สถาปัตย์ มจธ. คิด “เครื่องประเมินเสี่ยงสรีระ” ลดปัญหาออฟฟิศซินโดรม
“ออฟฟิศซินโดรม” ได้กลายเป็นโรคสามัญประจำออฟฟิศของใครหลายคนไปแล้วโดยเฉพาะหนุ่มสาวที่ต้องนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานคงรับรู้อาการของโรคนี้ดี นายเชาวลิต สืบแสงอินทร์ นักศึกษา ป.โท สาขาการออกแบบและวางแผน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นคนหนึ่งที่ให้ความสนใจในเรื่องนี้ นำความรู้ด้านวิศวกรรมผนวกเข้ากับงานออกแบบพัฒนา “เครื่องประเมินความเสี่ยงในการทำงานของผู้พิการและบุคคลทั่วไปที่ใช้ร่างกายส่วนบน” เป็นหลัก ซึ่งได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
นายเชาวลิต กล่าวว่า เครื่องมือใช้ในการประเมินความเสี่ยงของสรีระส่วนบนระหว่างการทำงานสำหรับผู้พิการที่นั่งรถเข็น พนักงานออฟฟิศที่นั่งทำงานกับคอมพิวเตอร์ทั้งวัน และพนักงานโรงงานที่ต้องทำงานซ้ำๆ จนส่งผลให้เกิดอาการเมื่อยล้าที่แขน คอ และไหล่ เครื่องมือดังกล่าวประกอบด้วยกล้องจับเซ็นเซอร์ 2 ตัวซึ่งใช้พื้นฐานการประเมินร่างกายส่วนบน Rapid Upper Limp Assessment (RULA) เพื่อตรวจสอบโครงสร้าง Skeleton ของร่างกายแบบ real time ว่ามีการบิดรูปร่างระหว่างนั่งทำงานหรือไม่ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดเมื่อยต่างๆ จากนั้นประเมินค่าความเสี่ยงออกมาเป็นตัวเลข 1-7 เมื่อค่าความเสี่ยงถูกประเมินออกมา วิศวกรหรือนักออกแบบก็มีหน้าที่เข้าไปปรับปรุงสถานีงาน อย่างโต๊ะทำงาน ระดับการวางคอมพิวเตอร์ หรือเครื่องมือต่างๆ ให้สอดคล้องกับสรีระของผู้ปฏิบัติงานและเป็นไปตามหลักการยศาสตร์มากที่สุด และส่วนตัวผู้ปฏิบัติงานเองก็จะได้ปรับพฤติกรรมท่าทางในการทำงานให้เหมาะสมเช่น การนั่งหลังตรงและปรับเปลี่ยนอิริยาบทในการทำงานทุกๆ 2 ชั่วโมง เป็นต้น
เครื่องประเมินความเสี่ยงระหว่างนั่งทำงานถูกพัฒนาขึ้น เพื่ออำนวยการทำงานของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย โดยนำเครื่องประเมินความเสี่ยงไปติดตั้งบริเวณเครื่องจักร ติดกล้องไว้สองข้างลำตัวของผู้ปฏิบัติงานซึ่งจากการทดสอบพบว่าให้ค่าที่เที่ยงตรงกว่ามุมอื่นๆ และมีค่าความผิดพลาดไม่เกิน 10 องศาจากอุปกรณ์วัด แต่ที่สำคัญคือให้ค่าที่แม่นยำกว่าการประเมินด้วยสายตามนุษย์และการจดบันทึกด้วยมืออย่างแน่นอน
“ ปัจจุบันสถานประกอบการในไทยได้มีการประเมินความเสี่ยงในการทำงานของพนักงานอยู่บ้างแต่เป็นการประเมินจากสายตาซึ่งความแม่นยำไม่มากนัก ดังนั้นเป้าหมายจริงๆ ที่เราพัฒนาซอฟต์แวร์นี้ขึ้นมาเพราะหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของบริษัท ผู้ประกอบการโรงงาน ที่มีความใส่ใจในความปลอดภัยหรือสุขลักษณะของพนักงานนำไปใช้ ซึ่งปกติเครื่องมือแบบนี้ในต่างประเทศมีใช้กันทั่วไปแต่มีราคาสูงถึงเกือบสิบล้านบาท แต่เครื่องมือที่เราพัฒนาขึ้นนั้นราคาไม่สูง คนไทยใช้ได้ อยู่ที่หลักหมื่นต้นๆ เท่านั้นเอง”
ผศ.ดร.สกล ธีระวรัญญู รองคณะบดีฝ่ายวิชาการ คณะสถาปัตยฯ มจธ. อาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัยกล่าวเสริมว่า ผลงานชิ้นนี้สามารถใช้งานได้แล้วแต่ยังไม่สมบูรณ์แบบเพราะยังต้องพัฒนาในส่วนของการจับเซ็นเซอร์บริเวณข้อมือลงไปจนถึงนิ้วให้มีความแม่นยำมากขึ้น เพราะในคนทำงานที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวันเสี่ยงต่อการเป็นโรค Carpal tunnel syndrome ดังนั้นการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดกับบริเวณข้อมือและนิ้วก็ถือว่าสำคัญเช่นกัน อีกทั้งยังต้องพัฒนาซอฟต์แวร์ให้สามารถประเมินความเสี่ยงของการทำงานในท่ายืน และจะพัฒนาให้เป็นซอฟแวร์จับเซ็นเซอร์ที่สามารถจับท่าทางของมนุษย์แล้วแปลเป็นคำสั่งต่างๆ เช่น การสวิทต์ไฟ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ได้ต่อไป