เปิดชื่อ 21 เขื่อน ในแผน “จัดการน้ำ” เครื่องมือป้องกันน้ำท่วม !
เปิดข้อมูล 21 เขื่อน ในเเผนบริหารจัดการน้ำ 'รัฐบาลปู' เครื่องมือป้องกันน้ำท่วม อธิบดีกรมป่าไม้ชี้ควรเลี่ยงสร้างเขื่อนบนป่าสมบูรณ์ เหตุต้องใช้ระยะฟื้นฟูร่วม 40 ปี
"เขื่อนแม่วงก์" จ.นครสวรรค์ 1 ในโครงการภายใต้เงินกู้บริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ วันนี้หาใช่มีแต่เขื่อนแม่วงก์เท่านั้นที่เกิดความขัดแย้งขึ้น ระหว่างกับคนต้นน้ำกับคนปลายน้ำ ล่าสุด “เขื่อนแม่แจ่ม” ที่ ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ผืนป่าที่เชื่อมกับดอยอินทนนท์ ก็เริ่มมีชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง หลายหมู่บ้านที่เดือดร้อนจากการจะสร้างเขื่อนแม่แจ่มหลายพันคน รวมตัวที่จะ “ไม่เอาเขื่อน” กันแล้ว
ทั้งเขื่อนแม่วงก์ และเขื่อนแม่แจ่ม หรือที่ภาครัฐใช้คำเพื่อหวังลดกระแสต่อต้านว่า “อ่างเก็บน้ำ” นั้น ได้ถูกหยิบมารวมกันไว้ใน โมดูล A1 “โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก” ที่ ITD POWER CHINA JV ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ไอทีดี กับบริษัท พาวเวอร์ ไชน่า ของประเทศจีน คว้าโครงการนี้ไป ด้วยงบประมาณกว่า 48,500 ล้านบาท โดยเลือกก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทั้งหมด 18 แห่ง ในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี ความจุเก็บกักน้ำทั้งหมดประมาณ 1,300 ล้านลบ.ม.
โมดูล A1 อ่างเก็บน้ำที่คัดเลือกมีทั้งหมด 18 แห่ง ดังนี้
ลุ่มน้ำปิงมี 6 โครงการ
1. อ่างเก็บน้ำแม่แจ่ม ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ความจุกักเก็บสูงสุดประมาณ 174 ล้านลบ.ม. (เขื่อนหินถมแกนดินเหนียว)
2. อ่างเก็บน้ำแม่ขาน ต.น้ำบ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ความจุกักเก็บสูงสุดประมาณ 74 ล้านลบ.ม. (เขื่อนหินถมแกนดินเหนียว)
3. อ่างเก็บน้ำห้วยตั้ง ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ความจุกักเก็บสูงสุดประมาณ 9 ล้านลบ.ม. (เขื่อนหินถมแกนดินเหนียว)
4. อ่างเก็บน้ำคลองสวนหมาก ต.โป่งน้ำร้อน อ.คลองสาน จ.กำแพงเพชร ความจุกักเก็บสูงสุดประมาณ 39 ล้านลบ.ม. (เขื่อนดินถม)
5. อ่างเก็บน้ำคลองขลุงล่าง ต.คลองลานพัฒนา อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร ความจุกักเก็บสูงสุดประมาณ 21 ล้านลบ.ม. (เขื่อนดินถม)
6. อ่างเก็บน้ำห้วยฉลอม ต.ท้องฟ้า อ.บ้านตาก จ.ตาก ความจุกักเก็บสูงสุดประมาณ 25 ล้านลบ.ม.(เขื่อนดินถม)
ลุ่มน้ำยม 7 โครงการ
7. อ่างเก็บน้ำน้ำงิม ต.งิม อ.ปง จ.พะเยา ความจุกักเก็บสูงสุดประมาณ 16 ล้านลบ.ม. (เขื่อนหินถมแกนดินเหนียว)
8. อ่างเก็บน้ำแม่น้ำยม ต.เตาปูน อ.สอง จ.แพร่ ความจุกักเก็บสูงสุดประมาณ 500 ล้านลบ.ม. (เขื่อนหินถมแกนดินเหนียว)
9. อ่างเก็บน้ำแม่น้ำยมตอนบน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ความจุกักเก็บสูงสุดประมาณ 166 ล้านลบ.ม. (เขื่อนหินถมแกนดินเหนียว)
10. อ่างเก็บน้ำแม่ตีบ ต.แม่ตีบ อ.งาว จ.ลำปาง ความจุกักเก็บสูงสุดประมาณ 28 ล้านลบ.ม. (เขื่อนหินถมแกนดินเหนียว)
11. อ่างเก็บน้ำแม่อ้อน 2 ต.บ้านอ้อน อ.งาว จ.ลำปาง ความจุกักเก็บสูงสุดประมาณ 19 ล้านลบ.ม. (เขื่อนหินถมแกนดินเหนียว)
12. อ่างเก็บน้ำแม่แลง ต.เวียงต้า อ.ลอง จ.แพร่ ความจุกักเก็บสูงสุดประมาณ 11 ล้านลบ.ม. (เขื่อนหินถมแกนดินเหนียว)
13. อ่างเก็บน้ำห้วยโป่งผาก ต.เวียงมอก อ.เถิน จ.ลำปาง ความจุกักเก็บสูงสุดประมาณ 19 ล้านลบ.ม. (เขื่อนดินถม)
ลุ่มน้ำน่าน 3 โครงการ
14. อ่างเก็บน้ำน้ำปาด ต.ฟากท่า อ.ฟากท่า จ.อุตรดิตถ์ ความจุกักเก็บสูงสุดประมาณ 58 ล้านลบ.ม. (เขื่อนดินถม)
15. อ่างเก็บน้ำห้วยพังงา ต.บ้านฝาย อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ความจุกักเก็บสูงสุดประมาณ 11 ล้านลบ.ม. (เขื่อนดินถม)
16. อ่างเก็บน้ำคลองวังชมพู ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ความจุกักเก็บสูงสุดประมาณ 87 ล้านลบ.ม. (เขื่อนดินถม)
ลุ่มน้ำป่าสัก 1 โครงการ
17. อ่างเก็บน้ำห้วยท่าพล ต.ท่าพล อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ความจุกักเก็บสูงสุดประมาณ 12 ล้านลบ.ม. (เขื่อนดินถม)
ลุ่มน้ำสะแกกรัง 1 โครงการ
18. อ่างเก็บน้ำแม่วงก์ ต.แม่เลย์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ความจุกักเก็บสูงสุดประมาณ 257 ล้านลบ.ม. (เขื่อนหินถมแกนดินเหนียว)
นอกจากนี้ โมดูล B1 การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืน ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ ของ ITD POWER CHINA JV ก็จะใช้งบประมาณไม่เกิน 1.2 หมื่นล้านบาท สร้างอ่างเก็บน้ำอีก 3 แห่ง ในพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีปัญหาอุทกภัยระดับรุนแรง ชี มูล และจันทบุรี ประกอบด้วย
ลุ่มน้ำชี
19. อ่างเก็บน้ำชีบน ต.ท่าใหม่ และต.หนองแวง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ความจุกักเก็บสูงสุดประมาณ 325 ล้านลบ.ม.(เขื่อนดินถม)
20. อ่างเก็บน้ำยางนาดี ต.ชีบน อ.บ้านเขว้า จ.ชัยภูมิ ความจุกักเก็บสูงสุดประมาณ 70 ล้านลบ.ม.(เขื่อนดินถม)
ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก
21. อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ ต.พวา อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ความจุกักเก็บสูงสุดประมาณ 68 ล้านลบ.ม.(เขื่อนดินถม)
อย่างไรก็ตาม แผนงานของโครงการก่อสร้างเขื่อนทั้งหมด 21 แห่งนี้ ผลประโยชน์ที่จะได้รับ ลำดับแรก คือ ลดพื้นที่น้ำท่วม ลดความเสียหายจากอุทกภัย เพิ่มพื้นที่ชลประทานทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง
ขณะที่ผลพลอยได้จากการระบายน้ำท้ายเขื่อน ก็ถูกระบุไว้ในแผนเช่นกันว่า จะสามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำ ส่วนบริเวณอ่างเก็บน้ำ สามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งทำประมง
นอกจากนี้ ผลประโยชน์ของโครงการ กับกลุ่มสังคมพืชโดยรอบอ่างเก็บน้ำจะได้รับความชุ่มชื้นมากขึ้น และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสัตว์ป่าในกลุ่มหากินตามแหล่งน้ำ!
ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้าง การสร้างเขื่อนในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา โครงการพัฒนาแหล่งน้ำแม้จะให้ประโยชน์กับคนกลุ่มหนึ่ง แต่ก็ไม่วายสร้างความสูญเสียสร้างผลกระทบให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่งเสมอ ฉะนั้น รัฐต้องไม่ลืมตรงจุดนี้ และมองย้อนกลับไปในอดีต ทั้งการสร้างเขื่อนสิริธร เขื่อนน้ำอูน เขื่อนภูมิพล เขื่อนปากมูล และเขื่อนในโครงการโขงชีมูล ฯลฯ ซึ่งกรณีของยายไฮ ขันจันทา ที่เรียกร้องค่าชดเชยในการเสียโอกาสทำนาจากการได้รับผลกระทบการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยละห้าหรืออ่างเก็บน้ำห้วยละห้า เป็นเวลากว่า 32 ปี จนกระทั่งได้รับเงินค่าชดเชย หรืออย่าง แม่สมปอง เวียงจันทร์ ตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูน นับเป็นตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุด
การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ปัจจุบันจึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง ศึกษา ประเมินผลกระทบด้านอื่นๆ อย่างรอบด้าน และเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ที่สำคัญ การมองน้ำ ไม่สามารถมองอย่างโดดๆ โดยไม่ผูกโยงเรื่องน้ำกับป่า น้ำกับป่าต้นน้ำ น้ำกับที่ดิน น้ำกับการอนุรักษ์ น้ำกับระบบนิเวศ และน้ำกับผังเมือง ไม่ได้แล้ว
“วันนี้เราต้องแบ่งออกเป็น 2 เรื่อง คือ ประโยชน์และความคุ้มค่า” อธิบดีกรมป่าไม้ “บุญชอบ สุทธมนัสวงษ์” ให้ความเห็นสั้นๆ เมื่อถูกถามถึงกรณีการสร้างเขื่อนแม่วงก์
พร้อมกับยืนยันว่า การสร้างเขื่อน หากสร้างบนพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ ขณะที่ดูแล้วความคุ้มค่ามีน้อยนั้น เป็นสิ่งที่ควรจะหลีกเลี่ยง เนื่องจากการฟื้นฟูป่าต้องใช้ระยะเวลายาวนานถึง 30-40 ปี ขณะนี้ต่างฝ่ายต่างมีข้อมูล จำเป็นต้องแสดงข้อมูลที่แท้จริงให้สาธารณะชนรับทราบ เมื่อนั้นเราก็จะได้คำตอบ
“ข้อมูลลับในโลกทุกวันนี้ไม่มีแล้ว แค่ค้นข้อมูลแผนที่ในกูเกิ้ลดูก็รู้ว่าพื้นที่ตรงไหนอุดมสมบูรณ์หรือไม่” อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวทิ้งท้ายไว้ให้เป็นบทสรุป