"นิวัฒน์ธำรง"โต้ขาดทุันจำนำข้าวไม่ถึง4.2แสนล้าน ลั่นขายจีนได้แล้ว3ทาง
นิวัฒน์ธำรงโต้ทุกเม็ดจำนำข้าว ชี้ขาดทุนไม่ถึง4.2แสนล้าน ลั่นขายจีนได้แล้ว3ทาง
เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2556 นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานวันที่ 16 ตุลาคมว่า ที่ประชุมไม่ได้หารือโครงการรับจำนำข้าว แต่เนื่องจากเรื่องดังกล่าวอยู่ในกระแสจึงขอชี้แจงว่า ประเทศจีนซื้อข้าวจากไทยหลายวิธีการ ล่าสุด ในการเดินทางเยือนประเทศไทยของนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนนั้น ไทยและจีนได้ลงนามว่าจะซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) อย่างต่อเนื่องให้ได้ปีละ 1 ล้านตัน
อย่างไรก็ตาม ราคาซื้อขายจะเท่าไรนั้น ในเดือนพฤศจิกายนหรืออย่างช้าในเดือนธันวาคมตนและคณะจะไปหารือกับรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์จีนอีกครั้ง ประเทศจีนอาจส่งรัฐวิสาหกิจมาซื้อข้าวจีทูจีก็ได้ โดยไทยจะขายข้าวคุณภาพดี ราคาสูงและคุณภาพดีกว่าข้าวของประเทศเวียดนามและใช้ราคาตลาดโลกเป็นราคาอ้างอิง แต่จะไม่กำหนดราคาไว้เพราะเป็นการขายข้าวในระยะยาว
ในการเยือนของนายกฯจีนนั้นยังมีการลงนามว่าจะซื้อขายระหว่างรัฐวิสาหกิจกับเอกชนของไทยให้ได้ 1 ล้านตันใน 5 ปี ยังมีการขายแบบรัฐต่อเอกชน เอกชนซื้อกับเอกชนอีก ส่วนการขายข้าว 1.2 ล้านตันให้มณฑลเฮย์หลงเจียงไม่เกี่ยวกับยอดขายข้าวแบบจีทูจี คาดว่า การซื้อขายดังกล่าวจะลงนามซื้อขายได้ภายในเดือนตุลาคมนี้ ดังนั้น ตอนนี้มีการขายที่แน่นอนแล้ว 3 ยอด ได้แก่ขายข้าวมณฑลเฮย์หลงเจียง จีทูจี และรัฐวิสาหกิจจีนและเอกชนไทย รวมทั้งกำลังเจรจาขายข้าวกับอีกหลายประเทศทั้งประเทศอิรัก และอินโดนีเซีย โดยสต๊อกรัฐบาลที่สามารถขายได้มีประมาณ 10 ล้านตัน ที่เหลือเป็นข้าวที่มีพันธสัญญาแล้ว
สำหรับประเด็นเสียงวิจารณ์ คัดค้าน และคำแนะนำ ของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์นั้นมีเพียง 7 บรรทัด เนื้อหาเพียง 2 หน้า คิดว่ามีหลายตัวเลขต้องขอข้อมูลเพิ่มเติมว่าเป็นตัวเลขจากอะไร ตรงกันหรือไม่และนำมาจากไหน เพราะข้อมูลสั้นมากพิสูจน์อะไรไม่ได้ หากมีข้อมูลเรื่องทุจริตนั้นหากใครมีข้อมูลก็จะต้องไปขอเพื่อมาดำเนินคดี
"โครงการจำนำข้าวเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเลือกที่จะนำมาเข้าโครงการหรือไม่ก็ได้ ปัจจุบันจำนำอยู่ที่ปีละ 22 ล้านตัน จากผลผลิตทั้งหมด 38 ล้านตันหรือ 60% ของผลผลิตทั้งหมด โดยในปี 2555 ใช้เงินในโครงการ 3.4 แสนล้านบาท และปี 2556 ใช้เงินในโครงการ 3.3 แสนล้านบาท โอนเงินให้เกษตรกรในบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยตรง วงเงิน 3.3 แสนล้านบาทก็เข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงไม่มีใครเอาไปที่ไหน ไปดูได้ว่าที่ ธ.ก.ส. มีบัญชีเกษตรกรกว่า 2 ล้านบัญชี"
ส่วนการขายข้าวก็ยังขายไปอย่างต่อเนื่อง และใช้เงินคืน ธ.ก.ส.แล้วกว่า 1.6 แสนล้านบาท แต่ยังมีข้าวของปี 2554 ปี 2555 และปี 2556 เหลืออยู่ ขณะที่การขาดทุนในโครงการนั้นต้องรอขายข้าวให้หมดก่อนจึงจะปิดบัญชีได้ ตัวเลขการปิดบัญชีที่เห็นตนเองเห็นล่าสุดคือตัวเลขปิดบัญชีในเดือนมกราคม 2556 ฉบับอื่นยังไม่เห็น โดยบัญชีล่าสุดขาดทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท แต่ยังมีข้อถกเถียงเรื่องการคิดราคาจำนวนข้าวที่เหลือในสต๊อก ขณะนี้หลายฝ่ายอยู่ในระหว่างการประเมินตัวเลขการขาดทุน ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ก็ยังไม่ได้ประเมินการขาดทุนอย่างจริงจังเพราะยังขายของไม่หมด
นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า หลักการโครงการจำนำข้าวเป็นการพยุงราคาข้าว ถ้าไม่มีโครงการรับจำนำ ราคาข้าวก็จะไปขึ้นอยู่กับราคาตลาด ราคาที่เกษตรกรขายได้จะอยู่ที่ 7,000 บาทต่อตันเท่านั้น เมื่อรัฐบาลไปเติมส่วนต่างตันละ 2,500 บาทต่อตัน ราคารวมก็ยังไม่ถึง 1 หมื่นบาทต่อตัน แต่ถ้ามีโครงการจำนำข้าวอย่างแย่ที่สุดเกษตรกรจะได้รับที่ 1.1 หมื่นบาทต่อตัน
ถามว่า โครงการจำนำข้าวขาดทุน 4.2 แสนล้านบาทจริงหรือไม่ นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า โครงการที่ผ่านมาใช้เงินทั้งสิ้น 3.3 แสนล้านบาท หากขาดทุน 2 แสนล้านบาทต่อปี เท่ากับว่ารัฐบาลขายข้าวในราคาประมาณ 30% ของราคาที่ซื้อมา ต่ำเกินไป ทุกปีที่ช่วยชาวนารัฐบาลเตรียมงบประมาณไม่ต่ำกว่าปีละ 6 หมื่นล้าน และที่ผ่านมาก็รับซื้อข้าวกว่า 22 ล้านตัน จึงอาจขาดทุนแบบสมเหตุสมผลที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท
ขอขอบคุณข่าวจาก