ทางสองแพร่ง BRN ปรับทีมพูดคุย กับ 5 เหตุผลรัฐไม่กล้าลุยรับ 5 ข้อเรียกร้อง
ข่าวสารความไม่แน่นอนเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นกลุ่ม นายฮัสซัน ตอยิบ มีมาเป็นระยะ และเริ่มชัดเจนขึ้นว่าจะมีการปรับทีมพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็นในการพบปะครั้งต่อไปอย่างแน่นอน ซึ่งฝ่ายความมั่นคงวิเคราะห์เรื่องนี้โดยมองโยงกับสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นเป็นระยะด้วย
แหล่งข่าวจากหน่วยงานด้านความมั่นคง เปิดเผยว่า สาเหตุที่สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงนี้กลับมารุนแรงขึ้นอีกระลอก (โจมตีอีโอดีเมื่อศุกร์ที่ 27 ก.ย. โปรยตะปูเรือใบรถตำรวจคว่ำดับ 5 / วางระเบิดรถหุ้มเกราะทหารดับ 4 เมื่อวันพุธที่ 2 ต.ค.) เป็นเพราะเกิดปัญหาขึ้นทั้งในกลุ่มบีอาร์เอ็นที่เข้าร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับรัฐบาลไทย และกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้ร่วมโต๊ะพูดคุยด้วย
ทั้งนี้ ในส่วนของกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่บีอาร์เอ็น เช่น พูโล พบความเคลื่อนไหวการพยายามก่อเหตุรุนแรงเพื่อกดดันให้รัฐบาลไทยหันไปพูดคุยด้วย เพราะเริ่มมีความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลชุดนี้ "เอาจริง" กับกระบวนการพูดคุย และรัฐบาลก็ยังมีแนวโน้มอยู่ในอำนาจได้อีกหลายปี
ขณะที่ในส่วนของบีอาร์เอ็น มีข่าวว่าแกนนำบางส่วน โดยเฉพาะกลุ่มของ นายสะแปอิง บาซอ แกนนำคนสำคัญในสภาองค์กรนำ (ดีพีพี) ไม่พอใจบทบาทของรัฐบาลมาเลเซียที่พยายามยกสถานะของตนเองขึ้นเป็นคนกลางเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น ทำให้นายสะแปอิงไม่สนับสนุนกระบวนการพูดคุย
ท่าทีดังกล่าวสอดคล้องกับข่าวที่ปรากฏอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้ว่า แกนนำบีอาร์เอ็นไม่ได้เต็มใจเข้าร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพ แต่ถูกสันติบาลมาเลเซียบังคับ เพื่อเดินหน้าการพูดคุยแบบเปิดเผยตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตกลงเอาไว้กับ นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย จากการพบปะกันหลายครั้งทั้งในปี 2555 และ 2556
ขณะที่เอกสารอธิบายข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ความยาว 38 หน้าที่ส่งถึงทางการไทยก่อนหน้านี้ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ประสานงานชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน กองทัพบก ซึ่งเคยมีบทบาทพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ก็ออกมาระบุว่า เป็นเอกสารที่ทางการมาเลเซียจัดทำขึ้นทั้งหมด ไม่ใช่ฝ่ายบีอาร์เอ็นทำเอง
เช่นเดียวกับบุคคลที่เข้าร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพในรัฐบาลชุดก่อนอย่าง นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีต ส.ส. และอดีตสมาชิกวุฒิสภา ก็เคยให้สัมภาษณ์ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐแม้จะหลบซ่อนและพำนักอยู่ในมาเลเซีย แต่ส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะให้มาเลเซียเป็นคนกลางหรือมีบทบาทในกระบวนการพูดคุย เพราะไม่มีความไว้วางใจ และถูกกดดันมาตลอด
คาดดันฮัสซันขึ้นหิ้ง- "อาแว ยาบะ"เสียบ
