EXCLUSIVE ! เปิด “3 ตัวละครลับ” ช่วย ป.ป.ช.จับโกงคดีรถดับเพลิง
"...คดีนี้เหมือนเราต่อจิ๊กซอว์ จิ๊กซอว์เริ่มต้นจากคุณยุทธพงศ์ จิ๊กซอว์ตัวที่สองคือผู้สื่อข่าว นสพ.เดลินิวส์ และจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายคือนักวิชาการหญิงท่านนี้ ที่บอกว่ายอมตาย และพร้อมจะให้ข้อมูล เพราะถ่ายเอกสารไว้ทุกชิ้น..."
ระหว่างงานเสวนาโต๊ะกลม เรื่อง “คดีรถดับเพลิง...โกงเหนือเมฆ” ที่จัดขึ้นโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 ต.ค.2556
“วิชา มหาคุณ” กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนคดีทุจริตการจัดซื้อรถเรือดับเพลิงของ กทม. มูลค่า 6.6 พันล้านบาท
ได้เปิดเผยถึง “3 ตัวละครสำคัญ” เบื้องหลังการไต่สวนคดีคดีดังกล่าว จนทำให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ศาลฎีกาฯ) พิพากษาจำคุก “ประชา มาลีนนท์” อดีต รมช.มหาดไทย เป็นเวลา 12 ปี และ “พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ”
"วิชา" อุ่นเครื่องการเสวนา ด้วยการเกริ่นนำว่า “เรื่องที่ผมจะเล่านี้ ไม่เคยเปิดเผยเช่นนี้ ที่ไหนมาก่อน...”
จากนั้นก็ใช้เวลากว่า 40 นาที เล่าถึงเบื้องลึก-เบื้องหลังของคดีประวัติศาสตร์ดังกล่าว โดยเฉพาะการเข้ามาเกี่ยวข้องของ “3 คีย์แมนสำคัญ” ที่บางคนเราอาจเคยพอได้ยินชื่ออยู่บ้าง...แต่กับบางคนเราก็ไม่เคยรู้จักมาก่อน
คนแรกเป็น ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ที่ไล่เก็บข้อมูลเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
คนที่สอง เป็นสื่อมวลชนที่เกาะติดเรื่องนี้ชนิดกัดไม่ปล่อย
คนสุดท้าย เป็นนักวิชาการหญิงหน้าห้องจำเลยคดีนี้คนหนึ่งที่ซีร็อกซ์เอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้เก็บไว้ทุกแผ่น
ทั้ง 3 คน มีส่วนช่วยต่อจิ๊กซอว์จนนำไปสู่คำตัดสินลงโทษผู้กระทำผิด ในท้ายที่สุด !
00000
คดีรถดับเพลิงไม่ได้มาจากการตรวจสอบของ ป.ป.ช.เอง แต่มาจากการร้องเรียนของคุณยุทธพงศ์ จรัสเสถียร สมัยยังอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เมื่อปี 2548 เพราะรู้มาว่าการจัดซื้อรถดับเพลิงของ กทม.ผิดปกติ ทั้งมีราคาแพงมากและอาจเกิดการฮั้วขึ้น แต่ปรากฏว่า ปชป.ไม่ฟังเขา หรือฟังแต่ไม่ให้ความสำคัญ ทำให้คุณยุทธพงศ์ผิดหวังมาก ซึ่งผมก็เห็นใจ เพราะข้อมูลทุกชิ้นเขาไปศึกษามาจริงๆ แล้วยังตามไปถึงต่างประเทศ
นอกจากนี้ยังมีสื่อมวลชนที่ร่วมกันแสวงหาข้อเท็จจริง หลังจากได้ข้อมูลจากคุณยุทธพงศ์ ก็เกาะติดมาโดยตลอด ขอพูดไว้เป็นเครดิตคือผู้สื่อข่าวของ นสพ.เดลินิวส์
