คลี่จดหมาย "สะมะแอ ท่าน้ำ" กับข้อเสนอดับไฟใต้-ดูแลเยาวชน
คุณูปการหนึ่งของการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ ที่บางฝ่ายปรามาสว่าเป็นเพียง "ละครหลังข่าว" ก็คือการเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ถือเป็นการทำงานอย่างแข็งขันของ ศอ.บต. หรือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำข้อมูลจากพื้นที่ไปสังเคราะห์และเพิ่มน้ำหนักของฝ่ายรัฐบาลไทยบนโต๊ะพูดคุยกับแกนนำบีอาร์เอ็นที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของประชาคมปาตานีทั้งหมด
แม้หลายเวที ศอ.บต.จัดอย่างฉุกละหุกและขาดยุทธศาสตร์ไปบ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นความตั้งใจที่ดี และได้ฟัง "เสียงจริง" จากประชาชนจำนวนไม่น้อย
โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ค่อยได้มีโอกาสส่งเสียงอย่างผู้ต้องขังในเรือนจำ!
ย้อนกลับไปเมื่อราวๆ เดือน มี.ค.2556 ศอ.บต.ได้ประสานกับกรมราชทัณฑ์เพื่อขอให้ย้ายนักโทษเด็ดขาด (ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว) ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลับไปคุมขังยังเรือนจำบ้านเกิด ตามระเบียบการย้ายผู้ต้องขังหรือนักโทษคดีเด็ดขาดไปคุมขังยังเรือนจำตามภูมิลำเนาของนักโทษ ซึ่งเรื่องนี้แม้จะไม่ตรงนักตามข้อเรียกร้องข้อ 5 ของบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ ที่ให้ปล่อยตัวนักโทษและยกเลิกหมายจับนักรบปาตานีทั้งหมด แต่ก็นับเป็นสัญญาณหนึ่งของการอำนวยความยุติธรรมจากรัฐ
และนักโทษเด็ดขาดชุดแรกเฉพาะคดีความมั่นคงจำนวน 2 คนที่ย้ายกลับเรือนจำตามภูมิลำเนาของตน คือเรือนจำจังหวัดยะลา ได้แก่ นักโทษชาย สะมะแอ สะอะ หรือ หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ หรือ นายอิสมาแอล กัดดาฟี อายุ 61 ปี หัวหน้ากองกำลังติดอาวุธขบวนการพูโล กับ นักโทษชาย บาบอแมบือโด เบตง อายุ 74 ปี ประธานขบวนการพูโล ทั้งคู่ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตในคดีกบฏแบ่งแยกราชอาณาจักร ตั้งแต่ปลายปี 2554 และก่อนหน้านี้ทั้งคู่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางสงขลา
หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ เป็นบุคคลที่ ศอ.บต.และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เข้าไปพบปะ เยี่ยมเยียน และขอรับฟังความคิดเห็นหลายครั้ง เพราะเขาคืออดีตนักต่อสู้และนักปฏิวัติที่มีอุดมการณ์สร้างสังคมใหม่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามแนวทางและความเชื่อของตน
เมื่อเร็วๆ นี้ หะยีอิสมะแอ ท่าน้ำ เขียนจดหมายเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นเรื่องการพัฒนา ภายใต้การทำงานขององค์กรที่ใช้ชื่อว่า "คณะกรรมการสิริมงคลทั่วประเทศ"
หะยีอิสมะแอ ท่าน้ำ บอกว่า การจะนำความสันติสุขและความมั่นคงกลับคืนมาได้ ทุกฝ่ายต้องร่วมกันสร้างความสามัคคีในหมู่ประชาชนให้เกิดขึ้นเสียก่อน เพราะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งและความรุนแรงอยู่ในปัจจุบัน พร้อมกันนั้นก็ต้องมียุทธศาสตร์กระตุ้นเศรษฐกิจ ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และดึงทุกฝ่ายมานั่งโต๊ะเจรจาเพื่อหาข้อยุติของความขัดแย้ง
ประเด็นสำคัญที่ หะยีสะมะแอ เน้นย้ำหลายครั้งในจดหมายก็คือ ต้องมีนโยบายดูแลกลุ่มเยาวชนในพื้นที่อย่างจริงจัง
สำหรับ "คณะกรรมการสิริมงคลทั่วประเทศ" เขาไม่ได้เสนอมาลอยๆ แต่มีการระบุโครงสร้างมาด้วย ประกอบด้วย ประธาน รองประธาน มีผู้ช่วย 3 คน มีเลขานุการ มีเหรัญญิก และมีสมาชิกมาจากการแต่งตั้งหรือเลือกตั้งจากทุกฝ่าย ทั้งผู้นำศาสนา นักการเมือง ข้าราชการ ทนายความ นักวิชาการ อดีตผู้นำขบวนการ กลุ่มเยาวชน กลุ่มสตรี และตัวแทนผู้นำท้องถิ่น รวมแล้ว 9 คน
องค์กรนี้ตั้งขึ้นเพื่อระดมสมองหาแนวทางแก้ปัญหาและการเยียวยาในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการเฉพาะ มีนโยบายสำคัญ 3 ด้าน ประกอบด้วย
นโยบายที่ 1 สามัคคี สันติสุข คือ สวัสดิภาพ ยุติธรรม และความชอบธรรม
นโยบายที่ 2 ส่งเสริมและสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจพอเพียง คือ เลี้ยงโค แพะ ทั้งเนื้อและนม ไก่เนื้อและไก่พันธุ์ เลี้ยงปลาน้ำจืด ปลาน้ำเค็ม ตัดเย็บ ผลิตอาหาร เครื่องดื่ม ปลูกพืชผักและไม้ยืนต้น
นโยบายที่ 3 การศึกษา ปลูกจิตสำนึกสร้างความเข้าใจ เน้นกิจกรรมกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม ทั้งอานาซีด ดิเกฮูลู อ่านกลอน แสดงละคร ยิงธนูวิ่งม้า แข่งเรือ ว่าว ฟุตบอล ชกมวย ปีนภูเขา ทำความสะอาดทะเล รวมทั้งแห่ขบวนช้างขบวนนก
