ตามรอยมรดก หนี้ ธพส. 900 ล.ใครก่อขึ้น หลานอากู๋ “เอาอยู่” จริงหรือ?
ตามรอยมรดก หนี้ ธพส. 900 ล้านบาท ใครก่อขึ้น พร้อมวัดกึ๋น "หลานอากู๋" นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม “เอาอยู่” จริงหรือ?
หลังจากนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้จัดการบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ ( ธพส.) ให้สัมภาษณ์ยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เกี่ยวกับกรณี ธพส. เคยใช้งบเกินวงเงินกว่า 900 ล้านบาทเพื่อตกแต่งอาคารของหน่วยงานในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ จนต้องกู้เงินจากธนาคารกรุงไทยหลายร้อยล้านบาท รวมถึงปัญหาการดำเนินโครงการบ้านธนารักษ์ ว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่ สามารถรับมือได้ นั้น
(อ่านประกอบ:วิบากกรรม หลาน อากู๋ “สุเมธ ดำรงชัยธรรม” บนเก้าอี้ เอ็มดี “ธพส.”)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมกรณี ธพส. ใช้งบเกินกว่า 900 ล้านบาทตกแต่งอาคารให้หน่วยงานในศูนย์ราชการ พบว่า เดิมที คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2547ให้ ธพส.ดำเนินการโครงการศูนย์ราชการในที่ราชพัสดุบริเวณถนนแจ้งวัฒนะ วงเงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 19,016 ล้านบาท
โดยขณะเสนอขออนุมัติโครงการต่อคณะรัฐมนตรี ธพส.ยังไม่มีการออกแบบรายละเอียดโครงการ ต่อเมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการแล้ว ธพส. จึงได้ดำเนินการออกแบบรายละเอียดให้เหมาะสมกับจำนวนบุคลากรและโครงสร้างของแต่ละหน่วยงาน
จากนั้น ในระหว่างการก่อสร้างโครงการศูนย์ราชการฯ ไปแล้วบางส่วน คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้หน่วยงานยกเลิกการเข้าใช้พื้นที่จำนวน 11 หน่วยงาน และมีหน่วยงานใหม่ขอเข้าใช้พื้นที่แทนจำนวน 13หน่วยงาน ประกอบกับบางหน่วยงานขอเปลี่ยนแปลงพื้นที่ หรือขอพื้นที่เพิ่มเติม ทำให้ต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบแปลนและปรับเปลี่ยนลักษณะการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะของแต่ละหน่วยงานอีก 17 หน่วยงาน
ในเวลาต่อมา ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2553 อนุมัติขยายกรอบวงเงินโครงการศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ จำนวน 2,166.44 ล้านบาท ทำให้กรอบวงเงินลงทุนโครงการเพิ่มขึ้นจาก 19,016 ล้านบาท เป็น 21,182.44 ล้านบาท
โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
1.วงเงินที่เพิ่มจากการแก้ไขแบบก่อสร้างตามภารกิจหน่วยงานใหม่ที่ขอเข้าใช้พื้นที่แทนหน่วยงานที่ขอยกเลิก รวมทั้งการปรับปรุงพื้นที่ส่วนกลางเพิ่มเติมทำให้พื้นที่ทั้งโครงการเพิ่มขึ้น 109,450 ตร.ม. โดยใช้เงินลงทุนของ ธพส.จำนวน 1,218.62 ล้านบาท
2.วงเงินที่เพิ่มจากการเปลี่ยนแปลงแบบตามความต้องการของหน่วยงาน ซึ่งเป็นการปรับปรุงเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับลักษณะงานที่ต้องมีความปลอดภัยสูงโดยอยู่นอกเหนือมาตรฐานการออกแบบของโครงการ จำนวน 947.82 ล้านบาท
โดยหน่วยงานที่ขอให้ ธพส.ดำเนินการ ได้แก่
1.สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ค่าก่อสร้าง จำนวน 13,500,000 บาท
2.สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ค่าก่อสร้างจำนวน 60,435,204.31 บาท
3.สำนักงานศาลยุติธรรม (ศาลฎีกา) ค่าก่อสร้าง จำนวน 564,650,000 บาท
4.สำนักงานศาลปกครอง ค่าก่อสร้างจำนวน 303,472,000 บาท
ทั้งนี้ ในกรณีการใช้งบตกแต่งล่วงหน้า ความเห็นตอนหนึ่งของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2553 ระบุว่า “เป็นการดำเนินการไปก่อนล่วงหน้า และไม่เป็นไปตามขั้นตอนของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องนั้นค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินการดังกล่าวจะต้องบริหารจัดการเงินรายได้ของ ธพส. ที่ได้รับจากหน่วยงานต่างๆ เป็นค่าเช่าเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายดังกล่าวเอง”
แต่ในเวลาต่อมา นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง(ในขณะนั้น) ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีทบทวนมติดังกล่าว ทั้งเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาว่าเพื่อเป็นการบรรเทาภาระให้กับ ธพส.ที่ได้จ่ายลงทุนค่าก่อสร้างและตกแต่งพิเศษแทนหน่วยงานไปก่อนแล้วโดยกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด เพื่อให้ ธพส. มีเงินชำระหนี้ธนาคารกรุงไทย จำกัด และมีสภาพคล่องในการดำเนินงาน กระทรวงการคลัง จึงเห็นว่าควรทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2553 ดังนี้
1.ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานทยอยชำระค่าก่อสร้างให้ ธพส.
2.ในกรณีที่สำนักงบประมาณไม่สามารถจัดสรรงบประมาณได้ ให้หน่วยงานชำระค่าก่อสร้างจากงบเหลือจ่าย
3.ให้หน่วยงานและ ธพส. ทำความตกลงกันในเรื่องการชำระค่าก่อสร้างเพื่อให้ ธพส.สามารถชำระหนี้คืนธนาคารได้
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ธพส. มีกำหนดต้องชำระหนี้บางส่วนคืนแก่ธนาคารกรุงไทย ภายในเดือนพฤศจิกายน 2556
งานนี้ จึงต้องจับตาดูว่า นายสุเมธ จะโชว์ฝีมือในการหาเงินมาใช้หนี้ให้แก่ธนาคารกรุงไทยได้ตามกำหนด สมราคา ดังที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ไ้ด้หรือไม่?