ธเนศ : ลดลัทธิไทยเป็นใหญ่ แล้วจะเข้าใจปัตตานี
ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นผ่านแว่นประวัติศาสตร์ ย้ำไม่มีอะไรแปลกประหลาด และน่าจะใช้การพูดคุยเป็นโอกาสในการเขียนประวัติศาสตร์ที่ไม่บาดหมาง อันจะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งสันติสุข
ศ.ดร.ธเนศ ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างสูงในฐานะนักประวัติศาสตร์การเมืองไทยชื่อก้อง กล่าวเรื่องนี้ในรายการ "คม ชัด ลึก" ทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมช่องเนชั่น เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2556 ในหัวข้อ "ใครปกครองพิเศษ (2)"
เขากล่าวว่า แนวคิดที่เป็นภาพรวมของข้อเรียกร้อง 4-5 ข้อของบีอาร์เอ็นนั้น โดยหลักแล้วไม่ต่างจากสมัย หะยีสุหรง (ผู้นำทางจิตวิญญาณของคนมลายูมุสลิมชายแดนใต้ บิดาของ นายเด่น โต๊ะมีนา อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย) กับผู้แทนฝ่ายปัตตานี ซึ่งได้เจรจากับรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อปี พ.ศ.2490
หลักๆ คือเรียกร้องการปกครองตนเองมากขึ้น โดยขอให้แต่งตั้งผู้มีอำนาจเต็มใน 4 จังหวัดภาคใต้ที่เป็นคนมุสลิม และเป็นคนที่อยู่ใน 4 จังหวัด ทั้งยังต้องผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนใน 4 จังหวัดด้วย
"ตอนหลังที่เราเรียนกันมาก็บอกว่านี่แหละคือหลักฐานการแยกดินแดน แต่ผมนำข้อเรียกร้องตอนนั้นมาอ่านหลายรอบ สรุปได้ว่าไม่ใช่การแยกดินแดน เขาไม่ได้ขอแยก แต่เขาขอเลือกผู้ปกครองของเขาเอง และให้รัฐบาลกำหนดว่าอยู่ได้กี่ปี แสดงว่ายังยอมรับการอยู่ภายใต้รัฐบาลและประเทศไทย แนวคิดอันนี้กับบีอาร์เอ็นในปัจจุบันถือว่าคล้ายกัน"
มลายูอยู่ที่นี่...แล้วจะแยกทำไม
ศ.ดร.ธเนศ เห็นว่า หลายปีที่ผ่านมาทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนถูกปะยี่ห้อให้การต่อสู้ของคนมลายูมุสลิมในภาคใต้ และขยายผลว่าเป็นก่อการร้าย โจรกรรม ซึ่งความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น และข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นก็ถือเป็นครั้งแรกที่เป็นการพูดใหม่ในเรื่องเก่า คนไม่รู้ประวัติศาสตร์อาจจะรู้สึกแปลกใจ แต่ถ้าเคยศึกษามาจะไม่ตกใจ ที่สำคัญคือถึงอย่างไรก็ยังยืนยันอยู่ใต้รัฐไทย
ส่วนที่บางฝ่ายมองว่าจริงๆ แล้วบีอาร์เอ็นมีจุดหมายคือเอกราช ฉะนั้นจึงไม่ควรไว้ใจข้อเรียกร้องที่เสนอมานั้น ศ.ดร.ธเนศ กล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัว แต่ละคนคิดอะไรก็ได้ คงไม่ยืนยันว่ามีคนต้องการเอกราชหรือไม่มี แต่ในตรรกะความเป็นจริง การแยกดินแดนทางกายภาพเป็นเรื่องล้าสมัย ไม่มีความจำเป็น ที่สำคัญในแง่ประวัติศาสตร์และศาสนา อาณาจักรปาตานีตั้งอยู่ในดินแดนนี้มาหลายร้อยปีแล้ว
"เขาอยู่ที่นี่ ไม่ได้อพยพมา แล้วเขาจะแยกไปทำไม เขามีความชอบธรรมที่จะอยู่ที่นี่มากกว่าคนอีกค่อนประเทศไทยด้วยซ้ำ" ศ.ดร.ธเนศ ระบุ
แยกดินแดน...ประวัติศาสตร์เล่นตลก
