ปลุกชีวิตใหม่เด็กพิเศษ 'สเปเชียลโอลิมปิก'กีฬาพัฒนาคน
‘ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา’ เป็นภาวะที่มีพัฒนาการบกพร่อง ซึ่งจะทำให้เกิดข้อจำกัดด้านสติปัญญา การเรียนรู้ และการปรับตัวในชีวิตประจำวัน โดยคาดการณ์ว่าไทยมีผู้บกพร่องทางสติปัญญาอยู่ราว 1 ล้านคน จากประชากรทั้งประเทศ 66 ล้านคน ซึ่งกรมสุขภาพจิต ระบุว่า ในจำนวนนี้ได้รับบริการในสถานพยาบาลเพียง 40,171 คน เท่านั้น (ร้อยละ 4 ของบุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาทั้งหมด)
นั่นแสดงให้เห็นว่า ไทยยังมีผู้บกพร่องทางสติปัญญาที่เข้าไม่ถึงระบบบริการสาธารณสุขอีกมาก อาจด้วยหลายปัจจัย อาทิ ครอบครัวและชุมชนขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะบกพร่องทางสติปัญญา หรือบุคลากรด้านสาธารณสุขขาดความเชี่ยวชาญในการดูแลสุขภาพบุคคลกลุ่มเหล่านี้ได้ดี
แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อมุ่งหวังให้ผู้บกพร่องทางสติปัญญาสามารถเรียนรู้และดำเนินชีวิตได้อย่างคนปกติ การช่วยเหลือจากสังคมภายนอกในการเปิดโอกาสยอมรับนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ ด้วยการนำ ‘กีฬา’ เป็นเครื่องมือช่วยให้เกิดการพัฒนาทักษะด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม จนผลวิจัยพบว่าสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ดีขึ้น 74-85%
‘การแข่งขันทักษะกลไกและแอโรบิกสำหรับเด็กพิการทางสติปัญญาภาคเหนือ ประจำปี 2556’ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปลายเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ณ โรงเรียนกาวิละอนุกูล อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยยูนิเซฟ ร่วมกับสเปเชียล โอลิมปิกเเห่งประเทศไทย มีนักกีฬาพิการเข้าร่วม 224 คน จาก 14 จังหวัด ถือเป็นหนึ่งในโครงการที่มุ่งใช้กีฬาเป็นสื่อกลางในการพัฒนาทักษะต่าง ๆ โดยมี ‘พอลล่า เทย์เลอร์’ นักแสดงชื่อดัง ในฐานะฑูตยูนิเซฟร่วมกิจกรรมด้วย
‘อัมภา จินะกัน’ หัวหน้าศูนย์สเปเชียลโอลิมปิกไทยภาคเหนือ เล่าว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นเริ่มตั้งแต่การฝึกทักษะกล้ามเนื้อ มือ ตา ให้ประสานสัมพันธ์กัน ผ่านกีฬาชนิดต่าง ๆ เช่น ปาลูกบอลเข้าเป้า กลิ้งลูกบอลชนธง ซึ่งทุกปีเด็กภาคเหนือจะได้รับโอกาสจากการเเข่งขันสเปเชียลโอลิมปิกระดับภูมิภาค ไปแข่งขันยังต่างประเทศ ทั้งระดับเอเชียแปซิฟิกและเวิลด์ซัมเมอร์เกมส์ที่จัดขึ้นทุก ๆ 4 ปี
อีกทั้ง เราเปิดโอกาสให้นักกีฬาที่พิการทางสติปัญญาและนักกีฬาปกติแข่งขันร่วมกัน และส่งทีมยูนิฟายด์ สเปเชียล โอลิมปิก ของไทย ในฐานะแชมป์กลุ่มรอบคัดเลือก โซนเอเชีย ได้สิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันศึกเวิลด์ คัพ ที่ประเทศบราซิล ในช่วงปลายปี 2557 ด้วย
หัวหน้าศูนย์สเปเชียลฯ ยังกล่าวถึงประโยชน์ของกีฬาว่า ช่วยพัฒนาร่างกายให้แข็งแรง ถึงขนาดเด็กบางคนมีโรคลมชักก็สามารถดีขึ้นได้ด้วยกีฬา ส่วนด้านสติปัญญา แม้จะไม่สามารถพัฒนาให้หายขาดได้ แต่หากมีการฝึกเด็กซ้ำบ่อย ๆ ก็จะทำให้เขาช่วยเหลือตัวเองและอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
ทั้งนี้ ยอมรับว่าปัจจุบันยังมีคนให้โอกาสเด็กบกพร่องทางสติปัญญาน้อยอยู่ สังเกตได้อย่างการแข่งขันครั้งนี้ไม่มีคนภายนอกเข้าชมเลย ยกเว้นผู้ปกครองด้วยกันเอง จึงวิงวอนให้สังคมเปิดพื้นที่ให้เด็กได้ยืนในสังคมด้วย ขอเพียงรอยยิ้มและกำลังใจก็เพียงพอแล้ว