อย่างไรก็ดี ฝ่ายบีอาร์เอ็นไม่สามารถเคลื่อนไหวอะไรได้มากนัก เนื่องจากแกนนำส่วนใหญ่พำนักอยู่ในมาเลเซีย ล่าสุดจึงมีข่าวว่าฝ่ายบีอาร์เอ็นกำลังพิจารณาปรับโครงสร้างคณะพูดคุย โดยอาจไม่ให้นายฮัสซันเป็นหัวหน้าคณะอีกต่อไป แต่จะดันขึ้นเป็นที่ปรึกษา เพื่อรักษาภาพการพูดคุยเอาไว้ แล้วส่งสมาชิกที่มีความสำคัญน้อยกว่าเป็นหัวหน้าคณะแทน
ทั้งนี้ มีชื่อของ นายอาแว ยาบะ แกนนำที่ใกล้ชิดกับนายฮัสซัน และเคยปรากฏตัวในวันลงนามข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เมื่อ 28 ก.พ.2556 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย อาจเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้รับหน้าที่แทนนายฮัสซัน
ทางสองแพร่งปรับทีมพูดคุย
กระนั้นก็ตาม แหล่งข่าวจากองค์กรอิสระภาครัฐที่ทำหน้าที่สนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทย กล่าวว่า ตอนนี้มีข่าวบีอาร์เอ็นปรับโครงสร้างคณะพูดคุยจริง แต่ข่าวยังไม่ชัดเจนว่าเป็นการปรับเพื่อยกระดับสู่การเจรจาตามที่ระบุในเอกสารคำอธิบายข้อเรียกร้อง 5 ข้อ หรือปรับเพื่อลดระดับความสำคัญของการพูดคุยลง
"ผมคิดว่าหัวหน้าคณะพูดคุยคนใหม่หากมีการตั้งจริง และเปิดตัวในการพูดคุยครั้งต่อไปราวๆ วันที่ 20 ต.ค.จะเป็นคำตอบว่าบีอาร์เอ็นมีท่าทีอย่างไร โดยหากเป็น นายอาแว ยาบะ ก็ชัดเจนว่าบีอาร์เอ็นต้องการลดระดับการพูดคุยลง หรือไม่ต้องการพูดคุยอีกต่อไปแล้ว แต่สาเหตุที่ยังต้องร่วมโต๊ะพูดคุยต่อไป ก็เพื่อรักษาหน้ามาเลเซีย ทั้งนี้เพราะ นายอาแว เป็นเพียงทีมงานของนายฮัสซัน ไม่ได้เป็นแกนนำที่มีความสำคัญในขบวนการ"
"แต่หากบีอาร์เอ็นปรับโครงสร้างการพูดคุย โดยดึงนักคิด นักวิชาการด้านต่างๆ เข้ามาเสริมทีม แล้วให้ ฮัสซัน ตอยิบ เป็นหัวหน้าทีมเหมือนเดิม หรือตั้งหัวหน้าทีมใหม่ที่มีความแข็งกร้าวในการเจรจามากขึ้น แล้วดัน ฮัสซัน ขึ้นเป็นที่ปรึกษา หากออกมาในรูปแบบนี้ ก็แสดงว่าการพูดคุยยังเดินหน้าต่อไป และบีอาร์เอ็นต้องการยกระดับเป็นการเจรจาเต็มรูปแบบตามที่ระบุในข้อเรียกร้อง" แหล่งข่าว ระบุ
ศอ.บต.ส่งทีมไปสวีเดน
ด้าน พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ขณะนี้บีอาร์เอ็นแตกออกเป็น 3 กลุ่ม 3 แนวคิด ขณะที่พูโลเองก็แตกเป็น 3 กลุ่มย่อย จึงอยากให้ฝ่ายขบวนการไปคุยกันให้ลงตัว และไปแก้ธรรมนูญของแต่ละกลุ่มว่าไม่สนับสนุนการแยกดินแดนเสียก่อน แล้วค่อยมาเปิดโต๊ะพูดคุยกับรัฐบาลไทย
มีรายงานด้วยว่า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ส่งคณะทำงานเดินทางไปยังประเทศสวีเดน โดยมีรองเลขาธิการ ศอ.บต.คนหนึ่งเป็นหัวหน้าคณะ เพื่อพบปะพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ โดยเฉพาะแกนนำพูโลที่ไปพำนักอยู่ในประเทศสวีเดนเป็นจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นอาจมี นายกัสตูรี มาห์โกตา ที่อ้างตัวว่าเป็นประธานกลุ่มพูโลใหม่รวมอยู่ด้วย
แหล่งข่าวที่เชี่ยวชาญกระบวนการพูดคุยสันติภาพ บอกว่า มีความเป็นไปได้ว่า ศอ.บต.กำลังขยายวงพูดคุย เพราะบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซันอาจไม่เต็มใจที่จะพูดคุยต่อไป
กฤษฎีกาถกเครียด 38 หน้า
ด้านความคืบหน้าการพิจารณาเอกสารอธิบายข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ความยาว 38 หน้า ตามที่ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติภาพ ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตเลขาธิการสำนักข่าวกรองมาเลเซีย ส่งถึง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทย ตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย.นั้น
