ฟังเหตุผลศาลฎีกาฯ ทำไม “อภิรักษ์” ไม่ผิดคดีรถดับเพลิง ?
เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาฯ คดีรถดับเพลิง เหตุใด “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” อดีตผู้ว่าฯ กทม.จึงพ้นผิด ไม่ถูกลงโทษ ???
วานนี้ (10 ต.ค.2556) เว็บไซต์ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้เผยแพร่คำวินิจฉัยในคดีหมายเลขดำที่ อม.5/2554 คดีหมายเลขแดงที่ อม.7/2556 หรือคดีทุจริตการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของ กทม.มูลค่ากว่า 6,687 ล้านบาท ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นฟ้อง
- นายโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย จำเลยที่ 1
- นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย จำเลยที่ 2
- นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ จำเลยที่ 3
- พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีต ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. จำเลยที่ 4
- บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอย เอจี แอนด์ โค เคจี ของออสเตรีย จำเลยที่ 5
- นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการ กทม. จำเลยที่ 6
ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว)
ซึ่งศาลฎีกาฯ ได้มีคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 10 ก.ย.2556 ที่ผ่านมา ให้จำคุกนายประชา เป็นเวลา 12 ปี และจำคุก พล.ต.ต.อธิลักษณ์ เป็นเวลา 10 ปี
ส่วนนายโภคิน นายวัฒนา และนายอภิรักษ์ ไม่พบว่าหลักฐานการกระทำความผิด ให้ยกฟ้อง
ขณะที่บริษัทสไตเออร์ฯ ไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาคดีครั้งแรก จึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
(อ่านข่าว หนีทั้งคู่!! ศาลฎีกาฯ จำคุก "ประชา" 12 ปี "อธิลักษณ์" 10 ปี คดีรถดับเพลิง 6 พันล้าน)
ทั้งนี้ หนึ่งในจำเลยที่สาธารณชนยังตั้งข้อสงสัย ว่าเหตุใดจึงพ้นผิดในคดีนี้ ได้แก่นายอภิรักษ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)
“สำนักข่าวอิศรา” จึงขอสรุปสาระสำคัญจากคำพิพากษาคดีดังกล่าว ในส่วนของนายอภิรักษ์ ว่าเพราะอะไรศาลฎีกาฯ ถึงยกฟ้อง
(จากคำพิพากษาคดีดังกล่าว ระหว่างหน้า 70-81)
...ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 6 (นายอภิรักษ์) ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยการมีคำสั่งออกหนังสือถึงธนาคารกรุงไทยขอเปิด L/C ให้แก่จำเลยที่ 5 (บริษัทสไตเออร์ฯ) เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและ กทม.และโดยทุจริตหรือไม่ เห็นว่า ก่อนจำเลยที่ 6 เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. จำเลยที่ 6 รับทราบแล้วว่ามีการกล่าวหาว่ามีการทุจริตเกี่ยวกับการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของ กทม.โครงการนี้ โดยได้ความจากนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ส.ส.ปชป. ว่า ปชป.ได้มอบหมายให้นายยุทธพงศ์ตรวจสอบติดตามโครงการนี้ ซึ่งพบข้อพิรุธและเบาะแสการทุจริต และนายยุทธพงศ์ได้ยื่นกระทู้ถามผู้เกี่ยวข้องในสภา