เมื่อถามว่ายังพบผู้ปกครองที่ไม่ยอมรับว่าลูกบกพร่องทางสติปัญญาหรือไม่ ‘อัมภา จินะกัน’ กล่าวว่า ยังมีที่ไม่เข้าใจหรือยอมรับว่าลูกตัวเองบกพร่องอยู่ หลายคนจึงไม่ยอมพาลูกเข้ารับการบำบัด แต่เราพยายามประสานกับชุมชนในการเข้าไปให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง เพื่อต้องการพัฒนาเด็กต่อไป
หัวหน้าศูนย์สเปเชียลฯ ยังระบุถึงความต้องการจากภาครัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่าช่วยสนับสนุนงบประมาณในการแข่งขันกีฬาสเปเชียล โอลิมปิก สำหรับผู้บกพร่องทางปัญญา โดยเฉพาะการแข่งขันศึกเวิลด์คัพ ที่บราซิล ในปลายปีหน้าด้วย เนื่องจากงบประมาณที่จะต้องใช้จัดกิจกรรมแต่ละครั้งไม่เพียงพอ เพราะการแข่งขันต้องมีพี่เลี้ยงประกบเด็ก 5 คน ต่อ พี่เลี้ยง 1 คน และหากซ้ำร้ายต้อง 1 ต่อ 1 สำหรับเด็กที่พิเศษเยอะ
สอดคล้องกับผลสัมฤทธิ์ “กีฬาสามารถพัฒนาผู้บกพร่องทางสติปัญญาได้” เมื่อ ‘ชาญชัย เข็มแก้ว’ (อุ้ม) ที่มีความพิการทางร่างกายและพิการซ้ำซ้อนทางสมองเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า การหมั่นเล่นกีฬาทำให้เขามีพัฒนาการที่ดีขึ้นจนช่วยเหลือตัวเองและยังเล่นกีฬาได้หลายประเภท
ที่สำคัญ ผู้ชายคนนี้ยังสามารถเข้าร่วมแข่งขันกีฬาสเปเชียล โอลิมปิก ประเภทเทเบิลเทนนิส และฟุตบอล ในทีมกีฬาของโรงเรียนกาวีละอนุกูล และได้รับการคัดเลือกให้เข้าอบรมหลักสูตรผู้นำนักกีฬาของสเปเชียลโอลิมปิก จนได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการของคณะกรรมการศูนย์สเปเชียลโอลิมปิคภาคเหนือ
“ปกติผมไม่ใช่คนพูดเก่ง และกล้าแสดงออก แต่เมื่อผมได้เข้าอบรมหลักสูตรผู้นำนักกีฬาของสเปเชียลโอลิมปิก ทำให้ผมกล้าแสดงออก กล้าคิด และกล้าทำมากขึ้น” นี่คือเสียงของ ‘อุ้ม’ ที่บอกถึงความภาคภูมิใจ
ก่อนจะระบุต่อว่า กีฬาได้เปลี่ยนชีวิตตนเองมาก จากคนที่มีร่างกายไม่แข็งแรงตั้งแต่กำเนิด เดินไม่ค่อยได้ แต่เมื่อได้รับกายบำบัดที่ถูกต้อง จึงทำให้ผมได้รับโอกาสที่ดีกลับมา โดยปัจจุบันตนเองได้รับการเลือกตั้งจากเพื่อนสมาชิกและคณะกรรมการศูนย์ภูมิภาคสเปเชียลโอลิมปิคไทย ให้เป็นผู้แทนนักกีฬาในคณะกรรมการอำนวยการของสเปเชียลโอลิมปิคประเทศไทย และทำงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมจ.ลำพูน ตำแหน่งพนักงานฝ่ายผลิต แผนกคัดแยกผลิตภัณฑ์ของ บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน)
อุ้ม กล่าวต่อว่า ทำงานที่บริษัทเอกชนมา 2 ปีแล้ว ซึ่งแรก ๆ ยอมรับว่าโดนตำหนิถึงประสิทธิภาพการทำงาน จนเกิดความไม่เข้าใจกับผู้ร่วมงาน แต่เมื่อเกิดการปรับตัวและหลายคนทราบว่าเราเป็นเด็กพิเศษ ทำให้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จนขณะนี้ไม่มีปัญหาเกิดขึ้นเลย
ส่วนแรงบันดาลใจที่ทำให้ยืนหยัดอดทนนั้น เพราะได้มาเห็นน้อง ๆ ที่โรงเรียนด้อยกว่าเราอีกหลายคน ทำให้ตนเองไม่คิดท้อแท้ แต่กลับต่อสู้ไปตลอดชีวิต อย่างไรก็ตาม ในอดีตเคยคิดน้อยใจเหมือนกันว่าทำไมจึงเกิดมาไม่เหมือนคนอื่น โดนคนดูถูกสารพัด
ทั้งนี้ อนาคตวาดฝันไว้ว่าจะช่วยเหลือน้อง ๆ ที่บกพร่องทางสติปัญญาต่อไป พร้อมเปิดร้านขายของตนเอง เพราะเชื่อว่าสุดท้ายคงไม่มีใครอยากเป็นลูกน้องคนอื่นไปตลอดชีวิต
พร้อมแย้มไอดอลในดวงใจ ‘เคน ธีรเดช’ ผู้สร้างแสงสว่างนำทางให้ตนเองมีชีวิตต่อไปอย่างมีความสุข
.........................................................................
เชื่อแน่ว่า หลายคนที่ได้อ่านคงรู้สึกภาคภูมิใจกับพัฒนาการของผู้บกพร่องทางสติปัญญาที่สามารถต่อสู้ หาเลี้ยงชีพ และยืนหยัดบนโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างภาคภูมิ โดยไม่ถูกตีตราว่า ‘เป็นภาระสังคม’ อีกต่อไป ตราบเท่าที่สังคมไทยให้โอกาส .