ชดเชยผลกระทบด้านเสียงจากการดำเนินงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
วันที่ 15 ตุลาคม 2556 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ในคราวประชุม ครั้งที่ 9/2556 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน 2556 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) ประธานกรรมการเสนอ ดังนี้
1. รับทราบความเห็นของกระทรวงคมนาคมที่มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านเสียงจากการดำเนินงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเห็นว่าการชดเชยการแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านเสียงจากการดำเนินงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นหน้าที่ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ที่จะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในระยะต่อไป รวมทั้งเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการให้ความช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในเชิงมนุษยธรรม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 โดยกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) พิจารณาการชดเชยผลกระทบด้านเสียงจากการดำเนินงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้แก่อาคารที่ปลูกสร้างระหว่างปี 2544-2549 และผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านเสียงจากการดำเนินงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 ตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยพิจารณาจ่ายเงินชดเชยตามกรอบวงเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2552 จำนวน 11,233.70 ล้านบาท
2. ให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เร่งรัดการจ่ายเงินชดเชยผลกระทบด้านเสียงจากการดำเนินงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 และวันที่ 31 สิงหาคม 2553 ที่เหลืออยู่ทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2557
3. เห็นชอบในหลักการให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) พิจารณาขยายกรอบการชดเชยผลกระทบด้านเสียงจากการดำเนินงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 และวันที่ 31 สิงหาคม 2553 ให้แก่อาคารที่ปลูกสร้างตั้งแต่ปี 2544 จนถึงวันที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เริ่มเปิดดำเนินการในวันที่ 28 กันยายน 2549 โดยใช้หลักเกณฑ์การจ่ายเงินชดเชยตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 และวันที่ 31 สิงหาคม 2553 และพิจารณาจ่ายจากกรอบวงเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2552 จำนวน 11,233.700 ล้านบาท
4. ให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้พิจารณาการชดเชยผลกระทบด้านเสียงจากการดำเนินงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในกรณีที่มีการร้องเรียนเรื่องผลกระทบด้านเสียงจากผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านเสียงที่อยู่นอกเหนือจากบริเวณพื้นที่ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 และวันที่ 31 สิงหาคม 2553 โดยขยายกรอบการชดเชยให้แก่อาคารที่ปลูกสร้างจนถึงวันที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเริ่มเปิดดำเนินการในวันที่ 28 กันยายน 2549 เป็นกรณีไป โดยประสานงานกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อดำเนินการตรวจวัดระดับเสียงในหน่วย NEF และใช้งบประมาณของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
5. รับทราบแนวทางการพัฒนาที่ดิน และการสร้างมูลค่าเพิ่มสำหรับที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างที่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการจัดซื้อมาจากผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านเสียงจากการดำเนินงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและอยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบด้านเสียงที่ระดับ NEF มากกว่า 40 จนถึงปัจจุบันจำนวน 180 อาคาร ค่าใช้จ่ายประมาณ 826.39 ล้านบาท (กระจายอยู่ในพื้นที่ของตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และเขตลาดกระบัง กทม.) โดยเป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแปลงใหญ่สุดประมาณ 17 ไร่ จำนวน 1 ราย นอกนั้นส่วนใหญ่เป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง พื้นที่โดยเฉลี่ยไม่เกิน 50-60 ตารางวา มีทั้งอยู่ในสภาพดี และชำรุดไม่เหมาะเป็นที่พักอาศัย ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ดังนี้
5.1 การจำหน่ายสินทรัพย์อาจไม่เหมาะสมและไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เพราะอาจจะเกิดข้อพิพาทด้านกฎหมายเรื่องผลกระทบด้านเสียงในอนาคตได้
5.2 ที่ดินซึ่งประกอบด้วยอาคารและพื้นที่ว่างเปล่าขนาดใหญ่ เห็นควรให้ผู้ประกอบการที่สนใจใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าว เสนอแนวทางในการใช้ประโยชน์ที่ดินเอง เพื่อให้สอดคล้องกับอุปสงค์ของตลาด
5.3 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จะพิจารณาหลักเกณฑ์และข้อกำหนดเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการใช้ประโยชน์ที่ดิน และการบริหารจัดการที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างที่เหมาะสมโดยเร็วต่อไป
ทั้งนี้ ให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) พิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินดังกล่าวให้เกิดความคุ้มค่า สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และประโยชน์สูงสุดให้กับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ต่อไป
6. ให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เร่งดำเนินการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่โดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่นและจังหวัด ให้มีความรู้ความเข้าใจในบริเวณพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบตามแนวเส้นเสียง และวิธีการจ่ายเงินชดเชยผลกระทบด้านเสียงจากการดำเนินงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตลอดจนประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเขตความปลอดภัยในการเดินอากาศและคำพิพากษาของศาลในคดีฟ้องร้องเกี่ยวกับผลกระทบด้านเสียงต่อไป