...อีกทั้งเมื่อจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นผู้สมัคร ปชป.ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. นายยุทธพงศ์ยังไปพบและแจ้งเบาะแสการทุจริตในเรื่องดังกล่าวแก่จำเลยที่ 6 ในการประชุมพรรคอีกด้วย นอกจากนี้ได้ความจากนายบัญญัติ บรรทัดฐาน รองประธานที่ปรึกษาปชป. ว่าเคยแจ้งจำเลยที่ 6 แล้วว่า มีเบาะแสกล่าวกาการจัดซื้อในโครงการดังกล่าวว่ามีราคาสูง การดำเนินโครงการมีการเร่งรีบลงนามในสัญญาและมีข้อกล่าวหาว่าน่าจะมีการทุจริต ให้จำเลยที่ 6 เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว ถ้ายังไม่เปิด L/C ก็ไม่ควรเปิด และให้ต่อรองราคาจนถึงที่สุดด้วย
...ดังนั้น ในวันที่ 9 ก.ย.2547 หลังการฟังบรรยายสรุปงานของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.แล้ว จำเลยที่ 6 ได้สั่งการให้จำเลยที่ 4 (พล.ต.ต.อธิลักษณ์) หาราคาเปรียบเทียบของรถดับเพลิงที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เคยจัดซื้อทันที แต่จำเลยที่ 4 กลับมารายงานว่าราคาที่ซื้อจากจำเลยที่ 5 แพงกว่าที่ สตช.เคยจัดซื้อเมื่อปี 2540 เพียงร้อยละ 14.58
...นอกจากนี้จำเลยที่ 6 ยังขอให้กระทรวงมหาดไทยตรวจสอบและพิจารณาทบทวนการจัดซื้อรถดับเพลิงและอุปกรณ์ โดยให้เหตุผลว่า ตามข้อกำหนด A.O.U. ไม่เปิดช่องให้ กทม.สามารถทบทวนเปรียบเทียบราคาของสินค้าตามข้อตกลงที่ลงนามไปแล้วกับราคาสินค้าจากแหล่งผลิตอื่นได้
...แต่นายสมศักดิ์ คุณเงิน ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.มหาดไทย ปฏิบัติราชการแทนเลขานุการ รมว.มหาดไทย ได้มีหนังสือลงวันที่ 1 ต.ค.2547 แจ้งตอบกลับมายังจำเลยที่ 6 ว่า จำเลยที่ 2 (นายประชา) รมช.มหาดไทย ปฏิบัติราชการแทน รมว.มหาดไทยพิจารณาบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.173 ของจำเลยที่ 6 แล้ว เห้นว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากโครงการดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาจาก ครม.มาเป็นลำดับ และได้มีการลงนามใน A.O.U. และสัญญาจัดซื้อแล้ว รวมทั้งจำเลยที่ 5 ก็ได้ลงนามในสัญญาการซื้อต่างตอบแทนกับกรมการค้าต่างประเทศแล้ว จึงเห็นควรเร่งรัดดำเนินการเปิด L/C เพื่อให้เป็นไปตาม A.O.U. และสัญญาจัดซื้อดังกล่าว
...เมื่อวันที่ 12 ต.ค.2547 หลังจากที่นายยุทธพงศ์ส่งราคารถดับเพลิงของสเปนมาให้เปรียบเทียบและมีหนังสือร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. จำเลยที่ 6 ก็ได้มีหนังสือขอให้จำเลยที่ 1 (นายโภคิน) รมว.มหาดไทย พิจารณาทบทวนการจัดซื้อรถดับเพลิงจากออสเตรีย โดยจำเลยที่ 6 ได้ทำบันทึกข้อความเท้าความทักท้วงถึงขั้นตอนการจัดซื้อและลงนาในสัญญาที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมขอให้ รมว.มหาดไทยพิจารณาทบทวนการจัดซื้อรถดับเพลิงดังกล่าว แต่กระทรวงมหาดไทยแจ้งตอบให้ กทม.ทราบว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะโครงการได้ผ่านการพิจารณาของ ครม. และได้มีการลงนามใน A.O.U. และสัญญาขจัดซื้อแล้ว ขึงขอให้ กทม.เร่งรัดการเปิด L/C ให้แก่จำเลยที่ 5
...ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2547 ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะมีหนังสือกระทรวงมหาดไทย เอกสารหมาย จ.178 แจ้งให้จำเลยที่ 6 ดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขใน A.O.U. ต่อไปนั้น นายสมศักดิ์ คุณเงิน ยังมีหนังสือถึงจำเลยที่ 6 เร่งรัดให้ กทม.ดำเนินการเปิด L/C โดยเท้าความถึงกรณีที่เอกอัครราชทูตออสเตรีย มีหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย ว่า กทม.ยังมิได้ทำการเปิด L/C ตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา จึงขอให้ติดตามผลการดำเนินการดังกล่าว เพื่อมิให้เกิดความล่าช้า และอาจเป็นการผิดสัญญา อันอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จำเลยที่ 2 จึงขอให้ กทม.เร่งเปิด L/C โดยด่วน โดยมีหนังสือลงวันที่ 16 ธ.ค.2547 ถึงจำเลยที่ 6 ให้รีบดำเนินการ
