ทีวีมลายู...ฝันไกลที่ไปไม่ถึง
โครงการ "ทีวีภาษามลายู" ซึ่งเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2556 และตั้งเป้าเปิดเป็นสถานีโทรทัศน์ภาษามลายูเต็มรูปแบบ 24 ชั่วโมงภายใน 6 เดือนนั้น ถึงวันนี้ได้รับการยืนยันจากผู้เกี่ยวข้องแล้วว่าไม่สามารถผลักดันโครงการให้บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ได้
ระหว่างร่วมการเสวนาหัวข้อ "บทบาทสื่อในพื้นที่อ่อนไหวต่อความมั่นคง" ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการพิจารณาปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ทีวีภาษามลายู กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า โครงการทีวีมลายูถือว่าล้มไปแล้ว เพราะไม่สามารถสร้างสถานีและช่องทางการออกอากาศของตนเองตามที่ตั้งเป้าเอาไว้ได้
"ปัจจุบันเราถูกนำไปแขวนในช่อง 11 (เอ็นบีที หรือสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์) ส่วนแยกยะลา ซึ่งออกอากาศเฉพาะห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีช่วงเวลาออกอากาศเพียงวันละ 2 ชั่วโมง แบ่งเป็นช่วงครึ่งวันเช้า 1 ชั่วโมง และช่วงครึ่งวันบ่ายอีก 1 ชั่วโมงเท่านั้น"
พล.ต.ต.จำรูญ กล่าวด้วยว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้โครงการทีวีมลายูต้องล้มไป เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลตามที่ตกลงกันไว้
"เราได้งบประมาณในช่วงตั้งสถานีและวางโครงสร้างต่างๆ ราว 6 ล้านบาท โดยออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง 'ทีเอ็มทีวี' แต่โครงการที่วางไว้คือเปิดช่องของตนเองเพื่อออกอากาศ 24 ชั่วโมง ซึ่งได้ติดต่อทำสัญญากันไว้แล้ว ใช้งบประมาณในการบริหารจัดการทั้งสิ้น 26 ล้านบาท แต่พอของบไปจริงๆ กลับไม่ได้รับ โดยรัฐบาลบอกว่าไม่มีนโยบายให้เปิดช่องทีวีใหม่ จึงให้ไปแขวนไว้ที่ช่อง 11 กลายเป็นได้ออกอากาศแค่วันละ 2 ชั่วโมง สัญญาต่างๆ ที่ทำไว้ก็ต้องยกเลิกทั้งหมด" ประธานบอร์ดทีวีมลายู กล่าว
จากฝันใหญ่สู่ไร้อนาคต?
ทีวีภาษามลายูได้ทดลองออกอากาศตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2556 วันละครึ่งชั่วโมง ช่วงแรกกำหนดเวลาไว้ที่ 20.00-20.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง "ทีเอ็มทีวี" แต่ปรากฏว่าไปตรงกับช่วงข่าวในพระราชสำนัก จึงปรับเวลาออกอากาศใหม่เป็น 19.00-19.30 น. แต่ก็ได้รับเสียงท้วงติงว่าช่วงเวลาออกอากาศไปตรงกับเวลาละหมาดตอนค่ำของพี่น้องมุสลิมเสียอีก ทำให้ผู้สนใจไม่สามารถติดตามรับชมได้อย่างต่อเนื่อง
ต่อมาเมื่อครบ 6 เดือน คือสิ้นเดือน มิ.ย.2556 ปรากฏว่าทางทีวีมลายูไม่ได้รับอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาล ทำให้ต้องคืนเวลาให้กับทางทีเอ็มทีวีไป และไปออกอากาศทางช่อง 11 ส่วนแยกแทน ทั้งๆ ที่ตามแผนงานที่วางเอาไว้ เมื่อผ่านช่วงทดลองออกอากาศทางทีเอ็มทีวีเป็นเวลา 6 เดือนแล้ว ทีวีมลายูจะแพร่ภาพออกอากาศผ่านสัญญาณดาวเทียมระบบ C-band ของตนเอง โดยเช่าช่องสัญญาณจากดาวเทียมไทยคม ออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน
เมื่อมีการย้ายทีวีมลายูไปออกอากาศทางช่อง 11 ส่วนแยก กลับยิ่งถูกประชาชนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากเท่ากับไม่ได้เปิดทีวีช่องใหม่ เพราะช่อง 11 หรือเอ็นบีที ก็มีรายการเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกอากาศเฉพาะพื้นที่ 5 จังหวัดวันละประมาณ 3 ชั่วโมงอยู่แล้ว โดยเนื้อหาที่ถ่ายทอดในรายการจะผสมผสานกันทั้งภาษาไทยและภาษามลายู
นอกจากนั้น การรับชมทีวีมลายูจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ส่วนแยก ยังมีอุปสรรคปัญหาที่สำคัญ คือ ต้องใช้เสา "หนวดกุ้ง" หรือ "ก้างปลา" ในการรับสัญญาณ ซึ่งเสาดังกล่าวไม่เป็นที่นิยมของคนในพื้นที่ชายแดนใต้ เนื่องจากครัวเรือนในพื้นที่นิยมติดเคเบิลทีวี หรือติดจานรับสัญญาณดาวเทียมเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ทีวีมลายูที่ออกอากาศทางช่อง 11 ส่วนแยก อยู่ในสภาพเหมือนไม่ได้ออกอากาศ เพราะไม่สามารถรับชมได้อย่างแพร่หลายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั่นเอง
ชาวบ้านถอดใจ-ผิดหวัง
สำหรับรายการที่ออกอากาศอยู่ตั้งแต่สมัยที่แพร่ภาพผ่านทางช่องทีเอ็มทีวี มีทั้งหมด 7 รายการ เช่น รายการบีการา เกอซีฮัตตัน เป็นรายการเกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข ออกอากาศทุกวันจันทร์, รายการซาตูฮาตีซาตูยีวอ เป็นรายการเกี่ยวกับสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ออกอากาศทุกวันอังคาร, รายการซีนารันอิสลาม เป็นรายการเกี่ยวกับศาสนาและประวัติศาสตร์อิสลาม ออกอากาศทุกวันศุกร์, รายการอิ้ลมูเทคโน เป็นรายการเกี่ยวกับเทคโนโลยี การศึกษา และวิทยาศาสตร์ ออกอากาศทุกวันเสาร์ เป็นต้น อย่างไรก็ดี รายการส่วนใหญ่เป็นการออกอากาศวนซ้ำไปมา
นางแมะซง (สงวนนามสกุล) ชาวบ้านจาก จ.นราธิวาส กล่าวว่า ก่อนหน้านี้รู้สึกเป็นเรื่องดีที่ ศอ.บต.เปิดโอกาสให้คนพื้นที่มีทีวีของตนเอง แต่พอเวลาผ่านไป ทีวีภาษามลายูก็ยังไม่เห็นมีอะไรน่าดูเลย มีแต่คุยเรื่องอะไรก็ไม่รู้ บางรายการพูดภาษาที่ชาวบ้านไม่เข้าใจ (ไม่ได้ใช้ภาษามลายูถิ่น แต่ใช้ภาษามลายูกลาง) จึงอยากให้พูดปกติเหมือนคนบ้านเราพูดได้ไหม อยากได้ทีวีที่พูดเรื่องราวของชาวบ้าน บอกเล่าความทุกข์จากที่หนึ่งให้คนอีกที่หนึ่งได้รับรู้ จะได้เข้าใจและช่วยเหลือกัน
นายอาหามะ (สงวนนามสกุล) ชาวบ้านจาก อ.บันนังสตา จ.ยะลา กล่าวว่า เคยเปิดทีวีภาษามลายู ไม่เห็นมีอะไรที่สร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้าน มีรายการที่น่าสนใจไม่กี่รายการ อยากให้มีเสียงของประชาชนออกอากาศเยอะๆ ไม่ใช่ให้ฟังแต่เสียงจากคนของ ศอ.บต. อยากให้ทีวีมลายูเป็นทีวีของประชาชนจริงๆ สักช่องหนึ่งได้ไหม เป็นทีวีที่ไม่มีรัฐเข้ามาบงการ
ที่ผ่านมา "กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้" ซึ่งเป็นการรวมตัวของคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จำนวน 1,000 ตัวอย่าง เพื่อค้นหาความต้องการต่อทีวีภาษามลายู ผลปรากฏว่ารายการที่ประชาชนต้องการรับชมมากที่สุด เป็นรายการเกี่ยวกับการบรรยายธรรม 472 ราย รองลงมาคือรายการวิถีชีวิตและสะท้อนปัญหาสังคมและวัฒนธรรม 458 ราย ตามมาด้วยรายการโลกอาเซียน 440 ราย ถามตอบปัญหาอิสลาม 438 ราย และรายการให้ความรู้ภาษามลายู 398 ราย (ให้กลุ่มตัวอย่างเลือกได้มากกว่า 1 รายการ)
สูญงบร่วม 10 ล้าน
โครงการ "ทีวีภาษามลายู" นับเป็นสถานีโทรทัศน์ภาษามลายูทั้งช่องสถานีแรกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่องค์กรของรัฐ คือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้การสนับสนุน โดยทุ่มงบประมาณจัดงานเปิดตัวไปไม่น้อย เพราะเป็นงานใหญ่ ใช้ชื่องานว่า "วันแห่งเสียงประชาชน" มีผู้คนไปร่วมกว่า 5 พันคน ทั้งยังเชิญผู้ทรงคุณวุฒิในระดับประเทศและระดับภูมิภาคไปปาฐกถาในวันเปิดสถานีด้วย เช่น นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน เป็นต้น
มีรายงานอย่างไม่เป็นทางการว่าการจัดงานดังกล่าวใช้งบประมาณไปราว 2.5-3 ล้านบาท เมื่อรวมกับงบบริหารจัดการช่วงแรกของบอร์ดทีวีมลายูอีก 6 ล้านบาท ทำให้จนถึงปัจจุบันใช้งบไปแล้วเกือบ 10 ล้านบาท
ที่ผ่านมาบอร์ดทีวีมลายูได้วางผังรายการและทำสัญญากับผู้ผลิตรายการเอาไว้บางส่วนแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนทำงานในพื้นที่ เพื่อรองรับการออกอากาศแบบเต็มช่อง แต่เมื่อแผนงานสะดุด ทำให้สัญญาการผลิตรายการต้องปรับด้วย ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 14 ต.ค.ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างบอร์ดทีวีมลายูกับทีมผู้ผลิตรายการ และผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์มลายูของเอ็นบีทีส่วนแยก แต่ผลการประชุมยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก
ฝันใหม่...สถาบันภาษามลายู
ในขณะที่โครงการทีวีภาษามลายูยังไม่มีอนาคตที่ชัดเจน แต่ล่าสุด ศอ.บต.ได้เดินหน้าเปิด "สถาบันภาษามลายูไทยแลนด์" ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการพัฒนาด้านภาษาที่มีแผนงานคู่กันไปกับโครงการทีวีภาษามลายู
พิธีเปิดมีขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 12 ต.ค.2556 ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี โดยมี นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาการ เป็นประธาน และมีผู้บริหารสถาบันภาษาจากประเทศมาเลเซีย อินโดนิเซีย บรูไน และผู้อำนวยการโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่ชายแดนใต้เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง
การตั้งสถาบันภาษามลายูไทยแลนด์ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างความตระหนักในคุณค่าการอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลายของวิถีชีวิตและวัฒนธรรม โดยการส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งภาษาไทย ภาษามลายู ภาษามลายูถิ่น และภาษาต่างประเทศที่สำคัญในทุกระดับการศึกษา เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารเพื่อการพัฒนาทุกด้าน และเป็นศักยภาพสำคัญในการเตรียมความพร้อมรองรับการติดต่อสื่อสารและการสานสัมพันธ์กับโลกมลายูในบริบทของประชาคมอาเซียน ซึ่งเป็นจุดแข็งของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
สถาบันภาษามลายูไทยแลนด์ตั้งเป้าว่าจะเป็นสถาบันภาษามลายูที่ยึดอักขระยาวีเป็นแกนกลาง และมีแผนจัดทำความร่วมมือกับสถาบันภาษามลายูและองค์กรที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคอาเซียนด้วย
นับเป็นอีกหนึ่งฝันไกลที่ต้องลุ้นกันต่อว่าจะก้าวไปถึงหรือไม่?
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ทีวีภาษามลายูสมัยที่ออกอากาศช่องทีเอ็มทีวี
2-3 บรรยากาศวันเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เมื่อ 3 ม.ค.2556 (ภาพทั้งหมดจากแฟ้มภาพอิศรา)