นอกจากนี้ หะยีสะมะแอ ยังบอกว่า เขาเคยให้ความเห็นกับตัวแทนกองทัพภาคที่ 4 ในเรื่องของคุณสมบัติผู้นำคนใหม่ของขบวนการ โครงสร้างองค์การพูโล รวมทั้งรายชื่อคนที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำพูโล โดยได้เสนอแนะแนวทางการพูดคุยเจรจาอีกด้วย
"สำคัญที่สุดคือรัฐต้องจริงใจและมุ่งมั่นกับการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่" เขาย้ำ และดูจะเป็นสิ่งที่อดีตแกนนำพูโลรายนี้ต้องการมาตลอดชีวิต
เครือข่ายสตรียกร่างยุทธศาสตร์ผู้หญิงและเด็ก
พูดถึงการแก้ปัญหาเยาวชน เมื่อเร็วๆ นี้ ศอ.บต.ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนหญิง และองค์กรเครือข่ายสตรีที่ปฏิบัติงานด้านเด็ก เยาวชน และสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์คชอป) เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนสร้างความเข้มแข็งให้กับเด็ก เยาวชน และสตรี นำเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต.ต่อไป
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ที่ตกผลึกร่วมกันมี 8 ข้อ ได้แก่
1.การสร้างเจตคติด้านความเสมอภาคทางเพศ เพื่อให้ชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยอมรับบทบาทสตรีให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และความหลากหลายของวัฒนธรรมท้องถิ่น
2.การพัฒนาศักยภาพและเพิ่มโอกาสสิทธิทางสังคมของผู้หญิงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้สตรีทุกคน ทุกกลุ่มเข้าถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ การถือครองที่ดิน/ทรัพย์สิน ความมั่นคงทางอาหารและอาชีพ การเข้าถึงการศึกษาทุกระดับ รวมถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้หญิง
3.การพัฒนาสุขภาวะ สิทธิ อนามัยเจริญพันธุ์ คุณภาพชีวิต และการเสริมสร้างความมั่นคงในชีวิตของผู้หญิง เพื่อให้สตรีมีสุขภาพ สุขภาวะ เข้าถึงสิทธิ อนามัยเจริญพันธุ์ และคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน และสังคม
4.การคุ้มครองสิทธิการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง เพื่อสนับสนุนให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงความยุติธรรม และได้รับความคุ้มครองตามที่กฎหมายบัญญัติ
5.การพัฒนาศักยภาพสตรีเพื่อเพิ่มโอกาสในการมีส่วนร่วมทางการเมือง การบริหาร และการตัดสินใจในทุกระดับ เพื่อให้ผู้หญิงสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาโดยอาศัยประสบการณ์ของผู้หญิง รวมถึงศักยภาพในการมีส่วนร่วมทางการเมือง การบริหาร และการตัดสินใจในระดับต่างๆ
6.ส่งเสริมสิทธิในการเข้าถึงการศึกษา การศึกษาศาสนา และการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้หญิง/เด็ก เพื่อให้ผู้หญิงสามารถพัฒนาทักษะความรู้ให้มีความก้าวหน้า เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และสามารถนำความรู้มาใช้ในการพัฒนาครอบครัว ชุมชน และสังคม ทั้งนี้ให้สอดคล้องกับศีลธรรมอันดี
7.การให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสันติภาพ
8.การสนับสนุนกลไกการขับเคลื่อนแผนการทำงาน เพื่อทราบความก้าวหน้าในการปฏิบัติตามแผน รวมถึงปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ
น.ส.ธนวดี ท่าจีน ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า ชายแดนภาคใต้วันนี้มีโอกาสมากมาย แต่ก็ยังมีสิ่งที่ปิดกั้นอยู่ โดยเฉพาะสิ่งที่ผู้หญิงถูกกระทำในชุมชน ไม่มีใครกล้าออกมาพูด การจัดทำแผนยุทธศาสตร์จึงคาดหวังว่าจะสามารถเป็นเครื่องมือไปสู่จุดมุ่งหมายคือผู้หญิงได้รับการคุ้มครอง มีการใช้สิทธิเสรีภาพมากยิ่งขึ้น และสุดท้ายคือทำให้สังคมสันติสุข
รอซิดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ศอ.บต.ไม่มียุทธศาสตร์ด้านผู้หญิง ทั้งๆ ที่ปัจจุบันเราพบว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีจำนวนประชากรที่เป็นผู้หญิงและเด็กมากกว่าผู้ชาย ในขณะที่ผู้หญิงมีภาระมาก มีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเกิดเหตุความไม่สงบตลอด 9 ปีที่ผ่านมา และยังมีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ ทำให้เสียโอกาสในการพัฒนาตนเอง
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 บือโด เบตง (ซ้าย) สะมะแอ ท่าน้ำ (ขวา)
2 ท้ายจดหมายของ หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ
หมายเหตุ : ใช้เทคนิคพรางภาพเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ต้องขัง โดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา