ภาพรวมไฟใต้ปี 56 เหตุร้ายลด-ระเบิดเพิ่ม พุ่งเป้ากลุ่มร่วมมือรัฐ
ในโอกาสสิ้นปีงบประมาณ 2556 เมื่อวันจันทร์ที่ 30 ก.ย. และเริ่มปีงบประมาณใหม่ คือปีงบประมาณ 2557 ในวันที่ 1 ต.ค. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) โดย พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกฯ ได้แถลงผลการปฏิบัติงานด้านต่างๆ ตลอด 1 ปีงบประมาณที่ผ่านมา โดยยืนยันว่าสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น
เหตุร้ายลด-ระเบิดเพิ่ม-สูญเสียทรงตัว
เริ่มจากภาพรวมของความรุนแรงในพื้นที่ยังคงปรากฏอยู่อย่างต่อเนื่อง ในห้วงปี 2556 มีจำนวนการก่อเหตุร้ายลดลง แต่มีการใช้ระเบิดมากขึ้น ทำให้การสูญเสียยังทรงตัวใกล้เคียงกับห้วงปี 2555 การเกิดเหตุรุนแรงส่วนใหญ่เกิดบนถนน 67% เขตชุมชน 24% และอื่นๆ 9%
กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงมากที่สุด คือ ราษฎรทั้งที่นับถือศาสนาพุทธและอิสลามที่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ตามด้วยเจ้าหน้าที่รัฐ โดยสัดส่วนการเสียชีวิตระหว่างประชากรไทยพุทธกับไทยมุสลิมอยู่ที่ 4:1
ป่วนรอมฎอนพุ่งสูงสุดรอบ 3 ปี
ส่วนการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 28 มี.ค. 29 เม.ย. และ 13 มิ.ย.2556 ได้รับความสนใจ มีทั้งเสียงสนับสนุนและมีผู้ไม่เห็นด้วย มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะภาคประชาสังคม นักวิชาการ และเครือข่ายนักศึกษา มีการแสดงความเห็นร่วมระหว่างผู้แทนฝ่ายไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐในการลดเหตุร้ายในห้วงเดือนรอมฎอน
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีบางกลุ่มในพื้นที่ปฏิเสธกระบวนการพูดคุย ทำให้สถานการณ์ในห้วงเดือนรอมฎอนปีนี้ พบว่าการก่อเหตุรุนแรงทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเดือนรอมฎอนมีจำนวนเฉลี่ยสูงมากกว่าห้วง 3 ปีที่ผ่านมา
ปะทะ 37 ครั้ง วิฯ 45 ราย ยึดปืน 215 กระบอก
ในด้านการรักษาความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน และภัยแทรกซ้อน ได้เข้าดำเนินการต่อเป้าหมายพื้นที่และบุคคล เพื่อควบคุมพื้นที่ และจำกัดเสรีผู้ก่อเหตุรุนแรง ผลการปฏิบัติ ปะทะ 37 ครั้ง ผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิต 45 คน, ถูกควบคุมตัว 5 คน และมอบตัว 2 คน ตรวจยึดอาวุธปืนได้จำนวน 215 กระบอก พร้อมยึดกระสุน อุปกรณ์ประกอบระเบิด และอื่นๆ เป็นจำนวนมาก สามารถทำลายความพยายามในการก่อเหตุด้วยระเบิด 116 ครั้ง
มีการบูรณาการกำลังร่วม 3 ฝ่ายเพื่อดำเนินการต่อธุรกิจผิดกฎหมายที่สนับสนุนและเกื้อกูลต่อการก่อเหตุรุนแรง ที่สำคัญได้แก่ น้ำมันเลี่ยงภาษีและยาเสพติด โดยได้ตรวจค้นและจับกุมผู้กระทำความผิด พร้อมทั้งยึดของกลางน้ำมันเลี่ยงภาษี จำนวน 92,876 ลิตร และยาบ้าจำนวน 1,378,600 เม็ด
สำหรับการป้องกัน ได้ให้ความรู้และรณรงค์ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมตามโครงการวัด/มัสยิดสานใจป้องกันภัยยาเสพติด จำนวน 65 วัด 629 มัสยิด และโครงการญาลันนันบารู ซึ่งมีผู้ผ่านการอบรมแล้ว 21,100 คน นอกจากนี้ยังมีโครงการโรงเรียนสุขอนามัยห่างไกลยาเสพติด 82 โรงเรียน
ดูแลสุขภาพ ผู้ด้อยโอกาส ส่งเสริมรายได้
ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและโครงสร้างพื้นฐาน
มิติสุขภาพ ได้จัดชุดแพทย์และชุดทันตกรรมเคลื่อนที่, หมอเดินเท้า รวมถึงการจัดชุดแพทย์ออกให้บริการร่วมกับเครือข่ายพยาบาลรักบ้านเกิด มีประชาชนเข้ารับบริการ 85,463 คน