เหตุที่คดีนี้หยุดหลังคุณยุทธพงศ์ยื่นคำร้องเข้ามา ก็เพราะ ป.ป.ช.ชุดก่อนต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จากคดีขึ้นเงินเดือนตัวเอง เมื่อ ป.ป.ช.ชุดนี้เข้ามาเมื่อปี 2549 อำนาจในการค้นหาข้อมูลยังอยู่ที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) คดีนี้จึงไปอยู่ในมือของ คตส. ก็ต้องขอบคุณ คตส.ที่พยายามแสวงหาข้อเท็จจริงจนถึงสิ้นสุด แต่ก็มีปัญหาว่า คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯกทม.จะผิดหรือไม่ผิด ก็เลยคาราคาซังแล้วส่งเรื่องมาให้ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อ โดยที่ยังไม่ได้ชี้มูลในกรณีคุณอภิรักษ์ ตอนแรกผมไม่ได้รับผิดชอบเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ กทม. แต่พูดกันไปกันมามาตกที่ผมยังไงได้ไม่รู้
ตอนที่คดีส่งมาถึงผม ผู้สื่อข่าว นสพ.เดลินิวส์ก็บอกว่ายังมีข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ผมก็บอกว่าขอให้มาให้ถ้อยคำ ซึ่งเขายินดีมาให้ถ้อยคำ ทั้งกับ ป.ป.ช.และกับศาล เป็นครั้งแรกที่สื่อมวลชนลุกขึ้นมาต่อสู้
ผู้สื่อข่าว นสพ.เดลินิวส์รายดังกล่าว ยังลงไปในพื้นที่ ถ่ายรูปรถดับเพลิงไปจนถึงชัทซีเลย ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญว่าผลิตในเมืองไทย แต่ว่าไปตั้งราคาออสเตรีย เพราะส่งกลับไปแล้วนำเข้ามาอีกครั้ง ในชื่อบริษัทสไตเออร์ แล้วต่อมาผู้สื่อข่าว นสพ.เดลินิวส์รายดังกล่าวก็ไปขอราคารถดับเพลิงจากสถานทูตสเปน ซึ่งปรากฏว่าราคาถูกกว่าที่ กทม.ซื้อจากบริษัทสไตเออร์มาก
ขณะที่คุณยุทธพงศ์เดินทางไปออสเตรีย แล้วพบว่าบริษัทสไตเออร์ไม่ได้ผลิตรถดับเพลิงต่อไปแล้ว เพราะล้มละลาย แล้วถูกเทคโอเวอร์โดยบริษัทของสหรัฐ
คดีไหนถ้าได้รับความร่วมมือจากประชาชน โอกาสจะลงโทษคนผิดอย่างครบถ้วนก็จะมากขึ้น
หลังคุณยุทธพงศ์ยื่นเรื่องร้องเรียนมายัง ป.ป.ช. ต่อมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็ยื่นเรื่องเข้ามา ปี 2551 คตส.ก็ส่งเรื่องมาให้ ป.ป.ช. ดังนั้นคดีนี้จึงไม่ได้ช้า แต่ติดกรณีคุณอภิรักษ์ จากนั้นมีการตั้งอนุกรรมการไต่สวน ชี้มูล แล้วอัยการสูงสุด (อสส.) แจ้งข้อไม่สมบูรณ์ มีการตั้งคณะทำงานร่วม ปี 2553 อสส.แจ้งมาว่าควรจะฟ้องเฉพาะนายประชา พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ซึ่งผมไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ต้องตัดข้อมูลบางส่วน เช่นการเริ่มต้นโครงการ ถ้าไม่มีคุณโภคิน พลกุล รมว.มหาดไทยสมัยนั้น ก็จะไม่รู้เลยว่ามีการเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อย่างไร
