“อยากให้ผู้ใหญ่ฟังเสียงของเด็กบ้าง” เสียงสะท้อนเด็กมหาอุทกภัย 54
“อยากให้ผู้ใหญ่ฟังเสียงของเด็กบ้าง” เสียงสะท้อนจากกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ฝากถึงผู้ใหญ่ในชาติ เพื่อสื่อความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์มหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 ภายหลังต้องเผชิญกับความยากลำบาก ปรากฏเป็นเสียงส่งท้ายในสารคดีวิจัย ‘เสียงสะท้อนจากเด็กในพื้นที่น้ำท่วม 2554’ โดยมูลนิธิรักษ์ไทย ภายใต้การสนับสนุนขององค์การยูนิเซฟ
โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้รวบรวมความคิดเห็นและประสบการณ์ของเด็กและเยาวชนที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมเมื่อปี 2554 กว่า 500 คนใน จ. ลพบุรี อยุธยา และกรุงเทพมหานคร ผ่านการวาดรูป ระบายสี การใช้บัตรภาพและการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก
“ผลวิจัยพบว่าเด็ก ๆ ส่วนใหญ่รู้สึกเบื่อและเครียดในช่วงน้ำท่วม และต้องการให้รัฐและชุมชนจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ให้กับพวกเขาในช่วงวิกฤตนี้ ความเบื่อและเครียดทำให้เด็กจำนวนมากลงเล่นน้ำทั้ง ๆ ที่ว่ายน้ำไม่เป็น ส่งผลให้มีเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำเป็นจำนวนมาก”
กานดา สุทธานันต์ เจ้าหน้าที่บริหารโครงการติดตามและประเมินผล องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ระบุยูนิเซฟเห็นความสำคัญในเรื่องเด็กมาก ซึ่งจากกรณีเกิดน้ำท่วมขึ้น จะเห็นการปฏิบัติของรัฐเน้นกลุ่มอื่นค่อนข้างมาก แต่เด็กที่ถูกจัดเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวยังขาดการปฏิบัติที่ชัดเจน ยูนิเซฟเราเลยต้องการได้ยินเสียงของเด็กโดยตรงว่ามีความต้องการอย่างไร
“การทำวิจัยครั้งนี้มีส่วนสำคัญมาก เพราะเสียงของเด็กสามารถทำให้เรารู้ได้ว่าเราจะออกแบบวิธีการอย่างไรที่จะเตรียมพร้อมสำหรับน้ำท่วมครั้งต่อไป” เจ้าหน้าที่ยูนิเซฟ กล่าว และว่าสำคัญที่สุด คือ ผู้ใหญ่ทุกคนจะทำอย่างไรที่รับฟังเสียงจากเด็กแล้วนำไปปฏิบัติและเตรียมพร้อม เพื่อให้เด็กรู้สึกว่าสิ่งที่ได้พูดออกมานั้นพวกเรารับฟังและทำตามความต้องการได้
ด้านพร้อมบุญ พานิชภักดิ์ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่า วิธีการแสดงความคิดเห็นของเด็กกับผู้ใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย เราจึงใช้การวาดภาพเป็นตัวนำ ข้อมูลจากภาพวาดและข้อมูลจากการพูดคุย เราก็ค่อย ๆ ไปตั้งคำถามที่มีความเจาะจงมากขึ้น และมารวมกันให้ได้ความคิดของเด็กและข้อสรุป โดยสิ่งที่เด็กบ่นมากที่สุดคือเบื่อ ซึ่งความเครียดเหล่านี้ล้วนมาจากผู้ใหญ่ทั้งสิ้น
"""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""
เวลาล่วงมา 2 ปี เหตุการณ์อุทกภัยได้อุบัติอีกครั้งในปี 2556 จนสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ต่าง ๆ เป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะสุรินทร์ ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เสียงสะท้อนความต้องการจากเด็กในสารคดีวิจัยชิ้นนี้คงจะเป็นแนวทางให้กับผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนำไปปฏิบัติได้บ้าง...อย่างน้อยเพื่อเด็กจะได้มีชีวิตและสิทธิพึงได้ภายใต้ภัยพิบัติทางธรรมชาติเช่นนี้ .
|