เอ็กซ์คลูซีฟ:เปิดผลสอบป.ป.ท.ขุดรากถอนโคนขบวนการโกงภาษีนำเข้ารถหรู
เอ็กซ์คลูซีฟ :เปิดผลสอบ ป.ป.ท. ขุดรากถอนโคนขบวนการโกงภาษีนำเข้ารถหรู ทำประเทศชาติเสียหายหมื่นล้าน - โยงเจ้าหน้าที่รัฐเอี่ยว?
กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติแต่งตั้งให้นายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีการเลี่ยงภาษีนำเข้ารถยนต์หรูจากต่างประเทศ โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเชิญพยานที่เกี่ยวข้องมาสอบปากคำ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ข้อมูลสำคัญที่ ป.ป.ช.นำมาใช้เป็นแนวทางการสอบสวนคดีนี้ คือ ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในยุคที่ พ. ต.อ. ดุษฎี อารยวุฒิ ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการ ป.ป.ท.
ทั้งนี้ ในรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ป.ป.ท. ระบุว่า จุดเริ่มต้นในการตรวจสอบเรื่องนี้ มาจากกลุ่มผู้ที่ใช้นามว่า “กลุ่มผู้ประกอบการนำเข้ารถยนต์มินิคูเปอร์ที่ถูกต้อง” ได้ทำเรื่องร้องเรียนมายัง ป.ป.ท. กล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐทำการทุจริตต่อหน้าที่ กรณีผู้นำเข้ารถยนต์อิสระนำเข้ารถยนต์นั่งใหม่จากต่างประเทศ มีพฤติการณ์หลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร ทำให้ผู้ประกอบการที่เสียภาษีถูกต้องได้รับผลกระทบและสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับผู้นำเข้าอิสระ และจากกรณีดังกล่าวทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีเป็นจำนวนมาก
โดยผู้ร้องได้ให้ข้อเท็จจริงว่าผู้นำเข้ารถยนต์อิสระในประเทศไทย ได้สั่งนำเข้ารถยนต์หรูจากต่างประเทศ ซึ่งในการนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศผู้นำเข้ารถยนต์อิสระได้สำแดงเท็จเกี่ยวกับใบขนส่งสินค้ารถยนต์ โดยได้สำแดงราคานำเข้ารถยนต์ต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อให้ตนเองเสียภาษีน้อยลง
จากการพิจารณาในขนสินค้าและแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม พบว่าตัวแทนนำเข้าได้นำเข้ารถยนต์ยี่ห้อมินิคูเปอร์ ในรุ่นเอสอาร์เอชดี ปี ค.ศ.2010 ราคา 16,125 ยูโร คิดเป็นเงินไทย 712,779.76 บาท เมื่อรวมภาษีทุกรายการต้องเสียภาษีเป็นเงิน 1,336,196.10 บาท
ขณะเดียวกันผู้นำเข้ารถยนต์อิสระได้นำเข้ารถยนต์รุ่นและปีเดียวกัน และได้สำแดงราคาเท็จว่ารถยนต์รุ่นดังกล่าว มีราคา 12,326 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 400,225.22 บาท และเมื่อคำนวณภาษีที่ต้องเสียทุกประเภททำให้รถยนต์คันดังกล่าว เสียภาษีเพียง760,272.97 บาท
ซึ่งในการเสียภาษีเจ้าหน้าที่รัฐ ทราบดีอยู่แล้วว่ารถยนต์ดังกล่าวมีราคาเท่าใด แต่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริตต่อหน้าที่ ยอมให้ผู้นำเข้ารถยนต์อิสระสำแดงราคาเท็จทำให้ผู้นำเข้ารถยนต์อิสระสามารถนำรถเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยได้โดยเสียภาษีเพียงเล็กน้อย ทำให้รัฐสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก
หลังได้รับการร้องเรียนเรื่องนี้ ป.ป.ท. ได้ดำเนินการตรวจสอบว่ากรณีข้างต้นมีข้อเท็จจริงเป็นประการใด ในระหว่างตรวจสอบได้มีผู้ส่งข้อมูลการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐตลอดมา
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยมีหนังสือขอเอกสารไปยังหน่วยงานรัฐ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอรายละเอียดเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานการนำเข้ารถยนต์ทุกยี่ห้อและหลักฐานของผู้นำเข้า รวมทั้งรายละเอียดของผู้นำเข้า ได้ข้อเท็จจริงดังนี้
1. บริษัทผู้นำเข้าบางรายไม่มีอยู่จริง
ผู้นำเข้าอิสระดำเนินการจดทะเบียนตั้งบริษัทเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งบริษัทที่จัดตั้งได้กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ตามแบบฟอร์มของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลายอย่างรวมทั้งวัตถุประสงค์ในการนำเข้าและจำหน่ายรถยนต์ด้วย แต่บริษัทผู้นำเข้าดังกล่าวไม่มีธุรกิจในการจำหน่ายรถยนต์จริง กล่าวคือ จดทะเบียนก่อตั้งบริษัทเพื่อเป็นการนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศเท่านั้น โดยดูจากที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบริษัทดังกล่าวจะไม่มีอยู่จริง หรือก็มีเพียงที่พักอาศัยไม่เป็นสำนักงาน เช่น เป็นแฟลตภายในชุมชน เป็นที่ตั้งของบริษัทรักษาความปลอดภัยเป็นร้านขายของชำ หรือเป็นอาคารร้าง
เบื้องต้นพบว่ามีบริษัทนำเข้าอิสระจำนวน 205 บริษัท บางบริษัทมีข้อมูลว่าได้หยุดกิจการไปแล้ว แต่ยังมีหลักฐานการนำเข้ารถยนต์มาจากต่างประเทศ กรณีดังกล่าวหากมีความจำเป็นต้องเรียกเก็บภาษีเพิ่มจากบริษัทผู้นำเข้าก็จะไม่สามารถเรียกเก็บได้ เนื่องจากบริษัทข้างต้นไม่มีตัวตนหรือปิดกิจการไปแล้ว
หลังจากนั้นกลุ่มผู้นำเข้าก็จะใช้ชื่อบริษัทที่จัดตั้งขึ้นโดยไม่ได้ประกอบธุรกิจดังกล่าว สั่งซื้อและนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศ ส่วนมากเป็นรถยนต์หรู ที่ผลิตในยุโรปหลายยี่ห้อ เช่น เบนซ์ พอร์ช เฟอร์รารี่ เบนท์ลีย์
โดยสั่งนำเข้าจากประเทศอังกฤษและอีกส่วนหนึ่งเป็นการสั่งนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งรถยนต์ที่นำเข้าดังกล่าวเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย จะถูกเก็บไว้ที่คลังสินค้าทัณฑ์บนของกรมศุลกากร หรือสถานที่ที่ได้รับอนุญาตจากกรมศุลกากรให้จัดทำเป็นคลังสินค้าทัณฑ์บน และเมื่อมีลูกค้าต้องการซื้อรถคันใด กลุ่มผู้นำเข้าดังกล่าวก็จะขายรถยนต์ให้กับลูกค้าและนำรถยนต์ที่นำเข้าดังกล่าวไปเสียภาษี
2.มีการสำแดงราคารถยนต์ที่นำเข้าต่ำกว่าความเป็นจริง
การเสียภาษีของกลุ่มผู้นำเข้า จะดำเนินการโดยผู้แทนดำเนินการพิธีการทางศุลกากร (ชิ้ปปิ้ง) ซึ่งในขั้นตอนดังกล่าวกลุ่มผู้นำเข้าและชิ้ปปิ้ง จะร่วมกันสำแดงราคานำเข้ารถยนต์ที่นำเข้าจากต่างประเทศต่ำกว่าความเป็นจริง ด้วยการทำปลอมใบขนสินค้าขึ้นใหม่ (invoice) ซึ่งใบอินวอยด์ดังกล่าว จะสำแดงราคารถยนต์ต่ำกว่าความเป็นจริงที่ผู้นำเข้าได้ซื้อมาจากประเทศอังกฤษ ตัวอย่าง บริษัท “A” (ตัวย่อ) ซึ่งเป็นผู้นำเข้าอิสระ นำเข้ารถยนต์ ยี่ห้อ เฟอร์รารี่ รุ่น แคลิฟอเนีย รุ่นปี ค.ศ.2009 แต่ในใบขนสินค้า ระบุว่า เป็นรถยนต์ ปี ค.ศ.2008 ซึ่งในปีที่ผู้นำเข้าอิสระระบุในใบขนสินค้ารถยนต์รุ่นดังกล่าว ยังไม่ได้ผลิตออกมาจำหน่าย โดยสั่งซื้อจากบริษัท “O” (ตัวย่อ) ในประเทศอังกฤษ โดยในขนสินค้าได้ระบุราคารถยนต์ ในเทอมของ CIF ไว้เป็นเงิน จำนวน 70,550 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยในขณะนั้นเป็นเงิน 2,287,463.82 บาท และเมื่อนำรถยนต์คันดังกล่าวไปเสียภาษีโดยคำนวณภาษีทุกประเภทแล้วเป็นเงิน 7,502,879 บาท
