ทอล์คโชว์โลละบาท สารจากป่าสู่เมือง ตอกย้ำอุดมการณ์คนรักษ์ป่า
หลังจากการเดินเท้าคัดค้าน EHIA หรือรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่นำโดยนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรจบลงไปท่ามกลางความสนใจของกลุ่มคนที่ร่วมกันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เป็นจำนวนมาก ณ บริเวณหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ในวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา เรียกได้ว่า สร้างปรากฎการณ์ให้หลายคนหันกลับมาสนใจสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติอีกครั้ง
ขณะที่ประชาชนเริ่มสนใจและพยายามติดตามการไปออกรายการชี้แจ้งรายละเอียดต่างๆของเลขาธิการมูลนิธิสืบฯ พร้อมกับเฝ้ารอดูรายการคนค้นฅน ทว่ารายการกลับถูกงดออกอากาศกลางคัน จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นในสังคมออนไลน์
กระนั้นความสงสัยต่อการเดินของศศิน เฉลิมลาภก็ถูกตั้งคำถามว่า เดินจริงหรือไม่ มีนัยแอบแฝงทางการเมืองเพื่อจะล้มรัฐบาลหรืออย่างไร เพื่อตอบข้อสงสัยต่อสังคมจึงได้เกิดกิจกรรม "ทอล์คโชว์โลละบาท" ศศิน เฉลิมลาภ 388 กิโลเมตร จากป่าสู่เมือง โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่จัดขึ้น ณ Central World SF World Cinema (โรงภาพยนตร์ที่ 15) ในบ่ายวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
บรรยากาศช่วงแรกของงานเป็นการแสดงดนตรีเพื่อชีวิตโดยวงกันตรึมและวงโฮป แฟมมิลี่ โดยลูกศร วฤทธรัชต์ ถวัลย์วิวัฒนกุล ฝากบทเพลงสุดท้ายของการแสดง คือ เพลงหัวโขนไปยัง ท่านปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี พร้อมฝากให้คนในสังคมนึกถึงตัวเองน้อยลง แต่หันมานึกถึงคนรอบข้างให้มากขึ้น แล้วจะมองเห็นสังคมเป็นสามมิติที่ต่างกัน จนบางทีอาจทำให้พบความสุขในชีวิตที่ง่ายขึ้น
เธอเห็นว่า การต่อสู้ครั้งนี้เป็นการต่อสู้ที่บริสุทธิ์มาก เป็นการเดินเท้าที่ไม่ได้เรียกร้องอะไร เราเพียงต้องการสิ่งเดิมเท่านั้น ไม่ได้ต้องการให้มีการสร้าง หรือต้องการการเปลี่ยนแปลงที่ต้องลงทุน เราเดินทางต่อสู้เพื่อให้สิ่งเดิมนั้นคงอยู่และไม่ให้หายไป
“จริงๆป่าคือต้นไม้ ต้นไม้ที่ให้ออกซิเจนให้เราได้หายใจ ป่าเป็นสิ่งเดียวที่ให้ของฟรีและดีที่สุดบนโลกใบนี้ ในสังคมนี้รัฐบาลเราไม่เคยให้อะไรที่ฟรีและดีกับประชาชนเลย ดังนั้นต้องมีต้นไม้และป่าเราถึงจะดำรงชีวิตอยู่ได้”
จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของศศิน เฉลิมลาภ ออกมาถ่ายทอดประสบการณ์การเดินทางด้วยเท้าจากป่าสู่เมืองพร้อมการบรรยายข้อมูลให้คนเมืองฟังว่า ทำไมต้องไม่เอาเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งก่อนที่ทุกคนจะได้ชม "คนค้นฅน ฉบับ uncut" จากทีวีบูรพา
อ.ศศิน กล่าวตอนหนึ่งว่า เหตุที่ต้านเขื่อนแม่วงก์เพื่อที่จะรักษาป่าแม่วงก์ มีคำถามว่า ทำไมหวงไว้ ก็เพราะป่านี้เป็นหัวใจของอุทยานแม่วงก์ เป็นส่วนสำคัญของป่าตะวันตกที่สามารถเก็บความหลากหลายของชีวภาพได้
อีกทั้งแม่วงก์ยังเป็นโดมิโนตัวแรกของเขื่อนอื่นๆ หากข้อมูลเรื่องสัตว์ป่าจากกรมอุทยาน กองทุนสัตว์ป่าโลก ไม่มีความสำคัญ และผ่านไปได้จะทำให้เกิดการตัดป่าอื่นๆสร้างถนนตัดเข้ามา
"เกือบ30ปีที่ประเทศไทยไม่เอาเขื่อนหรือการพัฒนาเข้าไปในป่า แต่เปิดศักราชมาเอาแม่วงก์มาอ้าง ซึ่งแม่วงก์เป็นโดมิโนตัวแรกที่จะทำลาย" เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ เปิดใจบนเวที ว่า ข้อมูลทั้งหมดพูดมาเป็น 10 ปีแล้ว แต่ไม่มีใครสนใจ แม้กระทั่งพานักข่าวลงพื้นที่ หรือให้อาจารย์วิศวกรรมสถานฯ ดูข้อมูลที่มีผิดหรือไม่ ท่านก็บอกว่าข้อมูลไม่ผิด
