กสทช.เผยผู้ใช้บริการ3Gคลื่น 2.1GHz ทะลุ11ล้านเลขหมาย
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า นับตั้งแต่ กสทช. ได้ให้ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม แก่บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวิร์ค จำกัด (AWN) บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด (DTN) หรือ TriNet และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด (RF) เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2555 และมีการเริ่มเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2556 ปัจจุบันพบว่ามีผู้ใช้บริการแล้วเกือบ 11 ล้านเลขหมาย โดยแบ่งเป็น ผู้ใช้บริการAWN 9 ล้านเลขหมาย RF 1.8 พันเลขหมาย และ DTN 2 ล้านเลขหมาย ซึ่ง ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz นี้จะได้รับอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ลดลง 15 % ตามเงื่อนไขใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม หมวด 3 เงื่อนไขเฉพาะสำหรับผู้รับใบอนุญาต ภาคผนวก ก ข้อ 7.5
การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz เป็นไปตามคาดหมายเพราะปัจจุบันผู้บริโภคมีพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งการขยายโครงข่ายบริการในช่วงนี้อาจจะยังไม่ครอบคลุมในทุกจุด จากการที่สำนักงาน กสทช. ติดตามการขอติดตั้งโครงข่ายเพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 พบว่ามีความคืบหน้าไปมาก
นายฐากร กล่าวว่า ความคืบหน้ากรณีการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 MHz สำนักงาน กสทช. ได้ติดตามและกำกับดูแลการดำเนินการของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด ในช่วงเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่คลื่นความถี่ 1800 MHz ตามมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวนั้น ขณะนี้บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด ได้แจ้งว่าทั้ง 2 บริษัทได้จัดเก็บซิมการ์ดบริการคลื่น 1800 MHz ที่วางจำหน่ายออกจากท้องตลาดแล้ว และจะไม่มีการจำหน่ายซิมใหม่ที่ใช้บริการคลื่น 1800 MHz อีก ในเรื่องนี้ สำนักงาน กสทช. ได้ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่การจำหน่ายซิมการ์ดที่ใช้บริการคลื่น 1800 MHz ของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด ในตลาดตรงตามที่ทั้ง 2 บริษัทรายงาน นับว่การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 ที่กำหนดให้ทั้ง 3 บริษัท ไม่มีสิทธิในการรับลูกค้าใหม่ ไม่สามารถพักหรือหยุดการให้บริการได้ และจะต้องให้บริการผู้บริโภคด้วยมาตรฐานการบริการเช่นเดิม โดยต้องดูแลคุณภาพสัญญาณบริการให้ได้คุณภาพดังเช่นการให้บริการปกติ
เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ในส่วนของการคุ้มครองประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ได้รับบริการที่มีคุณภาพ ในราคาที่เป็นธรรม หรือ พบปัญหาในการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถร้องเรียนมาที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน Call Center หมายเลขโทรศัพท์ 1200 หรือ sms 1200 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือร้องเรียนมาทางเว็บไซต์สำนักงาน กสทช. www.nbtc.go.th เพื่อสำนักงาน กสทช. จะได้เข้าไปดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาเหล่านั้น