กอ.รมน.ชงคำตอบ 5 ข้อ BRN
กอ.รมน.ส่งเอกสารแนวคำตอบ 5 ข้อเรียกร้องบีอาร์เอ็นให้เลขาธิการ สมช.แล้ว ยันไม่ได้ปฏิเสธแบบหักดั้มพร้าด้วยเข่า แจงรายข้อ-ย้ำจุดยืนไทยมองปัญหาชายแดนใต้เป็นปัญหาภายใน ท้าบีอาร์เอ็นแสดงให้ดูคุมทุกกลุ่มได้จึงจะยอมรับเป็นตัวแทน ส่วน "สิทธิความเป็นเจ้าของ" แค่อ้างประวัติศาสตร์ส่วนเดียว ใต้ยังป่วนบึ้มตำรวจที่มายอโชคดีไร้เจ็บ
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้จัดส่งเอกสารแนวทางคำตอบต่อข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นกลุ่ม นายฮัสซัน ตอยิบ ให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการตอบข้อเรียกร้องดังกล่าว และการพูดคุยสันติภาพกับบีอาร์เอ็นครั้งต่อไปแล้ว
กอ.รมน.ได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) ให้พิจารณาข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นที่ส่งเอกสารคำอธิบายจำนวน 38 หน้ามายังหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช.
แหล่งข่าวจาก กอ.รมน.เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ที่ 4 ต.ค.2556 ว่า บีอาร์เอ็นต้องการให้ทางการไทยตอบข้อเรียกร้อง 5 ข้อ มิฉะนั้นการพูดคุยจะไม่เกิดขึ้นต่อไป ซึ่ง กอ.รมน.ก็เห็นว่ารัฐบาลไทยควรให้คำตอบ จึงเสนอ สมช.ไปว่าไทยรับ 5 ข้อเรียกร้องเอาไว้พิจารณา โดยข้อพิจารณามีดังนี้
ข้อ 1 เรียกร้องให้ไทยยอมรับว่าบีอาร์เอ็นคือตัวแทนของประชาคมปาตานีในการพูดคุยสันติภาพกับรัฐบาลไทย
กอ.รมน.เสนอแนวคำตอบไปว่า หากจะให้ไทยยอมรับ บีอาร์เอ็นต้องแสดงให้เห็นว่าสามารถควบคุมกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐได้ทุกกลุ่ม รวมทั้งสอบถามประชาชนในพื้นที่ให้ยอมรับว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นตัวแทนของตนหรือไม่ด้วย
ข้อ 2 กับ ข้อ 3 เสนอให้ไทยยอมรับการยกสถานะรัฐบาลมาเลเซียเป็นคนกลางในการพูดคุยสันติภาพ และให้องค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) ตัวแทนชาติอาเซียน และเอ็นจีโอระหว่างประเทศ ร่วมเป็นสักขีพยานการพูดคุยซึ่งจะยกระดับเป็นการเจรจาต่อไป
กอ.รมน.เสนอแนวคำตอบว่า รัฐบาลไทยยืนยันมาตลอดว่า เหตุการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องภายในประเทศ ไม่ต้องการให้ต่างประเทศเข้ามายุ่งเกี่ยว
ข้อ 4 การยอมรับสิทธิความเป็นเจ้าของดินแดนปาตานี และเรียกร้องขอเขตปกครองพิเศษ เพื่อคงอัตลักษณ์ทางภาษา ศาสนา และวิถีวัฒนธรรม
กอ.รมน.เสนอแนวคำตอบไปว่า ประเทศไทยไม่ได้ปิดกั้นการแสดงออกเรื่องอัตลักษณ์ โดยคนในพื้นที่มีเสรีภาพในการนับถือศาสนาและปฏิบัติศาสนกิจอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการยอมรับสิทธิความเป็นเจ้าของและขอเขตปกครองพิเศษ บีอาร์เอ็นนำประวัติศาสตร์เพียงท่อนหนึ่งมากล่าวอ้าง ไม่ได้พูดถึงประวัติศาสตร์ก่อนหน้านั้น
ข้อ 5 เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังด้วยเหตุผลทางการเมืองทุกคน และยกเลิกหมายจับนักสู้ปาตานีทั้งหมด
กอ.รมน.เสนอแนวคำตอบไปว่า ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมของไทย หากเรื่องถึงศาลแล้ว ไม่สามารถแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมได้ แต่หากอยู่ในขั้นตอนของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (หมายถึงผู้ที่ติดหมาย ฉฉ ซึ่งออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ก็อยู่ในข่ายที่จะพิจารณาได้
อย่างไรก็ดี เอกสารที่ กอ.รมน. ส่งให้ เลขาธิการ สมช.เป็นเพียงการนำเสนอแนวทางเพื่อนำไปตอบกับบีอาร์เอ็นเท่านั้น ไม่ใช่การบังคับว่าต้องดำเนินการตามเอกสารนี้ แต่ กอ.รมน.ศึกษาแล้วเห็นว่า คำตอบเช่นนี้น่าจะส่งผลดีต่อทั้งสองฝ่าย โดยไม่ทำให้ทางการไทยเสี่ยงตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ และคำตอบก็ไม่ได้เป็นการปฏิเสธในลักษณะของการหักดั้มพร้าด้วยเข่า ทั้งนี้และทั้งนั้นขึ้นกับว่าทางเลขาธิการ สมช.จะพิจารณา
ดักบึ้มตำรวจชุด รปภ.ชาวบ้านที่มายอ
ด้านสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ยังคงมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นประปราย โดยเมื่อเวลา 11.20 น.วันศุกร์ที่ 4 ต.ค. คนร้ายได้กดจุดชนวนระเบิดดักสังหารตำรวจ สภ.มายอ จ.ปัตตานี ขณะออกลาดตระเวนเพื่อรักษาความปลอดภัยราษฎรไทยพุทธที่ไปร่วมงานประเพณีทำบุญเดือนสิบ โดยใช้รถกระบะของทางราชการ 2 คัน กำลังพล 6 นาย เส้นทางถนนสายชนบทบ้านตรัง-ยือราแป ท้องที่บ้านราเกาะ หมู่ 2 ต.เกาะจัน อ.มายอ โชคดีที่แรงระเบิดแค่ทำให้รถของเจ้าหน้าที่เสียหลักตกข้างทาง ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ
จากการตรวจสอบจุดเกิดเหตุ พบระเบิดที่คนร้ายใช้เป็นชนิดแสวงเครื่อง ประกอบใส่ถังแก๊ส ฝังไว้ใต้ผิวถนน จุดชนวนด้วยแบตเตอรี่ โดยลากสายไฟฟ้ายาวประมาณ 80 เมตรเข้าไปในป่ายางพารา เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบ
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ตราสัญลักษณ์ของ กอ.รมน.
ขอบคุณ : ข่าว กอ.รมน.โดย ปัญญา ทิ้วสังวาลย์ ผู้สื่อข่าวสายทหารเครือเนชั่น