แม้ต่อมา อสส.จะอ้างว่าศาลฎีกาฯ ลงโทษแค่ 2 คนที่ อสส.ระบุว่าจะส่งฟ้อง แต่ถึงจะไม่ลงโทษ บางคนศาลก็มีมติ 5:4 เช่นคุณโภคิน คุณวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ ส่วนนายอภิรักษ์ มี 7:2 มันก็ทำให้เห็นด้วยว่าศาลก็เห็นด้วยกับเรา สิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการที่คนทำคดีจะต้องมองพฤติกรรมทั้งคดี ว่ามีพฤติกรรมอย่างไร เป็นการทุจริตเชิงนโยบายอย่างไร นี่คือเหตุที่ ป.ป.ช.ตัดสินใจฟ้องเองในปี 2554 โดยใช้สภาทนายความ มีคุณสิทธิโชค ศรีเจริญเป็นหัวหน้าทีม ซึ่งเป็นคนจริงจัง ส่งสำนวนให้ เชื่อมือได้เลย
ป.ป.ช.ส่งฟ้องเอง เมื่อปี 2555 พอถึงวันที่ 10 ก.ย.2556 ศาลฎีกาฯ ตัดสินคดี ถือว่าไม่ช้า ที่ช้าเพราะคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการกับ ป.ป.ช.ตกลงกันไม่ได้ มีการยื้อกันไปกันมา
คดีนี้ยังต้องชมนักวิชาการ ม.มหิดลที่ไปนั่งหน้าห้องคุณประชา ที่เห็นรายละเอียดโครงการแล้วทนไม่ได้เลยส่งเรื่องมาให้ผม เพราะหลายครั้งที่นักวิชาการถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทุจริตโดยไม่รู้ตัว หรือเป็น innocent agent โดยนักวิชาการรายนี้ชี้ให้เห็นว่า มีการปลอมเอกสารส่งไปให้ ครม.พิจารณา เพราะคดีนี้ ขั้นตอนการจัดซื้อต่างๆ ทั้งทำ AOU หรือทำจีทูจี จะต้องผ่าน ครม.หมด
คดีนี้เหมือนเราต่อจิ๊กซอว์ จิ๊กซอว์เริ่มต้นจากคุณยุทธพงศ์ จิ๊กซอว์ตัวที่สองคือผู้สื่อข่าว นสพ.เดลินิวส์ และจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายคือนักวิชาการหญิงท่านนี้ ที่บอกว่ายอมตาย และพร้อมจะให้ข้อมูล เพราะถ่ายเอกสารไว้ทุกชิ้น
ข้อเท็จจริงในคดีนี้ ยังทำให้ผมทราบว่าหลายครั้ง ครม.พิจารณาเอกสารที่มีการสอดไส้ เพราะในการประชุม ครม. จะมีเอกสารเยอะมาก ไม่มีเวลาอ่าน ดังนั้นรัฐมนตรีที่มีทริกจะใช้วิธีนี้ วิธีประชุม ครม.ของเราจึงอันตรายมาก ซึ่งผมมารู้เรื่องนี้สมัยทำคดีเขาพระวิหาร ที่เป็น politic error อย่างสำคัญ เพราะหมายความว่าเราควบคุมการบริหารรายการแผ่นดินแทบไม่ได้เลย เป็นจุดอ่อนสำคัญ ซึ่งตัวอดีตเลขาธิการ ครม.อย่างคุณบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็ยอมรับกับเรา ว่าแทบจะไปตรวจเอกสารที่เข็นเข้าครม.มาเป็นคันรถได้เลย เพราะบางเรื่อง พิจารณาเร็วมาก และเป็นวาระที่เสริมเข้ามา ไม่ได้บรรจุเป็นวาระปกติ
ความจริงคดีนี้ จะมีคนที่เกี่ยวข้องด้วยคือคุณวันนอร์ (วันมูฮะหมัดนอร์ มะทา) เพราะเป็น รมว.มหาดไทย มีการจัดฉากให้ไปพบกับทูตออสเตรียด้วย แต่ปรากฏว่าคุณวันนอร์ออกจากตำแหน่งเสียก่อน แล้วคุณโภคินเข้ามาแทน และคุณโภคินต้องมีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะจะเสนอเรื่องเข้า ครม.โดยไม่ผ่านคุณโภคินไม่ได้เลย เป็นเหตุให้ ป.ป.ช.ต้องส่งฟ้องคุณโภคินด้วย ทั้งๆ ที่ อสส.เสนอให้ตัดออก