ล่าสุดเอกสารยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในรายละเอียดโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) ในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ต.ค. (ก่อนเปิดวงพูดคุยกับบีอาร์เอ็นรอบใหม่ในสัปดาห์ที่ 3) น่าจะส่งผลการพิจารณาพร้อมข้อสังเกตต่อที่ประชุม
5 ข้อสังเกตไม่ควรรับ 5 ข้อเรียกร้อง
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา สมช.ได้ส่งเอกสารไปให้ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา โดยบางส่วนได้ส่งข้อสังเกตกลับมาแล้ว ซึ่งเป็นข้อสังเกตแสดงความเป็นห่วงว่าไทยอาจตกอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบหากเดินหน้าการพูดคุยตามข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็น โดยระบุเหตุผลหลักๆ 5 ข้อ ดังนี้
1.ข้อเรียกร้องแต่ละข้อมีประเด็นแอบแฝงอยู่มาก ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ มีการสร้างเงื่อนไขให้ฝ่ายไทยยอมรับสาระหลัก แล้วมีเงื่อนไขย่อยตามมา และการจัดทีมพูดคุยใหม่ 15 คนตามที่ระบุในเอกสาร หากมีการยกระดับขึ้นเป็นการเจรจา ไทยจะยิ่งเสียเปรียบ เพราะฝ่ายบีอาร์เอ็นจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ร่วมเป็นคณะเจรจาอย่างสมบูรณ์
2.ข้อเรียกร้องข้อแรกที่ให้ยอมรับว่าบีอาร์เอ็นเป็น "องค์กรปลดปล่อย" เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย หากรัฐบาลยอมรับจะกลายเป็นปัญหาทางข้อกฎหมายตามมา และจะทำให้บีอาร์เอ็นมีสถานะเสมือนเป็น "รัฐ" ในทางการเมือง
3.การยอมรับให้มาเลเซียยกสถานะเป็น "คนกลาง" และเปิดให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาเป็นสักขีพยานตามที่ระบุในข้อเรียกร้องข้อ 2 และ 3 เท่ากับเป็นการยอมรับให้ปัญหาความขัดแย้งที่ชายแดนใต้ขยายวงเป็นปัญหาระหว่างประเทศ และมีผลผูกพันตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 (ต้องขอคำรับรองจากรัฐสภา)
4.การยอมรับอธิปไตยและการมีอยู่ของประชาชาติปาตานีมาเลย์ ตามข้อเรียกร้องข้อ 4 จะก่อให้เกิดผลทางกฎหมายมากกว่า "เขตปกครองพิเศษ"
5.ข้อเรียกร้องเรื่องการขอใช้สิทธิกำหนดใจตนเอง หรือกำหนดชะตาชีวิตตนเอง ที่เรียกว่า self determination ตามข้อเรียกร้องข้อ 4 อาจขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมายภายในของไทย
สุดท้ายยังมีข้อพิจารณาด้วยว่า การยอมรับข้อเรียกร้องทั้งหมดของบีอาร์เอ็น ไม่ได้หมายความว่าความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้จะยุติ เพราะยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่เคลื่อนไหวนอกเหนือจากบีอาร์เอ็นอีกหลายกลุ่ม หนึ่งในนั้นก็คือ "องค์การพูโล" ซึ่งมีข่าวว่าแตกออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มพูโลเก่า นำโดย ลุกมัน บินลิมา ร่วมโต๊ะพูดคุยอยู่กับบีอาร์เอ็น ส่วนอีก 2 กลุ่มที่แยกตัวออกมา คือกลุ่มของ นายกัสตูรี มาห์โกตา กับกลุ่มของ นายซัมซูดิน คาน ไม่ได้เข้าร่วมโต๊ะด้วย และมีข่าวตั้งกองกำลังขึ้นก่อเหตุรุนแรงเพื่อกดดันให้รัฐบาลไทยเปิดกระบวนการพูดคุยกับกลุ่มตน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : คนกลางสวมแว่น คือ นายอาแว ยาบะ (หรือ อาวัง ยาบะ) ถ่ายร่วมกับนายฮัสซัน ตอยิบ และแกนนำคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทย เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2556 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นวันลงนามริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพ