ดีเดย์ 19 ต.ค.กรีนมูฟเตรียมเคลื่อนทัพสู่ทำเนียบ - ยูเอ็น ยื่นแสนชื่อหยุดเขื่อนแม่วงก์
กรีนมูฟเตรียมเคลื่อนทัพสู่ทำเนียบ - ยูเอ็น ยื่นแสนชื่อหยุดเขื่อนแม่วงก์ ระบุเป็นจุดเริ่มต้นรวมพลังคนธรรมดารณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม
การรณรงค์ต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงศ์ยังมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด เครือข่ายกรีนมูฟเตรียมระดมพลยื่นแสนรายชื่อคัดค้านเขื่อนแม่วงก์วันเสาร์ 19 ต .ค .นี้ โดย ดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิต อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้ริเริ่มแคมเปญรณรงค์คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ผ่าน change.org จนกลายเป็นการรณรงค์ที่มีผู้สนับสนุนมากที่สุดในเอเชีย
ขณะนี้มีรายชื่อล่าสุด 113,401 คน โดยในเสาร์ที่ 19 ตุลาคม 2556 ทาง "เครือข่ายสื่ออาสาภาคประชาชนเพื่อสิ่งแวดล้อม" หรือ "Green Move Thailand" จะจัดกิจกรรม "รวมพลังไทยหัวใจสีเขียว เดิน ยื่น หยุดโครงการเขื่อนแม่วงก์" เพื่อนำรายชื่อกว่า 1 แสนรายชื่อไปยื่นให้กับรัฐบาลและตัวแทนสหประชาชาติ โดยจะมีการจัดขบวนพาเหรดเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อแสดงพลังประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์ โดยจะมีทั้งการเดิน และ ขบวนจักรยาน จากหอศิลป์สี่แยกปทุมวันในช่วงเช้า ใช้เส้นทางผ่านแยกราชเทวี ไปยังสนามม้านางเลิ้งถึงทำเนียบรัฐบาล
เมื่อยื่นรายชื่อต่อท่านนายกฯ หรือผู้แทนแล้ว เราจะเดินต่อไปยังอาคารสำนักงานของสหประชาชาติที่ถนนราชดำเนิน เพื่อยื่นรายชื่อต่อ UNEP และ UNESCO
"พลังแสนชื่อครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ประชาชนคนธรรมดาในการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมที่มีทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ โดยเราจะนำรายชื่อประชาชนที่ร่วมกันลงชื่อทั้งหมดกว่าแสนชื่อพิมพ์รวมกันเป็นป้ายชื่อขนาดยักษ์ยาว 50 เมตร เพื่อให้ประชาชนช่วยกันถือ โดยการรณรงค์ครั้งนี้จะมีการทำกิจกรรมออนไลน์ควบคู่กัน โดยจะมีจุดเช็คอินเพื่อให้ประชาชนได้ร่วมถ่ายรูปกับป้ายต่อต้านเขื่อนแม่วงก์ เพื่ออัพโหลดสู่โซเชี่ยลมีเดีย ผมจึงขอเชิญชวนประชาชนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะงานนี้เป็นของประชาชนทุกคน"
นายสมิทธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับกรีนมูฟไทยแลนด์นั้น เกิดจากการที่มีผู้ให้การสนับสนุนลงชื่ออย่างท่วมท้น ตนและกลุ่มประชาชนจิตอาสา ซึ่งประกอบด้วย ประชาชนทั่วไปและนิสิตนักศึกษาที่ได้มาร่วมเดินและร่วมกิจกรรมกับนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ประชุมหารือร่วมกันและได้ตกลงจัดตั้ง "เครือข่ายสื่ออาสาภาคประชาชนเพื่อสิ่งแวดล้อม" หรือ "Green Move Thailand" ขึ้น
โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อนำเสนอข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและทำกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนทั้งชนชั้นกลางในเมืองและคนชนบทที่อยู่ห่างไกล ในรูปแบบของการให้ข้อมูลทั้งแบบ online และแบบ offline เน้นประเด็นและเนื้อหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงข้อดีข้อเสียของโครงการขนาดใหญ่ทั้งของภาครัฐและเอกชนที่กำลังเกิดขึ้นและที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตแล้วจึงตัดสินใจร่วมกันว่าโครงการต่างๆเหล่านั้นเหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่
"เราต้องการนำความจริงในพื้นที่ออกสู่สาธารณะ เพราะทุกวันนี้ข่าวที่เป็นเรื่องความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5แสนล้านบาท ออกข่าวไม่ได้ ทั้งที่กำลังจะมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันที่15 ตุลาคมนี้ จำนวน 36 เวที เรื่องราวเหล่านี้ต้องมีข้อมูลให้ประชาชนเพื่อนำประกอบการตัดสินใจ คนไทยต้องหยุดเขื่อนแม่วงก์ให้ได้ เพราะไม่เช่นนั้นอีกกว่า20เขื่อนในโครงการภายโครงการนี้ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ก็จะทำได้โดยไม่ยาก เพราะเขื่อนแม่วงก์จะกลายเป็นบรรทัดฐานในการสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติและป่าอนุรักษ์ไปแล้ว"
นายสมิทธ์ กล่าวอีกว่า อยากให้รัฐบาลไทยพิจารณาถึงเหตุผลและความคุ้มค่าของการสร้างเขื่อนแม่วงก์อย่างรอบคอบ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลตั้งธงว่าจะต้องสร้างแล้วจึงมาทำEHIAและการรับฟังความเห็นตามหลัง ซึ่งผิดหลักการตามรัฐธรรมนูญไทย โครงการเขื่อนแม่วงก์จะสร้างในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของป่าตะวันตก อันประกอบด้วยป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและป่าห้วยขาแข้งและป่าอนุรักษ์อื่นๆ เป็นที่ทราบกันดีว่าลำน้ำที่จะถูกสร้างเขื่อนกั้นคือลำน้ำแม่เรวา ซึ่งเป็นเพียงสาขาเล็กๆของแม่วงก์ซึ่งประกอบด้วยลำน้ำอีกกว่า 10 สายที่ไหลมารวมกัน ซึ่งไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งการป้องกันอุทกภัยและการชลประทาน
ด้านนายตุลย์ ปิ่นแก้ว ผู้อำนวยการ Change.org ประเทศไทย กล่าวว่า แคมเปญยุติเขื่อนแม่วงก์ถือว่าเป็นแคมเปญที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย เพราะมีผู้ร่วมลงชื่อกว่าแสนคนภายในเวลาไม่ถึง 2 อาทิตย์ โดยมีสัดส่วน 56.7% เป็นคนกรุงเทพฯ ที่เหลือมาจากจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ แสดงให้เห็นว่าประเด็นเรื่องการสร้างเขื่อนแม่วงก์เป็นประเด็นร้อนของสังคมไทย และแสดงให้เห็นว่าคนไทยมีความห่วงใยธรรมชาติและไม่ต้องการให้มีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เพราะได้ไม่คุ้มเสียและกระทบต่อธรรมชาติพื้นที่ป่าอนุรักษ์มรดกโลก