มิติผู้ด้อยโอกาส ได้จัดทำโครงการ 1 หมวด 1 โครงการให้การช่วยเหลือผู้ป่วย, ผู้พิการ, ผู้สูงอายุ, สตรี และเด็กที่ขาดโอกาสการเข้าถึงบริการ เช่น การซ่อมแซมบ้านเรือนให้จำนวน 1,450 หลัง, มอบรถเข็นให้กับผู้พิการ, มอบจักรยานให้เด็ก และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ ปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้ว 162 โครงการ
มิติการส่งเสริมรายได้ ส่งเสริมศูนย์การเรียนรู้ประจำตำบล ให้ความรู้แก่ราษฎรเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ยังให้การสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มทำดีมีอาชีพ จำนวน 286 กลุ่ม กลุ่มสตรีที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ จำนวน 56 กลุ่ม ขยายผลเข้าสู่วิสาหกิจชุมชน จำนวน 30 กลุ่ม และเปิดร้านค้าทำดีมาร์ทประจำอำเภอ ทั้ง 37 อำเภอ เพื่อรองรับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มอาชีพต่างๆ
ผ่านกระบวนการมาตรา 21 พ.ร.บ.มั่นคงฯ 3 คน
ด้านการอำนวยความยุติธรรม มีการขับเคลื่อนการปฏิบัติตาม มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) ได้ดำเนินการตามกระบวนการเรียบร้อยแล้ว 3 ราย และสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข ซึ่งหน่วยได้แสวงประโยชน์ใช้เป็นวิทยากรแนะนำให้ความรู้ และประชาสัมพันธ์ ปัจจุบันมีผู้ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการ จำนวน 1 ราย
ด้านสิทธิมนุษยชนและสร้างความเข้าใจ ได้มีการจัดอบรมเพิ่มพูนความรู้ด้านกฎหมายและด้านสิทธิมนุษยชนให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และได้จัดวิทยากรการเมืองเคลื่อนที่ให้ความรู้แก่ประชาชน ด้วยการเปิดเวทีชาวบ้านมากกว่า 100 ครั้ง ส่งผลให้ประชาชนออกมาต่อต้านการใช้ความรุนแรงและแจ้งข่าวสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 และไม่มีเรื่องร้องเรียนเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นประเด็นสำคัญ
โครงการ "ประชาร่วมใจทำความดีเพื่อแผ่นดิน" ได้จัดการอบรม เรียบร้อยแล้ว 10 รุ่น โดยมีผู้เข้ารับการอบรม 570 คน หลังจบการอบรม ได้พัฒนาสัมพันธ์และติดตามพฤติกรรมผู้เข้ารับการอบรมอย่างใกล้ชิด
สำหรับการเสริมสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่และนอกพื้นที่นั้น ได้ปฏิบัติการข่าวสารและประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อในพื้นที่และสื่อส่วนกลาง ได้แก่ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ และการใช้สื่อแบบพบปะ โดยเข้าพูดคุยกับพี่น้องประชาชน ผู้นำศาสนา และผู้นำชุมชนโดยตรง เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนมีความเข้าใจและลดความหวาดระแวงต่อกัน พร้อมสร้างความเชื่อมั่นต่อเจ้าหน้าที่รัฐให้มากขึ้น
พาคนกลับบ้าน 983 ชีวิต
ด้านการสร้างสภาวะที่เกื้อกูลต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง มีการจัดทำแผนงาน "พาคนกลับบ้าน" เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย และกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ โดยได้แบ่งมอบบัญชีเป้าหมายให้กับหน่วยเฉพาะกิจจังหวัด รวมทั้งได้ประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้บุคคลผู้มีหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) จำนวน 942 คน หมาย ป.วิอาญา (ออกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) จำนวน 1,407 คน และไม่มีหมายอีกจำนวนหนึ่ง ให้เข้ารายงานตัวแสดงตน
ปัจจุบันได้มอบหมายให้ "ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ" เป็นหน่วยรับรายงานตัวและอำนวยความสะดวก ขณะนี้มีผู้เข้ารายงานตัวจำนวน 983 คน โดยได้ดำเนินกรรมวิธีช่วยเหลือเรียบร้อยแล้ว 648 คน และอยู่ระหว่างดำเนินการ 335 คน
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์