดของละเมิด (2) พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 (3) พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และ (4) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน พ.ศ.2547”
นอกจากนี้ ศ. ดร.ไผทชิต ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติความรับผิดทางแพ่งเพื่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมัน โดยใจความสำคัญตอนหนึ่งกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับความรับผิดไว้ว่า (1) กำหนดให้เจ้าของเรือเดินทะเลซึ่งบรรทุกน้ำมันในระวางอย่างสินค้าต้องรับผิดโดยเคร่งครัด (Strict liability) เพื่อความเสียหายจามลพิษน้ำมัน (2) กำหนดให้เจ้าของเรือต้องรับผิดร่วมกัน ในกรณีที่มีเรือตั้งแต่สองลำขึ้นไปเกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติการณ์ แล้วก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น (3) กำหนดให้เจ้าของเรือได้รับยกเว้นความรับผิดเพื่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมัน หากความเสียหายนั้นเป็นผลจากสงครามหรือภัยธรรมชาติที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้
(4) กำหนดให้เจ้าของเรืออาจหลุดพ้นความรับผิดได้ หากความเสียหายจากมลพิษนั้นเป็นผลจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำไม่ว่าโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ได้รับความเสียหายเอง (5) กำหนดถึงบุคคลที่ไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายจากมลพิษ แต่ไม่กระทบถึงสิทธิไล่เบี้ยของเจ้าของเรือต่อบุคคลที่สาม (6) กำหนดให้เจ้าเรือสามารถจำกัดความรับผิดต่อความเสียหายจากมลพิษได้ตามขนาดระวางของเรือ
ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ยังกำหนดให้พนักงานอัยการมีอำนาจดำเนินคดีเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจากมลพิษในฐานะผู้เสียหายแทนรัฐได้ แต่ไม่ตัดสิทธิเอกชนที่จะฟ้องคดีด้วยตนเอง รวมทั้งได้กำหนดเรื่องการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมในกรณีที่พนักงานอัยการดำเนินการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในฐานะผู้เสียหายแทนรัฐ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้เสียหายจำนวนมากที่ไม่สามารถเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเองได้
และผู้เสียหายอาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจากมลพิษได้โดยตรงจากผู้รับประกันภัยหรือบุคคลซึ่งได้วางหลักประกันทางการเงิน แต่บุคคลดังกล่าวอาจยกข้อต่อสู้ตามที่กำหนดไว้ได้อย่างไรก็ตาม ผู้รับประกันภัยหรือบุคคลที่ให้หลักประกันทางการเงินดังกล่าวอาจยื่นคำร้องของต่อศาลเพื่อให้ออกหมายเรียกเจ้าของเรือเข้ามาในคดีด้วยก็ได้ อีกทั้งกำหนดอายุความในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไว้สามปี นับแต่วันที่ความเสียหายเกิดขึ้น หรือภายในหกปีนับแต่วันที่อุบัติการณ์ได้เกิดขึ้นหรือวันที่อุบัติการณ์ครั้งแรกได้เกิดขึ้นในกรณีที่อุบัติการณ์ประกอบด้วยเหตุการณ์ต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ในเอกสารดังกล่าว ศ. ดร.ไผทชิต ยังได้ยกตัวอย่างเหตุการณฺน้ำมันรั่วครั้งสำคัญที่เคยเกิดขึ้นในทะเลจ. ระยองและชลบุรี ในอดีต อาทิ
30 ตุลาคม 2539 เหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหล 160,000 ลิตร ระหว่างการขนถ่ายน้ำมันดิบจากเรือ ONCE สู่สถานีรับน้ำมันดิบของ บ.สตาร์ปิโตรเลียมรีไฟน์นิ่ง จำกัด ที่สถานีส่งน้ำมันดิบบริเวณนอกชายฝั่ง จ. ระยอง
6 มีนาคม 2537 เหตุการณ์น้ำมันดีเซลรั่วไหล 400,000 ลิตร เนื่องจากเรือบรรทุกน้ำมันวิสาหกิจ 5 ถูกเรือบรรทุกสินค้าของปานามาชน ที่เกาะสีชัง จ. ชลบุรี
14 กันยายน 2543 เหตุการณ์น้ำมันดีเซลรั่วไหล 2,000 ตัน เนื่องจากเรือบรรทุกสินค้าชื่อ Heron ชนเรือบรรทุกน้ำมัน play boy3 ที่บริเวณนอกฝั่ง จ.ชลบุรี
27 มีนาคม 2544 เหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหล 5,000 ลิตร ขณะสูบถ่ายน้ำมันดิบจากเรือบรรทุกน้ำมันสัญชาติMalts ชื่อNinemiaเนื่องจากข้อบกพร่องของตัวเรือบริเวณวาวล์ลิ้นทะเล ที่ท่าเทียบเรือบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมิกัลไทยจำกัด พบก้อนน้ำมันดินหรือ Tar Ball กระจายทั่วไป บริเวณหาดแสงจันทร์พีเอ็มวาย, แม่รำพึงจนสุดบ้านก้นอ่าว
26 ธันวาคม 2547 เหตุการณ์น้ำมันเตารั่วไหล 150 ตัน เนื่องจากเรือ Dragon 1 ชนหินโสโครก ที่เกาะครก จ.ชลบุรี
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในปัจจุบันยังคงมีเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามันอย่างต่อเนื่อง รวมกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า 200 ครั้งตามสถิติของกรมเจ้าท่า ดังเหตุการณ์ที่ระยองเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม และที่หาดบางแสน เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งอัยการในฐานะทนายความของรัฐไม่ได้ดำเนินการฟ้องร้องต่อผู้ที่กระทำความเสียหายให้เกิดขึ้นแต่อย่างใด?
ขณะที่ ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการอิศระด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีน้ำมันดิบรั่วไหลที่ จ.ระยอง และเหตุการณ์คราบน้ำมันที่เกิดขึ้นที่หาดบางแสน จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า ผลกระทบสำคัญประการหนึ่งที่หน่วยงานซึ่งเกี่ยวข้องควรคำนึงถึงจากทั้งสองเหตุการณ์คือการคิดคำนวณมูลค่าความเสียหายในทางเศรษฐกิจที่ต้องมีการดำเนินการให้ผู้รับผิดชอบ ต้องชดเชยเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบตามมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละวัน
คำถามที่น่าสนใจ คือ หนทางเอาผิดทางกฎหมายกับผู้ก่อเหตุมลพิษในทะเล ยังมีอยู่ แต่ขึ้นอยู่ที่ว่าเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนรับผิดชอบกับเรื่องนี้โดยตรง
จะเอาจริงเอาจังกับเรื่องมากน้อยเพียงใดเท่านั้น?