ชาวบ้านเฮ! ศาลปค.อุบลฯ เพิกถอนใบอนุญาตโรงไฟฟ้าชีวมวล บ.บัวสมหมายฯ
ศาลปกครอง อุบลฯ สั่งเพิกถอนใบอนุญาตบ.บัวสมหมายฯ ตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี ชี้มิได้เปิดประชาพิจารณ์ทางการ จึงไม่ถือว่าให้ข้อมูลชาวบ้าน
เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2556 ศาลปกครองอุบลราชธานีพิจารณาคดีดำหมายเลขที่ ส.2/2555 กรณีนายทองคับ มาดาสิทธิ กับพวกรวม 185 คน ฟ้องร้องคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กับพวกรวม 7 คน เรื่อง คดีเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กระทำการโดยมิชอบทางกฎหมาย กรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี ของบริษัท บัวสมหมาย ไบโอแมส จำกัด
โดยศาลได้ตั้งข้อวินิจฉัยไว้ 3 ประเด็น คือ...
ประเด็นที่ 1 ผู้ฟ้องคดีทั้ง 185 คน ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในหมู่ที่ 3, 12 ต.ท่าช้าง และหมู่ที่ 9, 11 ต.บุ่งมะแลง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี มีสิทธิฟ้องคดีนี้หรือไม่
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีจะมีภูมิลำเนาอยู่นอกพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล (หมู่ที่ 17 ต.ท่าช้าง) แต่ถือว่าอยู่ใกล้เคียง และอาจได้รับผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงมีสิทธิฟ้องร้องได้ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ประกอบกับข้อ 25 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ส่งผลให้ข้ออ้างของบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ระบุว่า ชาวบ้านไม่มีสิทธิฟ้อง จึงฟังไม่ขึ้น
ประเด็นที่ 2 การที่ กกพ.ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานให้แก่บริษัทฯ ตามใบอนุญาต ที่ (สรข.5) 02-590/2553 เพื่อประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า กำลังการผลิต 9 เมกะวัตต์ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การเปิดประชาคมหมู่บ้าน หมู่ที่ 17 บ้านคำสร้างไชย เมื่อ 16 ต.ค. 2551 นั้น โดยมีการนำเรื่องการสร้างโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าชีวมวลเข้าสู่วาระการประชุมเพื่อเปิดโอกาสให้ชาวบ้านรับทราบเท่านั้น มิได้มีเจตนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นอย่างเป็นทางการ ที่สำคัญการประชุมดังกล่าวได้มีประกาศล่วงหน้าเพียง 1 วัน ซึ่งเป็นปกติอยู่แล้ว และหากเป็นทางการจริงระยะเวลาที่ชาวบ้านทราบเพียง 1 วัน ถือว่าไม่เพียงพอ
อีกทั้งผู้ฟ้องคดีที่มีภูมิลำเนาใกล้เคียง ซึ่งอาจได้รับผลกระทบก็มิได้มีโอกาสรับทราบข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับโครงการ ทั้งนี้หากจะอ้างว่าอุตสาหกรรมจ.อุบลราชธานีได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยปิดประกาศสำนักงานแจ้งให้ผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องภายใน 15 วัน ซึ่งอ.สว่างวีระวงศ์ได้ดำเนินการปิดประกาศ ณ ที่ว่าการอ.สว่างวีระวงศ์ อบต.ท่าช้าง และที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 17 บ้านคำสร้างไชยก็ตาม
แต่เมื่อพิจารณาประกาศเห็นว่าเป็นเพียงการแจ้งข้อมูลการขออนุญาตโรงงานที่ปรากฏรายละเอียดเฉพาะประเภท ลักษณะที่ตั้ง ระยะเวลาในการตั้งโรงงานและประกอบกิจการปัญหาสิ่งแวดล้อมและวิธีกำจัดน้ำทิ้งของโรงงาน และแกลบดำจากหม้อไอน้ำเท่านั้น จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ข้อมูลหรือชี้แจง
ดังนั้น การออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานให้แก่บริษัทฯ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ประเด็นที่ 3 อบต.ท่าช้าง ปล่อยให้บริษัท บัวสมหมาย ไบโอแมส จำกัด ขุดสระน้ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการก่อสร้างโรงงานประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า ถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดและเป็นการกระทำต่อผู้ฟ้องคดีทั้ง 185 คนหรือไม่นั้น
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า อบต.ท่าช้าง ซึ่งถือเป็นหน่วยราชการส่วนท้องถิ่นไม่ได้มีหน้าที่ตามกฎหมายหรือได้รับมอบหมายให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 พ.ร.บ.การขุดดินและถมดิน พ.ศ.2543 ไม่ได้ใช้บังคับในพื้นที่ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี รวมถึงรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมิได้ประกาศกำหนดไว้ จึงตีความว่าการที่อบต.ท่าช้างปล่อยให้บริษัทขุดสระไม่ถือว่าละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมาย ดังนั้นจึงไม่ละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้ง 185 คน
จากการพิเคราะห์ทั้งหมด ศาลจึงมีคำพิพากษาตัดสินเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า ที่ (สรข.5) 02-590/2553 ที่ออกให้แก่บริษัท บริษัท บัวสมหมาย ไบโอแมส จำกัด ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก (คำพิพากษาศาลปกครองอุบลราชธานี (แผนกคดีสิ่งแวดล้อม) คดีหมายเลขดำ ที่ ส.2/2555 หมายเลขแดง ที่ ส.6/2556) .