"ปฏิรูประบบสาธารณสุข" บ้างพัฒนาแบบกระเส็นกระสาย บ้างก็อิ่มจนล้นเกิน !
เมื่อเปรียบเทียบกับอีกหลายประเทศทั่วโลก ต้องถือว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จด้านสาธารณสุขค่อนข้างมาก แม้กระนั้นก็ยังมีปัญหาเร่งด่วนบางประการที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมถึงบริการสาธารณสุข
1.การกระจายบริการสาธารณสุขที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างเมืองใหญ่ และชนบท ไม่เฉพาะแต่เครื่องมือของบริการเท่านั้น แต่รวมถึงนโยบายบางอย่าง ซึ่งทำให้บริการสาธารณสุขยิ่งกระจุกตัวมากขึ้นด้วย
เช่น โรงเรียนแพทย์ทั้ง 17 แห่ง ล้วนตั้งอยู่ในเมืองใหญ่ มีงบลงทุนสูงกว่างบลงทุนของกระทรวงสาธารณสุขทั้งประเทศ
2.ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมระหว่างระบบบริการสามแบบ คือ ระบบสวัสดิการราชการ ระบบบัตรทอง และระบบประกันสังคม
3.ความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพ กับประชาชนผู้รับบริการ
คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) มีข้อเสนอ
1.ควรกระจายอำนาจ ในกรณีของสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขจะไม่มีอำนาจบริหารโรงพยาบาลโดยตรง แต่โรงพยาบาลจะปรับเป็นองค์กรมหาชน ดังเช่น โรงพยาบาลบ้านแพ้ว หรือขึ้นอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
กรณีเป็นสถานีอนามัย ควรอยู่ในการดูแลและสนับสนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ปัจจุบันอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพียง 27 แห่ง จากเกือบหมื่นแห่ง)
ส่วนกระทรวงสาธารณสุขนั้นทำงานด้านกฎหมาย นโยบาย แผนและการกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐานเท่านั้น ส่วนผู้ซื้อบริการยังเป็นไปตามระบบเดิม
2.จะต้องยกเครื่องระบบการรักษาพยาบาลข้าราชการในปัจจุบันเพื่อไม่ให้รั่วไหล สิ้นเปลือง และไร้ประสิทธิภาพ สำหรับข้าราชการใหม่ให้เข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ส่วนระบบประกันสังคม ควรโอนบริการทางการแพทย์ไปให้ระบบบัตรทองเป็นผู้จัดการทั้งหมด โดยใช้เงินซึ่งรัฐต้องจ่ายสมทบอยู่แล้ว เป็นค่าใช้จ่ายครอบคลุมสิทธิประโยชน์เท่ากับบัตรทอง ส่วนเงินสมทบที่แรงงานต้องจ่ายในการประกันสังคม ก็ยังให้จ่ายต่อไป แต่ใช้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับสิทธิประกันสังคม อีก 3 กรณี คือ ตาย ทุพพลภาพ และคลอดบุตร ส่วนที่เหลือนำไปหาผลประโยชน์ในระบบที่มีการตรวจสอบอย่างดี เพื่อเป็นเงินออมแก่ผู้ประกันตนให้ได้รับบำเหน็จบำนาญสูงขึ้น
3.สร้างความเข้มแข็งของครอบครัวและชุมชนในการดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงปลอดภัย ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้มีความรู้ในการจัดการกับความป่วยไข้ของตนเองและคนใกล้ชิดในระดับหนึ่ง รวมทั้งส่งเสริมการแพทย์ทางเลือกอย่างเหมาะสม ทั้งในและนอกโรงพยาบาล
เมื่อเกิดปัญหาจากการรักษาพยาบาลต้องใช้ระบบการชดเชยโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูก-ผิด
นอกจากนี้ควรปรับองค์ประกอบของแพทยสภาและสภาวิชาชีพอื่น ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐให้มีกรรมการนอกวงวิชาชีพร่วมในสัดส่วนที่มีน้ำหนักเท่ากัน
ที่มา:แนวทางปฏิรูปประเทศ โดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.)14 พฤษภาคม 2554 หน้า 84-86 /ร่างข้อเสนอการปฏิรูปความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมด้านสาธารณสุขในประเทศไทย หน้า 367