เขาอธิบายต่อว่า คำศัพท์ "แยกดินแดน" มาปรากฏในภายหลัง เรียกได้ว่าหลังจากตอนที่ หะยีสุหรง ถูกจับขึ้นศาล เพราะตอนตั้งข้อหาก็ตั้งข้อหากบฏ ดูหมิ่นรัฐบาล แต่ไม่มีข้อหาแบ่งแยกดินแดน ขณะที่ข้อหาแบ่งแยกจริงๆ เกิดขึ้นมาหลังจากทางการจับ ส.ส.อีสาน ที่ไปช่วยขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชของลาว แล้วพวกนั้นจะไปแบ่งแยกเอาลาวกลับมารวมกับอีสาน กรณีนั้นต่างหากที่ถือเป็นการแบ่งแยกจริงๆ ไม่ใช่ภาคใต้ แล้วก็ตลกที่อีกไม่กี่ปีต่อมา คำกล่าวหานั้นย้ายลงไปอยู่ที่ภาคใต้ เป็นการเล่นตลกของประวัติศาสตร์
"ความต้องการแบ่งแยกดินแดนถ้ามีจริงคงเขียนซ่อนเอาไว้ไม่ได้ เพราะข้อตกลงเหล่านี้ต้องผ่านกฎหมาย ต้องทำให้ยอมรับกันทุกฝ่าย มีการเจรจาต่อรองทั้งระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด ระดับชาติ กว่าจะสรุปว่าการปกครองตนเองนั้นทำอะไรได้แค่ไหน มีอะไรที่ทำไม่ได้"
เรื่องเดียวกัน...แต่ 2 เวอร์ชั่น
ส่วนการเรียนขานประเทศไทยว่านักล่าอาณานิคมสยาม หรือการยื่นเงื่อนไขให้ยอมรับการมีอยู่ของอาณาจักรอิสลามปาตานีมาก่อน ซึ่งระบุอยู่ในข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นข้อ 4 นั้น ศ.ดร.ธเนศ เห็นว่า การที่ฝ่ายขบวนการพูดถึงประวัติศาสตร์อย่างละเอียดมาก เพราะเป็นความเข้าใจของคนปัตตานีต่อประวัติศาสตร์ของตน และการตีความลักษณะนี้คงเป็นที่ยอมรับกัน มีการค้นคว้าต่างๆ มาจริง
"ถ้าเราอ่านประวัติศาสตร์ฝ่ายไทย หรือพงศาวดารเป็นหลัก และที่สอนกันต่อๆ มา เราก็จะพบว่าเราอธิบายอีกแบบหนึ่ง คือเป็นเหตุการณ์สมัยรัชกาลที่ 1 กรมพระราชวังบวรฯ นำทัพเสด็จลงใต้ ไปที่เมืองสงขลา แล้วเรียกเจ้าเมืองต่างๆ มารายงานตัว ปรากฏว่าปัตตานีไม่มา แสดงว่าเป็นกบฏ ต่อต้าน จึงส่งกำลังเข้าไปปราบ เป็นศึกใหญ่มาก คนตายเป็นพัน ก็ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์สำคัญในการเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปัตตานี จากนั้นก็ถูกแยกเป็น 7 หัวเมืองและอื่นๆ ต่อเนื่องมา"
"เมื่อมาถึงตอนนี้ก็จะพบว่ามีการอธิบายประวัติศาสตร์รุ่นเดียวกัน 2 เวอร์ชั่น 2 มิติ แน่นอนว่าคนที่เข้าใจประวัติศาสตร์แบบเดิมซึ่งดูแล้วเรียบร้อยดี ผนวกล้านนาก็เรียบร้อย ที่อื่นๆ ก็เรียบร้อย ก็จะข้องใจว่าทำไมปัตตานีไม่เรียบร้อย ผมเข้าใจว่าฝ่ายไทยคงรับไม่ได้และอึดอัดมาก เรายังเชื่อว่าสิ่งที่พงศาวดารพูดนั้นถูกทั้งหมด แต่จริงๆ แล้วในแง่ประวัติศาสตร์ หลักฐานเล่าตามข้อเท็จจริงของฝ่ายที่บันทึก การตีความ การอธิบายทุกที่เหมือนกัน เมื่อเวลาผ่านไป ข้อมูลเปิดเผยมากขึ้น การตีความก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ"
"ยกตัวอย่างประวัติศาสตร์อเมริกาตอนนี้ ก็มีฉบับที่คนผิวดำเขียน อธิบายว่าการเป็นทาสมันเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เมื่อก่อนไม่ยอมรับ แต่เดี๋ยวนี้ยอมรับ ประธานาธิบดีอเมริกาต้องออกมาขอโทษคนผิวดำที่เอาเขามาเป็นทาสเมื่อ 200-300 ปีก่อน ถามว่าทำอย่างนี้ไม่เสียหน้าหรือ แต่มันก็ต้องทำ เพราะหลักฐานมันพิสูจน์แล้วว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ แล้วคุณจะไปเถียงทำไม ก็จบกัน จะได้อยู่ด้วยกันได้อย่างเป็นสุข"
แนะสร้างประวัติศาสตร์ไม่บาดหมาง
ศ.ดร.ธเนศ บอกอีกว่า ประวัติศาสตร์ทุกฉบับมีทั้งถูกและไม่ถูก พูดตรงๆ คือไม่มีประวัติศาสตร์ที่ไหนถูก 100% ทั้งของยุโรป อเมริกา และที่อื่นๆ ทั่วโลก เนื่องจากประวัติศาสตร์เป็นแค่หลักฐานชิ้นหนึ่งที่บอกเล่าเหตุการณ์อันหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้ว เหตุการณ์นั้นก็จบไป บุคคลในประวัติศาสตร์ก็ตายไปหมดแล้ว เรื่องนั้นก็ควรไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ เป็นประวัติศาสตร์ในความทรงจำหรือการรับรู้ แต่คนยุคปัจจุบันนำมาศึกษาได้ เป็นแบบเรียน เป็นรากเหง้าได้ แต่อย่ากลับไปเพื่อชำระใหม่ เราจะไปแก้แค้นแทนคนรุ่นนั้น หรือไปทำให้คนรุ่นนั้นเป็นฝ่ายถูก มันก็ไม่จบ
"แน่นอนว่าข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นต้องแรง เพราะเสนอจากเวอร์ชั่นของฝ่ายถูกกระทำ ฉะนั้นสองฝ่ายต้องหันมาแลกเปลี่ยนกัน ข้อมูลต้องแชร์กัน ตัวละครอยู่ในปริมณฑลของรัฐ คือรัฐเล็กกับรัฐใหญ่ปฏิสัมพันธ์กัน ก็ต้องมาแลกเปลี่ยนกันว่า มองจากจุดของฝ่ายผู้ถูกกระทำเป็นอย่างนี้ มองจากฝ่ายผู้กระทำเป็นอย่างนี้ แล้วคิดกลับกันบ้าง เอาฝ่ายทำมาอยู่ฝ่ายไม่ทำ แล้วจะเล่าประวัติศาสตร์อย่างไร ถ้าคุยกันได้อย่างนี้ จะมีเวอร์ชั่นที่ไม่บาดหมางกัน และยอมรับกันได้ออกมา"
ดึงนานาชาติร่วม...ป้องกันการเบี้ยว
ส่วนเรื่องเขตปกครองพิเศษ ศ.ดร.ธเนศ บอกว่า รูปแบบน่าจะมาทีหลัง เพราะเป็นเรื่องซับซ้อน มีกลไกหลายอย่างที่ต้องพิจารณา แต่ระดับที่ปฏิบัติได้เลยคือให้ยุติความรุนแรง ตรงนี้น่าจะทำก่อน จะได้เป็นความเชื่อมั่น แต่ต้องใช้เวลา เพราะขบวนการใต้ดินจะคุมกันยากมากๆ เนื่องจากสถานะการเป็นองค์กรปิดลับ ฉะนั้นถ้ามีเวลาให้แต่ละฝ่ายได้เห็นว่าการเจรจาเพื่อคลี่คลายปัญหานี้เป็นทางออกที่ดี และไม่ใช่เรื่องเกินกำลังที่จะทำได้ ก็จะสร้างบันไดขั้นแรกๆ ในการก้าวต่อไป
เรื่องที่มีบางฝ่ายกังวลว่าการเดินหน้าเรื่องเขตปกครองพิเศษถือเป็นวาระส่วนตัวของบางคน บางกลุ่มนั้น คิดว่าจริงๆ ทำได้ยาก เพราะคนจำนวนมากรับรู้ และคนในพื้นที่จะต้องรับผิดชอบกับผลที่ตามมา ถ้าคนไม่ต้องการ แล้วไปงุบงิบกัน คิดว่าจะต้องถูกปฏิเสธจากประชาชนในพื้นที่
"การเปิดเจรจาครั้งนี้แปลก ไม่เหมือนกับที่อื่นๆ เพราะมีผู้ได้เสีย หรือ stakeholders มากกว่าแค่ตัวแทน ไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ แต่หลายอย่างที่ก้าวไปเป็นเพราะประชาสังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เองพยายามให้ข้อมูล เคลื่อนไหว เหมือนกับทำหน้าที่เจรจานอกรอบ เป็นผู้ดู แต่เอาจริงเอาจังมาก เชียร์กันแหลกเลย ตีความให้เสร็จเลย (หัวเราะ)"
สำหรับความเป็นไปได้เรื่องการทำประชามติสอบถามความเห็นของประชาชน ศ.ดร.ธเนศ มองว่า ประชามติเป็นเครื่องมือที่ควรใช้เมื่อแน่ใจว่าทั้งสองฝ่ายจะปฏิบัติตามแน่ แต่ถ้าทำแล้วอีกฝ่ายไม่ทำตามก็จะมีปัญหา ต้องแน่ใจว่าไม่เบี้ยวกัน ไม่อย่างนั้นจะไม่มีประโยชน์ ประชามติออกมาแล้วทำไม่ได้ก็ไร้ประโยชน์ อย่าไปสู่จุดนั้นเลย
"การเจรจาทุกอย่างต้องมีอำนาจที่ชอบธรรมอันหนึ่งมาบังคับให้ยอมรับ นี่อาจเหตุผลที่บีอาร์เอ็นต้องการดึงโอไอซี (องค์การความร่วมมืออิสลาม) และชาติอาเซียนเข้ามา เพื่อให้การเจรจามีหลักประกัน หรือถูกกรอบของนานาชาติบีบให้เบี้ยวไม่ได้ เพราะสมัยหะยีสุหรง เจรจาไปก็ไม่มีประโยชน์ ถ้ารัฐบาลกลางไม่รับก็จบไปเลย แถมยังถูกจับอีก"
ใช้ประโยชน์มาเลย์ดีกว่าหวาดระแวง
ขณะที่บทบาทของมาเลเซียที่หลายฝ่ายยังระแวงนั้น นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง บอกว่า ส่วนตัวไม่ระแวง เพราะมองโลกในแง่ดี และเข้าใจว่านี่เป็นการเมืองระดับภูมิภาค ต้องยอมรับความจริงว่ามาเลเซียกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีจุดร่วมกันในแง่ของความเป็นมุสลิม แล้วจะไปห้ามไม่ให้ใกล้ชิดกันคงไม่ได้ แต่น่าจะใช้จุดร่วมนี้เป็นจุดบวกในการทำให้การเข้าร่วมประชาคมอาเซียนของไทยกลายเป็นประตูใหม่ที่มีความได้เปรียบ เป็นข้อได้เปรียบที่คนอื่นไม่มี แต่ไทยมี
"แทนที่จะไปกลัวมาเลเซียมาแทรกแซง ก็ใช้มาเลย์ให้เป็นประโยชน์ ให้มาช่วยพัฒนาสามจังหวัดภาคใต้ ทำให้อยู่ในร่องในรอยต่างๆ ได้ไหม"
ลดลัทธิไทยเป็นใหญ่...จะเข้าใจปัตตานี
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่ากังวลในทัศนะของ ศ.ดร.ธเนศ ก็คือ ความเข้าใจของคนส่วนใหญ่จะเป็นปัญหามากที่สุดกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เพราะข้อเรียกร้องต่างๆ มันไปแตะแกนหลักของประวัติศาสตร์ชาติไทยทั้งหมดเลย ทำให้สั่นสะเทือน
"ถ้ามติมหาชนส่วนใหญ่รอบนอกเกิดมีปฏิกิริยาอะไรต่างๆ สมมติว่า 70 จังหวัดประท้วง แล้วใครจะเจรจาต่อได้ ต้องไม่ลืมว่านี่เท่ากับเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างประวัติศาสตร์ชาติไทย ถ้ายอมรับประวัติศาสตร์เวอร์ชั่นของปัตตานี ล้านนาก็จะตีความทำนองใกล้ๆ กันแบบนี้ ทุกคนก็จะมีประวัติศาสตร์เป็นของตัวเอง มีอัตลักษณ์อะไรต่างๆ เพียงแต่ไม่มีขบวนการเรียกร้อง แต่จะสะเทือนการตีความประวัติศาสตร์ต่อมา"
ศ.ดร.ธเนศ กล่าวทิ้งท้ายว่า คนไทยต้องเริ่มมองประวัติศาสตร์ของคนอื่นมากขึ้น ทั้งในและนอกประเทศ เมื่อความเข้าใจประวัติศาสตร์กว้าง เห็นการเปลี่ยนแปลงมาก การจะเข้าใจปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาค หรือในท้องถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยเองก็จะง่ายขึ้นด้วย และง่ายในการทำใจ ต้องลดลัทธิไทยเป็นใหญ่ (Thai ethnocentricism) ในการมองประวัติศาสตร์เรา และการมองประวัติศาสตร์คนอื่นด้วย
"เวลามองประวัติศาสตร์เพื่อนบ้าน เราก็มองจากมุมของไทย ไอ้นั่นก็เคยเป็นของไทย ไอ้นี่ก็เป็นของไทย ไอ้นั่นมากดขี่เรา แต่เราไม่เคยดูเวลาเราไปทำคนอื่น ไปเอาของคนอื่น เราไม่พูด ต้องเปิดมิติและโลกทัศน์ของคนไทย ไม่อย่างนั้นปัญหาในก็แก้ไม่ได้ ปัญหานอกก็แก้ไม่ได้อีก"
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