จากเขื่อนที่บอกว่าแก้ปัญหาน้ำแล้ง กลับนำไปไว้ในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท อ.ศศิน เห็นว่า ดูผิดที่ผิดทางไป
จึงเป็นที่มาของการประชดชีวิตด้วยการเป็นไอ้บ้าเดินประท้วง
"ไม่ว่ารัฐบาลไหนผมก็ประท้วง ถ้ามีการสร้างอะไรก็ตามที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผมเห็นดร.โสภณ พรโชคชัย โพสต์ถามเหลือเกินว่า เดินได้จริงไหม ผมตอบตรงนี้ว่า ไม่จริงหรอกครับ เดินไม่ถึง 388 เขาพาเดินลัดบ้าง ซึ่งเป็นระยะทางประมาณ 330 กิโลเมตร เดินได้แค่นี้ละครับ
ผมเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่พร้อมจะเดิน เป็นตัวแทนพี่น้องเครือข่ายอนุรักษ์ นักสิ่งแวดล้อม ดังนั้นมันเป็นขบวนการขององค์กร และไม่ได้เดินเพื่อที่จะให้ตัวเองเป็นคนตัดสินใจเรื่องแม่วงก์ แต่เดินเพื่อประท้วงระบบของการตรวจสอบ ทั้งนี้หากมาตรการ ข้อมูลผิด หรือข้อมูลไม่ครบถ้วนนั้นจะส่งผลต่อรายงานที่ทำ ซึ่งหลังจากนี้ไปจะเป็นการเฝ้า EHIA หากมีการผ่านรายงานอาจจะชวนทุกคนไปให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีก"
ในช่วงเวลาถัดมา อ.ศศิน ส่งไมค์ต่อ ให้ "สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ" แห่งรายการคนค้นฅน ที่อัดอั้นได้เปิดใจบ้าง
"สุทธิพงษ์" เล่าย้อนไปในวันที่อ.ศศินเริ่มเดินตื่นมาตอนเช้าเพื่อจะดูข่าว และคาดหวังว่า จะเห็นข่าวการเดินของอ.ศศินในโทรทัศน์สักช่อง ปรากฎว่า ไม่มีเลย! เขาจึงไปเปิดดูที่เฟชบุ๊ก ในโซเชียลมีเดีย และได้เห็นโพสต์ของอ.ศศิน และทีมงาน ซึ่ง ณ เวลานั้นกำลังมีประเด็นเรื่องน้องนักศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการแต่งกายทำให้เกิดการเปรียบเทียบว่า นี่เรื่องระดับประเทศ จะเรียกว่า ระดับโลกก็ได้เมื่อกล่าวเกี่ยวกับพื้นที่ที่มีเสือ
"ในฐานะที่เป็นสื่อรู้สึกอาย อายแทนคนเป็นสื่อมวลชน ผมมีความรู้สึกอัดอั้นกับสภาวะที่เกิดขึ้น สิ่งที่อ.ศศินกำลังทำ ไม่ใช่เรื่องการลุกขึ้นมาล้มล้างหรือต่อต้าน ในภาวะที่บ้านเมืองต้องการการทำลายความไม่รู้ แต่ไม่มีใครลุกขึ้นมาทำอะไรเลย” ผู้บริหาร บริษัท ทีวีบูรพา ระบายความรู้สึก พร้อมกับเห็นว่า ขณะที่บ้านเมืองกำลังมีความขัดแย้งแบ่งฝักแบ่งฝ่าย สื่อกลับไม่นำเสนอในสิ่งที่อ.ศศินทำ ดังนั้นสื่อต้องกลับไปทบทวนตัวเอง ว่า เป็น ภาระหน้าที่ของสื่อหรือไม่
“ตอนนี้สภาพสังคมแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายมีสิ่งที่ควรระมัดระวัง แต่ไม่ใช่ระมัดระวังจนกลบกลืนข้อเท็จจริง เวลาที่ฝ่ายตรงข้ามหยิบเอาเรื่องการเดินคัดค้านไปใช้ ถูกเอาไปใช้เพื่อเจตนาของตัวเอง ทำให้คนที่พยายามจะทำอะไรเพื่อไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการเลือกข้าง บนเจตนาเดียวกันถูกกลืน ถูกเหมารวมและทำตัวลำบาก ดังนั้นจึงอยากให้คนที่ร่วมต่อสู้กับอ.ศศินมาต้องยึดผลประโยชน์ สัมมาทิฎฐิไว้” สุทธิพงษ์กล่าวทิ้งท้าย
ก่อนที่อ.ศศินจะปิดฉากงานนี้ด้วยคำขอบคุณต่อองค์กรเครือข่ายนักอนุรักษ์ทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ พร้อมเสียงปรบมือของผู้ชมภายในโรงภาพยนต์
นี่คงไม่ใช่จุดจบของการหันมาตระหนักและสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่หวังว่าคงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะจุดไฟให้ลุกโชนอย่างไม่มีวันดับกับการหวงแหนผืนป่าและธรรมชาติ