วิกฤตการณ์อียิปต์...กระจกบานใหญ่สะท้อนปัญหาการดูแล นศ.ไทยในต่างแดน
เที่ยวบินพิเศษสายการบินไทย เที่ยวบินที่ ทีจี 8152 ซึ่งออกเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อช่วงสายของวันอังคารที่ 8 ต.ค.2556 นั้น นับเป็นเที่ยวบินประวัติศาสตร์เที่ยวบินหนึ่งก็ว่าได้ เพราะเป็นเที่ยวบินที่พานักศึกษาไทยในอียิปต์กลับไปศึกษาต่อ หลังจากรัฐบาลต้องสั่งอพยพเป็นการด่วนเมื่อกลางเดือน ส.ค.จากสถานการณ์จลาจลและสงครามกลางเมือง
การที่รัฐบาลส่งเครื่องบินของกองทัพอากาศไปรับและอพยพคนไทยออกจากประเทศต่างๆ ที่กำลังเกิดภาวะจลาจลหรือสงคราม เป็นเรื่องไม่แปลกอะไร และมีให้เห็นอยู่บ่อยๆ แต่เมื่อสถานการณ์ความวุ่นวายจบลงแล้ว และรัฐบาลยังไม่ทอดทิ้ง แถมหาเครื่องบินบินกลับไปส่งอีกเช่นนี้ ย่อมถือเป็นเรื่องแปลก เพราะน่าจะเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก
และในความแปลกที่แฝงไปด้วยความโชคดีนี้ ก็เกิดกับกลุ่มนักศึกษาไทยในอียิปต์ ซึ่งเกือบทั้งหมดมาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้...
เกิดอะไรขึ้นที่อียิปต์
18 ส.ค.2556 รัฐบาลสั่งอพยพคนไทยและนักศึกษาไทยกลุ่มแรกออกจากอียิปต์ เพื่อหลีกหนีจากเหตุจลาจลอันสืบเนื่องจากปฏิบัติการกวาดล้างผู้สนับสนุน นายโมฮัมเหม็ด มอร์ซี อดีตประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง และถูกฝ่ายทหารปลดจากตำแหน่งหลังครองอำนาจได้เพียงแค่ปีเศษ
สถานการณ์ในอียิปต์ตึงเครียดมานานนับเดือน นับตั้งแต่มีประชาชนนับล้านออกมาชุมนุมประท้วงขับไล่อดีตประธานาธิบดีมอร์ซี ด้วยข้อกล่าวหาที่ว่าเขามีแนวนโยบายเป็นเผด็จการ ต้องการคุมอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มผู้สนับสนุนเขาออกมาชุมนุมด้วย และเกิดการปะทะกันจนกองทัพต้องออกมาควบคุมสถานการณ์ กระทำการรัฐประหาร กักตัวนายมอร์ซี และแต่งตั้งประธานาธิบดีชั่วคราว
อียิปต์ตกอยู่ในห้วงของความขัดแย้งและความไม่สงบมาตั้งแต่ต้นปี 2554 ในปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "อาหรับสปริง" เมื่อผู้คนเรือนล้านออกมาประท้วงขับไล่ผู้นำเผด็จการที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานในหลายประเทศของโลกอาหรับ รวมทั้ง นายฮอสนี บูมารัค แห่งอียิปต์
และนายมอร์ซี ก็เป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มภราดรภาพมุสลิมที่เป็นหัวหอกของการประท้วงขับไล่นายบูมารัคในขณะนั้นด้วยข้อกล่าวหาเผด็จการ แต่แล้วเมื่ออียิปต์จัดให้มีการเลือกตั้ง และนายมอร์ซีก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธาธิบดีจากการเลือกตั้งได้เพียงปีเศษ ก็ถูกมวลชนออกมาประท้วงขับไล่ในข้อหาเดียวกัน กระทั่งกองทัพต้องออกมายึดอำนาจ
อยากกลับไปสานฝัน
เหตุจลาจลครั้งรุนแรงในอียิปต์ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับพันคน ทำให้รัฐบาลตัดสินใจอพยพคนไทยที่สมัครใจเดินทางกลับแผ่นดินเกิด...
ในจำนวนนี้มีนักศึกษาไทยจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนไม่น้อย ซึ่งพวกเขาได้ทะยอยกลับบ้านและคืนสู่อ้อมอกของพ่อแม่และบุคคลอันเป็นที่รักตั้งแต่หลังวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา
เมื่อสถานการณ์ในอียิปต์เริ่มนิ่งและมีเสถียรภาพมากขึ้น หลายคนโดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาจึงคิดเดินทางกลับไปศึกษาต่อ และอยากกลับไปให้ทันการสอบประจำภาคการศึกษา ราวๆ เดือน ต.ค.ด้วย
ที่ผ่านมาทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เคยจัดประชุมนักศึกษาและตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่โรงแรมเซาท์เทิร์นวิว อ.เมือง จ.ปัตตานี เพื่อสำรวจความต้องการและระดมสมองหาแนวทางช่วยเหลือ เพราะมีเด็กจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปเรียนต่อที่อียิปต์มากถึงกว่า 800 ราย
การประชุมในวันนั้น แม้ภาคราชการจะเสนอทางเลือกให้สำหรับคนที่อาจจะไม่กล้ากลับ หรือมีอุปสรรคความไม่ดวกจนไม่สามารถเดินทางกลับไปอียิปต์ได้อีกแล้ว โดยเฉพาะการโอนหน่วยกิตมายังมหาวิทยาลัยในพื้นที่ชายแดนใต้ แต่ถ้าถามใจนักศึกษาแทบทุกคนล้วนอยากกลับไปเรียนต่อให้จบ
น.ส.ซากียะ ดือราแม็ง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะดีรอซามาอิสลามิยยะห์ (อิสลามศึกษา) มหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร ประเทศอียิปต์ ซึ่งภูมิลำเนาอยู่ที่ อ.ยะรัง จ. ปัตตานี บอกว่า ขอกลับไปเรียนต่อที่อียิปต์ให้จบ
"เป็นความใฝ่ฝันมานานว่าจะต้องไปเรียนที่อียิปต์ เมื่อได้ไปเรียนจริงๆ ด้วยทุนส่วนตัวของครอบครัวก็อยากทำให้สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ เพราะการเรียนอิสลามศึกษาเชื่อมโยงกับทุกเรื่องของชีวิต สัมพันธ์กับพื้นที่ ที่นั่นคือแผ่นดินของท่านศาสดา และเป็นที่ที่มุสลิมทั่วโลกใฝ่ฝันจะไปเรียน เมื่อเรียนจบก็จะกลับมาสอนหนังสือในพื้นที่ เพราะอยากให้เด็กรุ่นหลังได้มีการศึกษาที่ดี"
"สำหรับเรื่องวุ่นวาย (สถานการณ์ความไม่สงบที่อียิปต์) ก็มีในบางพื้นที่ ส่วนภายในและรอบมหาวิทยาลัยไม่ได้มีเหตุร้ายอะไร แต่เพื่อความปลอดภัยเมื่อทางรัฐบาลไทยห่วงใยและดูแลอย่างดี บวกกับความกังวลของเราและครอบครัวจึงกลับมาตั้งหลักกันก่อน ซึ่งทางมหาวิทยาลัยก็เคารพการตัดสินใจและให้โอกาสเรา"
ขณะที่ นายยะห์ยา มะแอ เด็กหนุ่มจาก อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งเรียนจบชั้น 10 ด้านศาสนา และกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร ด้วยทุนส่วนตัว บอกเช่นกันว่า อยากกลับไปเรียนที่เดิม เพราะได้เรียนภาษาอาหรับโดยตรง
"จริงๆ แล้วสถานที่เรียนกับจุดเกิดเหตุอยู่ไกลกัน แต่ก็กลัวว่าอาจจะบานปลาย เมื่อรัฐบาลอำนวยความสะดวกให้กลับมาก่อนก็กลับมา เมื่อเหตุการณ์ดีขึ้นก็อยากกลับไปเรียนต่อให้จบ"
แม้แต่เสียงก็ผู้ปกครองอย่าง ฟาติเมาะ ยีระกูดา จาก อ.รามัน จ.ยะลา ซึ่งมีลูกเรียนชั้นปีที่ 1 ในอียิปต์ ก็ยังบอกว่า ดูข่าวแล้วรู้สึกเป็นห่วงลูก ดีใจมากที่รัฐบาลช่วยให้กลับมา ถ้าเหตุการณ์สงบก็อยากให้กลับไปเรียนต่อ
ทุ่ม 17 ล้านเช่าไฟลท์เหมาลำ
เมื่อเสียงส่วนใหญ่อยากกลับไปอียิปต์ ศอ.บต.ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงจึงเริ่มจัดทำแผนงาน...
ในการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต.เมื่อวันที่ 2 ต.ค.2556 ที่ทำเนียบรัฐบาล หนึ่งใน 5 ประเด็นสำคัญที่ กพต.อนุมัติ ก็คือเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือนักศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อพยพกลับเมืองไทยเนื่องจากเกิดเหตุจลาจลในอียิปต์ และต้องการเดินทางกลับไปศึกษาต่อที่อียิปต์ในเดือน ต.ค.รวม 849 คน โดยให้ทันการสอบประจำภาคการศึกษาที่อียิปต์ด้วย
ต่อมาวันที่ 5 ต.ค. ได้มีการประชุมเรื่องนี้กันอีกครั้งที่ห้องประชุมสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เมือง จ.นราธิวาส โดยมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง พร้อมด้วย นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. ร่วมซักซ้อมความเข้าใจ
งานนี้ ศอ.บต.ได้เสนอของบประมาณจำนวน 17 ล้านบาทเศษสำหรับอำนวยความสะดวกเรื่องการเดินทาง โดยเช่าเครื่องบินเหมาลำของการบินไทยบินตรงสู่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ทั้งนี้มีนักศึกษาไทยในอียิปต์กลุ่มแรกเดินทางไปกับเที่ยวบินพิเศษนี้เมื่อวันอังคารที่ 8 ต.ค.จำนวน 277 คน
นอกจากนั้นยังมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและผู้แทนองค์กรต่างๆ ร่วมคณะไปด้วยอีกจำนวนหนึ่ง เช่น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. นายปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการ ศอ.บต. ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา, ปัตตานี ผู้นำศาสนา องค์กรพัฒนาเอกชน และสื่อมวลชน เป็นต้น
บรรยากาศที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในวันนั้น เนืองแน่นไปด้วยนักศึกษาและบรรดาญาติพี่น้องที่ไปรอส่ง โดยสาเหตุที่ต้องมีคณะผู้บริหารระดับสูงจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เดินทางไปด้วย ก็เพื่อไปดูแลเรื่องสถานที่พักและความเป็นอยู่ ตลอดจนเยี่ยมเยียนกลุ่มนักศึกษาไทยที่ไม่ได้เดินทางกลับประเทศไทยช่วงที่มีการประท้วงรุนแรง
นายมูฮำหมัด อับดุลศอมัด หนึ่งในคณะนักศึกษาไทยที่ร่วมคณะเดินทางกลับอียิปต์ กล่าวว่า รู้สึกดีใจมาก แต่ก็ยังหวั่นใจกับสถานการณ์ ยังดีที่มีการตั้งชมรมคนไทยที่นั่น ก็คาดว่าจะช่วยดูแลกันเอง โอกาสนี้อยากฝากขอบคุณรัฐบาล และ ศอ.บต.ที่ให้ความช่วยเหลือมาตลอด หวังว่าเมื่อเรียนจบจะกลับมาพัฒนาพื้นที่บ้านเกิดโดยใช้หลักศาสนาเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเยาวชนรุ่นต่อไป
ขณะที่ นายสุกรี สุระคำแหง อดีตประธานชมรมนักศึกษาภาคใต้ตอนบนในอียิปต์ กล่าวว่า อยากขอบคุณรัฐบาล กระทรวงการต่างประเทศ และ ศอ.บต.ที่อำนวยความสะดวกตั้งแต่การไปรับกลับ ส่วนสถานการณ์ในประเทศอียิปต์นั้นจากที่ได้พูดคุยกับเพื่อนๆ ที่อยู่อียิปต์ตอนนี้ก็ดีขึ้น สำหรับมหาวิทยาลัยที่ปิดเรียนอยู่ ก็จะเปิดการเรียนการสอนอีกครั้งหลังวันอีฎิ้ลอัฎฮา (วันเฉลิมฉลองของชาวมุสลิมหลังเสร็จสิ้นพิธีฮัจญ์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย) ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1434 ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 15 ต.ค.
สร้างหอพัก-สถาบันภาษา
"ในวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ" คือสัจธรรมที่พิสูจน์ตัวเองมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน และวิกฤตการณ์ในอียิปต์ก็เช่นกัน แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับปัญหาขัดแย้งทางการเมืองในอียิปต์ แต่ "โอกาส" ที่สามารถหยิบมาขบคิดพิจารณาก็คือ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้กลายเป็น "กระจกบานใหญ่" สะท้อนปัญหาการดูแลนักศึกษาไทยและคนไทยในต่างแดนอย่างแจ่มชัดพอสมควร
พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวเอาไว้ตั้งแต่ก่อนพานักศึกษากลุ่มแรกกลับไปส่งที่อียิปต์ว่า รัฐบาลมีนโยบายสร้างหอพักสำหรับนักศึกษาไทยในประเทศอียิปต์ เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการดูแล
ไอเดียการสร้างหอพักนักศึกษาเป็นส่วนเดียวที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.วาดแผนเอาไว้ในใจ เพราะจากการเดินทางไปอียิปต์ด้วยตนเอง ทำให้เขาเตรียมเดินหน้าสร้างไม่ใช่แค่หอพักสำหรับนักศึกษาไทย แต่จะสร้าง "สถาบันภาษา" เพื่อรองรับเด็กนักเรียนจากชายแดนใต้ที่ต้องการไปศึกษาต่อในอียิปต์และประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลางซึ่งใช้ภาษาอาหรับด้วย
"การสร้างสถาบันภาษา จะสร้างที่ประเทศไทย เพื่อดูแลนักเรียนไทยที่ต้องการไปศึกษาต่อในโลกอาหรับ จะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปเรียนภาษาในต่างประเทศอีกเป็นปีๆ" พ.ต.อ.ทวี กล่าว
ดูเหมือนแผนงานด้านพัฒนาการศึกษาจะถูกวางไว้แล้วค่อนข้างครบวงจร สังเกตได้จากระยะหลังๆ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็เดินทางลงพื้นที่ถี่ยิบ ไม่นับรัฐมนตรีช่วยอย่าง นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ที่ไปเป็นประจำอยู่แล้ว
"รัฐบาลได้ทุ่มงบกว่า 300 ล้านบาทเพื่อสร้างอุทยานการเรียนรู้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สร้างศูนย์การเดินเรือปัตตานีเพื่อให้เป็นศูนย์กลางที่สำคัญด้านการคมนาคมขนส่ง และอนาคตที่คิดไว้อาจจะมีการเปิดมหาวิทยาลัยที่รับเฉพาะนักเรียนที่จบปอเนาะ รวมทั้งเปิดศูนย์เฉพาะกิจ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อพัฒนาการศึกษาและให้ความช่วยเหลือนักศึกษาที่เรียนในต่างประเทศด้วย" พ.ต.อ.ทวี กล่าว
ถือเป็น "ฝันไกล" อีกครั้งของภาครัฐที่ทุกคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยากตามฝันไปให้ถึงเสียที...
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 บรรยากาศที่อียิปต์ โดยเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอย่างปิระมิดยังค่อนข้างร้างผู้คนจากความไม่เชื่อมั่นเรื่องสถานการณ์ความไม่สงบที่ยือเยื้อ (ภาพโดย นาซือเราะ เจะฮะ)
2-3 น้ำตาแห่งการจากลาที่ท่าอากาศสุวรรณภูมิ ในวันที่ ศอ.บต.พานักศึกษาไทยบินกลับไปส่งที่อียิปต์ (ภาพจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ ศอ.บต.)
อ่านประกอบ : บัวแก้วสั่งอพยพคนไทยในอียิปต์ล็อตแรก 18 ส.ค. http://bit.ly/19jkwP1