ไฟใต้ถึงสิ้นเดือน พ.ค.54 ยอดตายทะลุ 4.3 พัน – เปิดรายชื่ออำเภอ 2 เดือนไร้ป่วน
ปี 2554 กลายเป็นปีที่สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ร้อนแรงขึ้นอีกครั้งในความรู้สึกของใครหลายๆ คน เพราะมีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นจึงน่าติดตามตรวจสอบว่าหากพิจารณาในแง่สถิติตัวเลขจริงๆ ที่เก็บรวบรวมกันในพื้นที่แล้ว ความถี่ของเหตุร้ายรายวันเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจริงหรือไม่ และหากใช่...พื้นที่ใดน่าหวั่นใจที่สุด
ข้อมูลที่รวบรวมโดยศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ระบุว่า ตลอดเดือน เม.ย.2554 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นทั้งสิ้น 48 เหตุการณ์ แยกเป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน 32 เหตุการณ์ ระเบิด 15 เหตุการณ์ และก่อกวน 1 ครั้ง
นราฯป่วนหนักสุด “ระแงะ-รือเสาะ” อ่วม
เมื่อแยกพิจารณาเป็นรายจังหวัด พบว่า จ.ยะลา เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งสิ้น 9 ครั้ง เป็นเหตุยิงและลอบวางระเบิดอย่างละ 4 ครั้ง อีก 1 ครั้งเป็นเหตุก่อกวน จ.ปัตตานี เกิดเหตุทั้งสิ้น 18 ครั้ง เป็นเหตุยิง 15 ครั้ง ลอบวางระเบิด 3 ครั้ง จ.นราธิวาส เกิดเหตุรุนแรงทั้งสิ้น 20 ครั้ง เป็นเหตุยิง 13 ครั้ง ลอบวางระเบิด 7 ครั้ง ขณะที่ จ.สงขลา มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นเพียง 1 ครั้ง เป็นเหตุลอบวางระเบิด
สำหรับสถิติรายอำเภอ พบว่า ในส่วนของ จ.ยะลา อำเภอที่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นมากที่สุดคือ อ.รามัน รวม 4 ครั้ง เป็นเหตุยิง 2 ครั้ง ลอบวางระเบิด 2 ครั้ง จ.ปัตตานี อำเภอที่มีเหตุรุนแรงมากที่สุดคือ อ.หนองจิก รวม 6 ครั้ง เป็นเหตุยิงทั้งหมด จ.นราธิวาส อำเภอที่มีเหตุรุนแรงมากที่สุด คือ อ.ระแงะ จำนวน 5 ครั้ง เป็นเหตุยิง 4 ครั้ง ลอบวางระเบิด 1 ครั้ง ส่วน อ.รือเสาะ เกิดเหตุรุนแรงขึ้น 4 ครั้ง เป็นเหตุยิง 3 ครั้ง และลอบวางระเบิด 1 ครั้ง
ตัวเลขผู้เสียชีวิตนับตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.2547 (วันที่เกิดเหตุการณ์ปล้นอาวุธปืนจำนวน 413 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส) จนถึงวันที่ 30 เม.ย.2554 (ห้วง 7 ปี 3 เดือน) อยู่ที่ 4,278 ราย แยกเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ 1,781 ราย ศาสนาอิสลาม 2,378 ราย ไม่ระบุศาสนา 119 ราย ผู้บาดเจ็บจากเหตุรุนแรงรวม 7,542 ราย แยกเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ 4,667 ราย ศาสนาอิสลาม 2,391 ราย และไม่ระบุศาสนา 484 ราย
สิ้นเดือน พ.ค.ยอดตายไฟใต้ทะลุ 4.3 พัน
ล่วงเข้าเดือน พ.ค. เดือนที่ 5 ของปี พ.ศ.2554 ข้อมูลสถิติที่เก็บรวบรวมโดยศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินฯ ชี้ว่า มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นทั้งสิ้น 60 เหตุการณ์ เพิ่มขึ้นกว่าเดือน เม.ย.จำนวน 12 เหตุการณ์ แยกเป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน 42 เหตุการณ์ ระเบิด 17 เหตุการณ์ และวางเพลิง 1 ครั้ง
เมื่อแยกพิจารณาเป็นรายจังหวัด พบว่า จ.ยะลา เกิดเหตุรุนแรงทั้งสิ้น 18 ครั้ง เป็นเหตุยิงและลอบวางระเบิดอย่างละ 9 ครั้ง จ.ปัตตานี เกิดเหตุทั้งสิ้น 25 ครั้ง เป็นเหตุยิง 21 ครั้ง ลอบวางระเบิด 3 ครั้ง และลอบวางเพลิง 1 ครั้ง จ.นราธิวาส เกิดเหตุรุนแรงทั้งสิ้น 16 ครั้ง เป็นเหตุยิง 11 ครั้ง ลอบวางระเบิด 5 ครั้ง ขณะที่ จ.สงขลา มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นเพียง 1 ครั้ง เป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน
ขณะที่ในระดับอำเภอ พบว่า อำเภอที่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นถี่ที่สุดของ จ.ยะลา คือ อ.เมือง รวม 7 ครั้ง เป็นเหตุยิง 2 ครั้ง ลอบวางระเบิดถึง 5 ครั้ง จ.ปัตตานี อำเภอที่มีเหตุรุนแรงมากที่สุด 3 อำเภอแรกคือ อ.ทุ่งยางแดง โคกโพธิ์ และสายบุรี อำเภอละ 4 ครั้ง อ.เมือง หนองจิก และกะพ้อ อำเภอละ 3 ครั้ง ส่วน จ.นราธิวาส อำเภอที่มีเหตุรุนแรงมากที่สุด คือ อ.บาเจาะ 5 ครั้ง เป็นเหตุยิง 4 ครั้ง ลอบวางระเบิด 1 ครั้ง
ยอดผู้เสียชีวิตนับตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.2547 จนถึงวันที่ 31 พ.ค.2554 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,326 ราย แยกเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ 1,803 ราย ศาสนาอิสลาม 2,404 ราย ไม่ระบุศาสนา 119 ราย ผู้บาดเจ็บจากเหตุรุนแรงมีทั้งหมด 7,633 ราย แยกเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ 4,724 ราย ศาสนาอิสลาม 2,425 ราย และไม่ระบุศาสนา 484 ราย
สถานการณ์ทรงตัว-เปิดชื่ออำเภอไร้ป่วน
ทั้งนี้ หากพิจารณาสถิติเหตุรุนแรงรอบ 2 เดือนของไตรมาสที่ 2 ปี 2554 คือเดือน เม.ย.กับ พ.ค. เทียบกับห้วงเวลาก่อนหน้าจะพบว่าสถานการณ์ภาพรวมที่ชายแดนใต้ค่อนข้างทรงตัว กล่าวคือมีเหตุร้ายรายวันเฉลี่ย 50-60 ครั้งต่อเดือน โดยเมื่อเดือน ม.ค.เดือนแรกของศักราชนี้มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 62 ครั้ง เดือน ก.พ.52 ครั้ง ขณะที่เดือน เม.ย.มีเหตุร้ายรายวันทั้งสิ้น 48 ครั้ง และเดือน พ.ค.พุ่งกลับขึ้นมาอยู่ที่ 60 ครั้ง
ประเด็นที่น่าสนใจคือ พื้นที่ที่ไม่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเลยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “พื้นที่สันติสุข” และมีผลต่อการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ได้ในอนาคต
จ.ยะลา ประกอบด้วย อ.กาบัง เบตง และธารโต จ.ปัตตานี ได้แก่ อ.แม่ลาน กับ อ.ไม้แก่น ส่วน จ.นราธิวาส ได้แก่ อ.แว้ง และ อ.สุคีริน