สิทธิความเป็นเจ้าของ-ปกครองพิเศษ...หลักเขตอยู่ตรงไหน?
เป็นเรื่องที่น่าพิจารณาพอสมควร...เพราะในขณะที่บีอาร์เอ็นส่งข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทยขออ้าง "สิทธิความเป็นเจ้าของ" และ "เขตปกครองพิเศษ" (ภายใต้รัฐธรรมนูญ) ในดินแดนที่เรียกว่า "ปาตานี" โดยระบุขอบเขตกว้างๆ ว่าหมายถึงพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา นั้น
ทว่าข้อเท็จจริงจากงานวิจัยที่เจาะลึกถึงแนวคิด โครงสร้าง และเป้าหมายสุดท้ายของบีอาร์เอ็น กลับพบความสับสนในหมู่มวลสมาชิกว่าแท้ที่จริงแล้ว "ดินแดนปาตานี" ที่พวกเขาเรียกร้อง "สิทธิความเป็นเจ้าของ" นั้น มีขอบเขตอยู่ที่ใดกันแน่
งานวิจัยของ จิราพร งามเลิศศุภร ที่ทำการศึกษาเรื่อง "เป้าหมายสุดท้ายของบีอาร์เอ็น" ไล่เรียงข้อมูลเอาไว้อย่างน่าสนใจ...
- ธรรมนูญบีอาร์เอ็น ปี 2518 ระบุเขตแดนทางภูมิศาสตร์ของดินแดนปาตานีเอาไว้ว่า ได้แก่ 4 จังหวัดภาคใต้ คือ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล รวมทั้งบางส่วนของ จ.สงขลา
- บีอาร์เอ็นคองเกรส (แตกตัวจากบีอาร์เอ็นใหญ่) ระบุเขตแดนทางภูมิศาสตร์ว่า นับตั้งแต่แม่น้ำสุไหงโก-ลก (เขตแดนไทย-มาเลเซียที่ จ.นราธิวาส) จรดพื้นที่คอคอดกระ (จ.ระนอง)
- เบอร์ซาตู (ก่อตั้ง 26 เม.ย.2534) ระบุว่าดินแดนปาตานีหมายถึงพื้นที่ตั้งแต่ทิศใต้จาก อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส จรดทิศเหนือ คือ คอคอดกระ
- ข้อเรียกร้อง 22 ประการ เมื่อปี 2534 (จากการพูดคุยกับตัวแทนกองทัพฝ่ายไทย) ระบุเขตแดนทางภูมิศาสตร์ว่าหมายถึง 5 จังหวัดภาคใต้ของไทย คือ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลา
- การฝึกวันทยาหัตถ์ของบีอาร์เอ็น ใช้ 4 นิ้วครึ่ง ความหมายเชิงสัญลักษณ์ คือ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลาบางส่วน
- เอกสารที่ฝ่ายความมั่นคงยึดได้เมื่อปี 2554 ระบุเขตแดนทางภูมิศาสตร์ว่า หมายถึง จ.ปัตตานี ยะลา เมอนารา (นราธิวาส) สงขลาตอนใต้ (หรือปาตานีบารัต หมายถึงปาตานีตอนใต้) และสตูล ซึ่งก็คือ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และบางส่วนของ จ.สงขลา ทั้งนี้ บางส่วนของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย นาทวี และ สะเดา
อย่างไรก็ดี ในถ้อยแถลงข้อเรียกร้องผ่านคลิปวีดีโอทางเว็บไซต์ YouTube เมื่อ 24 มิ.ย.2556 โดย นายฮัสซัน ตอยิบ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายบีอาร์เอ็น มีการยื่นเงื่อนไขให้ไทยถอนกำลังทหารตำรวจออกจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส (ไม่มี จ.สตูล) และ 5 อำเภอของ จ.สงขลา แต่ไม่ได้ระบุชัดว่าหมายถึงอำเภออะไร
ต่อมาในคำแถลงลดเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอน เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2556 (แถลงโดย ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติภาพ) จึงมีการระบุชัดว่าประกอบด้วย อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย นาทวี และ อ.สะเดา
ขณะที่ความเข้าใจของฝ่ายรัฐบาลไทยชัดเจนมาตลอด อย่างน้อยก็ในห้วง 10 ปีมานี้ว่า พื้นที่ที่มีปัญหาความไม่สงบ คือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ไม่มี อ.สะเดา ซึ่งเป็นพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึก และกฎหมายพิเศษ ทั้งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) และ/หรือ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ)
แต่ในแง่ของการพัฒนาภายใต้อำนาจหน้าที่ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. กลับดูแลพื้นที่เป็นฝืนใหญ่ 5 จังหวัด คือ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล!
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : แผนที่จากวิกิพีเดีย http://bit.ly/nVAESj