“มัธยมสายอาชีพ” บทสรุปทางออกการการศึกษาที่ตอบโจทย์เด็กทุกกลุ่ม
เวทีปฎิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล “มัธยมสายอาชีพ” ยก 2 กรณีศึกษา เพิ่มทางเลือกหลังจบ ม.6 นพ.ประเวศ วะสี หนุนร.ร.เปิดการเรียนการสอนมัธยมสายอาชีพ เชื่อทำให้เด็กมีอาชีพติดตัว ไม่รังเกียจการทำงานหนัก
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีปฎิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 21 “มัธยมสายอาชีพ” เพื่อเพิ่มทางเลือกและเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถมีทางเลือกหลังจบ ม.6 มากขึ้น ด้วยการออกไปประกอบวิชาชีพ เรียนต่อวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือเรียนต่อระดับอุดมศึกษา
ปัจจุบันมีนักเรียนเพียงร้อยละ 40 เท่านั้นที่ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ในขณะที่อีกร้อยละ 60 ออกจากระบบการศึกษาโดยที่ไม่มีวิชาชีพติดตัว โดยได้นำ 2 กรณีศึกษาของโรงเรียนหนองบุนนากพิทยาคม ซึ่งจัดการเรียนรู้คู่สายอาชีพเกษตรกับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา และกรณีที่ 2 การจัดการเรียนรู้วิทยาลัยเทคนิคสุรนารีคู่กับโรงเรียนสุรธรรมพิทักษ์ สายสามัญ เพื่อเป็นอีกทางเลือกแก่ผู้เรียนและผู้ปกครอง
นายพิชัย ทิพยรักษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนหนองบุนนากพิทยาคม กล่าวถึงการเปิดหลักสูตร ปวช.ในโรงเรียน มีสาเหตุมาจากการประกอบอาชีของผู้ปกครอง เพราะในพื้นที่ชาวบ้านทำการเกษตรด้วยการปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งดินมีความอุดมสมบูรณ์ได้ผลผลิตไร่ละ 5 ตัน ในขณะที่พื้นที่อื่นได้เพียงไร่ละ 3 ตันเท่านั้น ทำให้ทางโรงเรียนเน้นสอนนักเรียนสายอาชีพในเรื่องการทำการเกษตร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเด็กและผู้ปกครอง ดังนั้น ผู้บริหารทั้ง 2 โรงเรียนจึงมองไปในทิศทางเดียวกัน ร่วมมือกันแก้ปัญหาด้วยการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นมัธยมสายอาชีพให้เด็กมีทั้งวุฒิ ม.6 และ ปวช. รูปแบบการเรียนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่เพิ่มรายวิชาตามหลักสูตร ปวช. มีการส่งเด็ก ชั้น ม.5 ช่วงเทอม 2 ไปเรียนที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมาในวิชาที่ต้องใช้อุปกรณ์หรือสถานที่ฝึก บางวิชาทางวิทยาลัยก็ส่งครูมาสอนที่โรงเรียน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เด็กมีงานทำหลังจากเรียนจบ มีทางเลือกที่ลงตัวเหมาะสมกับตนเองและท้องถิ่น
นายถวัลย์ คุ้มกลาง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี นครราชสีมา กล่าวว่า ด้วยค่านิยมของพ่อ แม่ ไม่ต้องการให้ลูกลำบากปลูกฝังให้เรียนสายสามัญมากกว่าสายอาชีพ เด็กจึงเลือกเรียนสาขาการเกษตรน้อย เมื่อเกิดปัญหาว่า เด็กเองก็ไม่สามารถที่จะเรียนได้ถึงระดับอุดมศึกษา ทางวิทยาลัยและโรงเรียนหนองบุนนากพิทยาคม จึงได้ร่วมมือกันได้ไปพบปะพูดคุยสื่อสารกับผู้ปกครอง ปรับทัศนคติเรื่องการเรียนสายอาชีพ เพื่อส่งเสริมเด็กมีอาชีพติดตัว โดยหลังจากได้ร่วมกันจัดการเรียนการสอนถือว่าประสบความสำเร็จได้ดีพอสมควร และขณะนี้มีเด็กจบไปแล้ว 4 รุ่น