ในขณะเดียวกัน บริษัท “K” (ตัวย่อ) ซึ่งเป็นตัวแทนผู้นำเข้ารถยนต์ยี่ห้อดังกล่าว นำรถยนต์รุ่นเดียวกัน ประเภทเดียวกัน และในระยะเวลาเดียวกัน ได้ระบุราคารถยนต์ในใบขนสินค้า ในเทอมของ CIF ไว้เป็นเงิน จำนวน 111,187 ยูโร คิดเป็นเงินไทยในขณะนั้น เป็นเงิน 5,140,123 บาท และเมื่อนำรถยนต์คันดังกล่าว ไปเสียภาษีโดยคำนวณภาษีทุกประเภทแล้ว เป็นเงิน 16,859,601 บาท เมื่อเปรียบเทียบรถทั้งสองคันแล้วทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษี เป็นเงิน 9,356,722 บาท ต่อรถยนต์ 1 คัน
3.มีการทำปลอมใบขนสินค้า
การที่ผู้นำเข้าอิสระ สามารถสำแดงราคารถยนต์นำเข้าต่ำกว่าความเป็นจริงได้ มีสาเหตุจากผู้นำเข้าอิสระมีการทำใบขนสินค้าปลอม โดยการปลอมใบขนสินค้าขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งใบขนสินค้าที่ทำปลอมขึ้นใหม่นี้ จะสำแดงราคารถยนต์ตามที่ผู้นำเข้าอิสระต้องการว่าจะให้รถยนต์คันดังกล่าว มีราคานำเข้าจำนวนเท่าใด ส่วนมากผู้นำเข้าอิสระ จะสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริงประมาณ 1-2 เท่า และมีการเปลี่ยนสกุลเงิน เช่นจากสกุลเงินยูโรเป็นเหรียญสหรัฐ ซึ่งกรณีดังกล่าว สังเกตได้จากใบขนสินค้าว่า บริษัทผู้ส่งออกในประเทศอังกฤษรายเดียวกัน
แต่มีแบบฟอร์มของใบขนสินคาแตกต่างกันรวมทั้งลักษณะลายเซ็นของผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อในใบขนสินค้าจะลงลายมือชื่อแตกต่างกัน และเมื่อขอข้อมูลไปยังประเทศอังกฤษได้รับการยืนยันว่ามีบางบริษัทไม่เคยขายสินค้าให้กับผู้นำเข้าอิสระในประเทศไทย จึงแสดงให้เห็นว่าใบขนสินค้าดังกล่าวเป็นใบขนสินค้าที่ทำปลอมขึ้น
4.ทำให้รัฐเกิดความเสียหายประมาณ 10,000 ล้านบาท/ปี
ความเสียหายที่ได้รับทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีในกรณีข้างต้นประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากการสอบสวนพบว่ามีรถยนต์นำเข้าในกรณีดังกล่าวมากกว่า 7,000 คันต่อปี และรถยนต์คันหนึ่งมีการหลีกเลี่ยงภาษีประมาณ 800,000 บาท ถึง 9,000,000 บาทต่อคัน แล้วแต่ชนิดของรถยนต์ และเมื่อตรวจพบในภายหลัง รัฐไม่สามารถติดตามเรียกเก็บภาษีส่วนที่ขาดไปจากบริษัทผู้นำเข้าอิสระดังกล่าวได้ เนื่องจากบริษัทดังกล่าวไม่มีตัวตน บางบริษัทจะปิดตัวและไปเปิดตัวเป็นบริษัทใหม่ต่อเรื่อยๆ
5.จากการสืบสวนประสานงานกับเจ้าหน้าที่สถานทูตอังกฤษ เบื้องต้นมีหลักฐานว่า บริษัท “A” (ตัวย่อ) ในประเทศอังกฤษ ได้ขายรถยนต์ ยี่ห้อเมอร์เซเดส-เบนซ์ ClS 350 ให้กับบริษัท “B” (ตัวย่อ) ในประเทศไทย บริษัท “A” (ตัวย่อ)ในประเทศอังกฤษ ได้สำแดงราคารถยนต์คันดังกล่าว ต่อศุลกากรอังกฤษ ในราคา 55,000 ปอนด์ แต่รถยนต์คันเดียวกัน กลับมีใบขนสินค้า สำแดงราคาในประเทศไทยว่าบริษัท “A” (ตัวย่อ) ขายให้กับ บริษัท “B” ในราคา 25,260 เหรียญสหรัฐ ซึ่งจะเห็นได้ว่าใบขนสินค้าได้สำแดงราคาต่ำ และมีการเปลี่ยนสกุลเงินจากปอนด์เป็นเหรียญสหรัฐ
พฤติการณ์ดังกล่าวเชื่อว่ามีการทำเป็นขบวนการ ระหว่างผู้นำเข้าอิสระในประเทศไทย กับบริษัทผู้ส่งออกในประเทศอังกฤษ โดยเจ้าหน้าที่รัฐ มีส่วนรู้เห็นหรือให้ความสะดวกในการรับราคาตามที่ผู้นำเข้ารถยนต์อิสระสำแดงราคา
6.จากการตรวจสอบใบขนสินค้า และเอกสารใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่ม เบื้องต้นพบว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการรับราคารถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศของผู้นำเข้าอิสระที่สำแดงราคาต่ำ เป็นเหตุให้รัฐต้องสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษี จำนวน 108 ราย อันอาจเข้าข่ายกระทำหรือไม่กระทำอย่างใด เพื่อให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมมิต้องเสียหรือเสียน้อยไปกว่าที่จะต้องเสีย