ส่วนตัวเห็นว่า ผลการตัดสินคดีนี้ของศาลฎีกาฯ จะทำให้ข้อตกลงกับบริษัทสไตเออร์เป็นโมฆะ ซึ่งมีโอกาสที่ กทม.จะไม่ต้องจ่ายเงินด้วย เพราะเป็นกรณีที่บริษัทต่างประเทศมายำใหญ่ต้มคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่สอดคล้องกับกฎหมายภายในประเทศ โดยเวลานี้ กทม.จะต้องไปขึ้นศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ โดยเรามีโอกาสจะเรียกค่าเสียหายอย่างมากจากบริษัทสไตเออร์ โดยเวลานี้เราอยู่ระหว่างเจรจากับอัยการสหรัฐ เพราะบริษัทสไตเออร์เปลี่ยนสัญชาติเป็นสหรัฐแล้ว ถ้าเขาเห็นด้วย ก็จะทำให้บริษัทที่ทำธุรกิจเลวทรามเช่นนี้ได้รับผล
คดีนี้มีผู้เกี่ยวข้องครบ ทั้ง 3 ฝ่าย นักการเมือง ข้าราชการและนักธุรกิจ สามารถนำไปเป็นบทเรียนได้เลย และมีการเอา กระบวนการต่างประเทศมาย้อมแม้วขาย
มีการวางแผนให้ทูตออสเตรียมาเข้าพบ รมว.มหาดไทย และไม่ใช่ขายรถดับเพลิง แต่มาขอตั้งสถาบันดับเพลิง โดยจะมีการบาร์เตอร์เทรด แลกกับไก่ต้มสุก เพื่อทำให้โครงการดูดี ให้คนใน ครม.มองว่าเป็นเรื่องความช่วยเหลือระหว่างรัฐกับรัฐ
ผมว่าจุดเริ่มต้น คิดจากเล็ก เสร็จแล้วขยายใหญ่ เพราะคนที่คิดวางแผนไว้แล้ว และมีความชำนาญมาก โดย พล.ต.ต.อธิลักษณ์มีสัมพันธ์กับบริษัทสไตเออร์มา สนิทกับนายหน้าของบริษัทสไตเออร์ ซึ่งจริงๆ ไอ้หมอนี่เป็นตัววางแผนด้วย แต่มันไม่มีหลักฐานว่าจ่ายเงินกันยังไง จึงไม่มีการตรวจสอบเส้นทางการเงิน เนื่องจากผมไม่ได้จับคดีนี้มาแต่ต้น แค่มองว่าหลักฐานเพียงพอเผด็จศึกแล้วหรือยัง ถ้าเป็นไปตามกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่ เราจะต้องดูเรื่องเส้นทางการเงินด้วย เพราะได้รับอาณัติจากสภาฯ คือให้ ป.ป.ช.สามารถใช้อำนาจคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เรียกหลักฐานจากธนาคารได้ ในกรณีที่สงสัยว่าอาจเกี่ยวข้องกับการทุจริต ซึ่งตอนนี้เราก็ทำอยู่หลายเรื่อง เช่นคดี พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม โดยสามารถอายัดทรัพย์สินไว้ได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม คดีรถดับเพลิง ยังไม่ถือว่ายุติเสียทีเดียว เพราะเราตรวจสอบผู้บริหาร กทม.อยู่ โดยจะอาศัยคำพิพากษาศาลฎีกาฯ ไปขยายผล เพราะถ้าไม่มีบุคลากร กทม.เกี่ยวข้อง มันไม่มีทางดำเนินการได้หรอก เพราะบริษัทสไตเออร์กำหนดเรื่องการวางคณะผู้บริหาร กทม.ไปดูงานด้วย สมัยคุณสมัคร วางแผนไว้ ทั้งๆ ที่ไม่มีแม้แต่ซากของบริษัทสไตเออร์ สุดท้าย นายประชาเป็นคนพาไปดู ศาลฎีกาฯจึงเห็นว่าผิดปกติ มีพิรุธ มีข้อสงสัย
จริงๆ เราตั้งใจดำเนินคดีอดีตทูตด้วย แต่ไม่พบว่าไปอยู่ตรงไหนแล้วเพราะท่านมีส่วนสำคัญในการเข้ามาทุจริตด้วย
00000