ด้านนายอาคม หาญสงคราม ผู้อำนวยการโรงเรียนสุรธรรมพิทักษ์ กล่าวว่า การเปิดหลักสูตรมัธยมสายอาชีพเป็นเพราะมีเด็กที่มีความสามารถทางวิชาการไม่มากนักเป็นเด็กกลุ่มเรียนในระดับปานกลางและต่ำ ผนวกกับเดิมมีครูที่สอนการงานอาชีพจำนวนมาก แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการสอน ทำให้ภาระของครูกลุ่มนี้ลดลง จึงเกิดความคิดจะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่า เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีทักษะและความรู้เข้าใจในการนำไปประกอบอาชีพหลังจบการศึกษาไปแล้ว ป้องกันการว่างงาน
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานที่ประชุม กล่าวว่า การที่โรงเรียนมีการเปิดการเรียนการสอนมัธยมสายอาชีพถือเป็นเรื่องดีที่จะทำให้เด็กมีอาชีพติดตัว หลุดพ้นจากการจัดการศึกษาที่จำเจกว่า 16 ปี ซึ่งเสียเวลาไปมาก และระบบการศึกษาของไทยมีคุณภาพต่ำ วิชาการก็อ่อน ดังนั้น การศึกษาถือเป็นการเอาชีวิตเป็นตัวประกัน เพราะเรียนจบทุกคนคาดหวังต้องมีงานทำ ซึ่งหากเพิ่มการศึกษาสัมมาชีพ เศรษฐกิจที่ตกต่ำก็จะดีขึ้น นอกจากนี้ อยากให้การเรียนการสอนเปิดโอกาสให้เด็กออกไปเรียนรู้นอกโรงเรียนที่มีครูจำนวนมากจากการประกอบอาชีพ ซึ่งจะช่วยให้เด็กเข้าใจชีวิตการทำงานได้มากขึ้น
"ที่ผ่านมาสังคมให้ความสำคัญกับการศึกษา เคารพแต่คนชั้นสูง มองข้ามชาวบ้านที่ประกอบอาชีพ ถูกวางยาจากชนชั้นนำที่รังเกียจการทำงานหนัก สังคมไทยจึงขาดความเป็นธรรม เกิดการเหลื่อมล้ำทางสังคมขึ้น ทำให้มีการสร้างค่านิยมให้รังเกียจการทำงาน ดังสุภาษิตที่ว่า รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา แต่คนที่ขี้เกียจทำงานหนักจะขอให้ได้เป็นเจ้าคนนายคน นั่งกินนอนกิน ทำให้เด็กในปัจจุบันเกิดความลำบาก เพราะไม่มีการส่งเสริมการทำงาน ซึ่งอยากทิ้งท้ายให้เยาวชนยึดคำที่ว่า ชีวิตที่ลำบากเป็นชีวิตที่เจริญ"
ด้านศ.กิตติคุณสุมน อมรวิวัฒน์ กรรมการบริหารแผน คณะที่ 4 สสส.กล่าวถึงรูปแบบการเรียนสายอาชีพมีแม่แต่ครั้งอดีต ซึ่งเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับแต่ละคน ดังเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้เขียนถึงเรื่องศึกษาพฤกษ์ คือต้นไม้แห่งการศึกษาชี้ให้เห็นความสำคัญของการศึกษาอย่างแท้จริง ซึ่งสมัยนั้นมีการเรียกการเรียนตามหลักสูตรว่า สามัญศึกษา ส่วนวิชาอาชีพเรียกว่า วิสามัญศึกษา เปรียบเทียบสามัญศึกษาเหมือนข้าว ส่วนวิสามัญเหมือนกับข้าว ทำให้เด็กกลายเป็นคนหัวโตแต่แขนขาลีบเพราะกินแต่ข้าวไม่มีกับข้าวไปประกอบ ฉะนั้น ผู้บริหาร ภาคี เครือข่ายที่จัดการศึกษาเน้นด้านอาชีวะ เตรียมใน 3 เรื่องคือ เตรียมใจ เตรียมตัว และเตรียมฝีมืออย่างหนัก และต้องนำเรื่องทักษะชีวิตเข้ามาสอนควบคู่กันไปด้วย เด็กต้องเรียนจากประสบการณ์จริง ทุกอย่างต้องเป็นของจริง ไม่ใช่เสมือนจริง ที่หาความจริงไม่ได้สักอย่าง จึงขอให้คิดถึงอนาคตของเด็กเป็นสิ่งสำคัญ เด็กต้องได้ดี ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริงต้องกระจายอำนาจลงท้องถิ่น ประกาศเป็นวาระแห่งชาติเชิงพื้นที่ออกไป เพราะถ้าไม่ประกาศจะทำได้ยากมาก