...ส่วนประเด็นที่ว่า กทม.ต้องผูกพันตามข้อตกลงซื้อขายในการเปิด L/C แก่จำเลยที่ 5 หรือไม่นั้น นายสุวิทย์ ศิลาทอง ผอ.กองกฎหมายและคดี กทม.ได้ยืนยันในการประชุมคณะผู้บริหาร กทม. เมื่อวันที่ 23 ก.ย.2547 ว่า กทม.จำเป็นต้องเปิด L/C เพื่อปฏิบัติตามข้อตกลงซื้อขายภายในวันที่ 26 ก.ย.2547 หากไม่สามารถดำเนินการได้ ก็ต้องตกลงขยายเวลากับจำเลยที่ 5 ซึ่งหมายความว่าข้อตกลงซื้อขายที่ได้ลงนามกันมีผลบังคับคู่สัญญาให้ต้องปฏิบัติแล้ว
...และข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการไต่สวนว่าในช่วงระยะเวลาที่จำเลยที่ 6 เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.จนถึงวันที่จำเลยที่ 6 เปิด L/C ให้แก่จำเลยที่ 5 ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าโครงการดังกล่าวมีการทุจริตและจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นคู่สัญญามีส่วนร่วมในการทุจริตด้วย อันจะเป็นเหตุให้ถือว่าข้อตกลงซื้อขายนั้นเป็นโมฆะและ กทม.ไม่ต้องผูกพันที่จะต้องเปิด L/C ให้แก่จำเลยที่ 5
...กทม.จึงมีภาระผูกพันที่จะต้องเปิด L/C ให้แก่จำเลยที่ 5 ตามข้อตกลงในขณะนั้น ซึ่งหากจำเลยที่ 6 ไม่ยอมเปิด L/C ให้แก่จำเลยที่ 5 แล้ว กทม.ก็อาจถูกจำเลยที่ 5 ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายตามสัญญาได้ และจำเลยที่ 6 ก็อาจมีความรับผิดชอบเป็นส่วนตัวต่อกรณีดังกล่าว โดยอาจถูกปลดพ้นจากตำแหน่งหรือดำเนินคดีอาญาได้
...ในเมื่อจำเลยที่ 6 ได้พยายามให้มีการเปรียบเทียบราคา รวมทั้งได้เพียรพยายามร้องขอให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาทบทวนโครงการ แต่ไม่สามารถทำได้ กลับมีการเร่งรัดให้เปิด L/C จากกระทรวงมหาดไทยและจำเลยที่ 5 มาโดยตลอด จำเลยที่ 6 จึงได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณารายละเอียดโครงการดังกล่าว โดยมีนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ เป็นประธาน ขึ้นมาเพื่อเจรจาต่อรองสิทธิประโยชน์ต่อๆ กับจำเลยที่ 5 จน กทม.ได้รับประโยชน์เพิ่มเติมถึง 250 ล้านบาทนับได้ว่า จำเลยที่ 6 ได้พยายามดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ที่จำเป็นอย่างเต็มที่เพื่อรักษาประโยชน์แก่ กทม.แล้ว
...มีเหตุผลให้รับฟังตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 6 ว่าการเปิด L/C ให้แก่จำเลยที่ 5 นั้น จำเลยที่ 6 ได้ใช้ดุลยพินิจกระทำไปบนพื้นฐานของข้อมูลและข้อเท็จจริงเท่าที่อยู่ในขณะนั้นตามความเข้าใจที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในข้อตกลงที่กระทรวงมหาดไทยเร่งรัดมา
...องค์คณะผู้พิพากษาโดยเสียงข้างมากจึงมีมติว่าข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 6 ได้กระทำโดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ กทม.หรือโดยเจตนาทุจริตเพื่อประโยชน์แก่จำเลยที่ 5 แต่อย่างใด
- อ่านคำพิพากษาคดีดังกล่าว ฉบับเต็มได้ ที่นี่