“อีไอเอ” มันคืออะไร ... สำคัญยังไง ... และสำคัญต่อใคร ?
“อีไอเอ” มันคืออะไร ... สำคัญยังไง ... และสำคัญต่อใคร ?
นายเทอดพงศ์ คงจันทร์
อนุกรรมการด้านข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม์
เรื่องนี้คนรวย หรือคนคิดจะรวย ... ต้องอ่าน !!!
ที่บอกว่าต้องอ่าน ก็เพราะว่าคนรวย หรือคนคิดจะรวย ก็ต้องคิดอ่านที่จะทำธุรกิจใหญ่ๆ ใช่มั๊ย ถึงจะรวยดี รวยเร็ว
แต่ว่าไอ้ธุรกิจใหญ่ๆ นี่ มันอะไรบ้างหละ ?
เอ ... ก็อย่างเช่น โรงงานอุตสาหกรรมเหล็กกล้า บ้านจัดสรร รีสอร์ทริมน้ำ หรือโรงพยาบาลเอกชน อะไรพวกนี้แหละ อืม .. โรงแรม ใช่ๆ โรงแรมอีกอย่างหนึ่งด้วย เพราะเดี๋ยวนี้บ้านเราเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว โรงแรมก็สำคัญไม่เบา นักท่องเที่ยวต่างชาติมากันเยอะ ทำดีๆ ขี้คร้านจะรวยนับเงินกันไม่ทัน
แต่คราวนี้ เจ้าธุรกิจใหญ่ๆ ทำแล้วรวยเร็วพวกนี้ บางทีมันก็อาจจะไปกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือความเป็นอยู่ของชาวบ้านร้านตลาดที่อยู่ใกล้เคียงได้
เอาง่ายๆ อย่างโรงแรมเนี่ย เป็นกิจการขนาดใหญ่ ทั้งการก่อสร้างดัดแปลงอาคารเอย การทิ้งหรือกำจัดขยะเอย ล้วนแล้วแต่สามารถสร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เจ้าหน้าที่บ้านเมืองจึงมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลควบคุมการประกอบกิจการใหญ่ๆ ที่อาจกระทบต่อสิ่งแวดล้อมพวกนี้
ทีนี้เจ้ามาตรการที่จะช่วยควบคุมอย่างที่ว่าก็มีอยู่ตัวหนึ่ง ซึ่งสำคัญมาก ถ้าเรียกกันอย่างเป็นทางการตาม กฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หละก็ เขาเรียกกันว่า “รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม”
แต่ถ้าเรียกสั้นๆ ติดปากกันทั่วไปตามภาษาฝรั่ง เขาก็เรียกกันว่า “อีไอเอ” ซึ่งคำเต็มของมันก็คือ “Environmental Impact Assessment (EIA)” ... ชื่อยาว จำยาก เรียกว่า อีไอเอ ก็แล้วกัน
หน้าที่ของอีไอเอตามขั้นตอนของกฎหมายก็คือว่า ก่อนที่ผู้ประกอบกิจการขนาดใหญ่เหล่านั้นจะดำเนินกิจการ จะต้องทำอีไอเอเสนอต่อ “คณะกรรมการผู้ชำนาญการ” ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมในประเภทนั้นๆ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเสียก่อนว่า การประกอบกิจการจะไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ถึงจะเปิดกิจการได้
แต่การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการก็มีกำหนดเวลานะ !
กฎหมายท่านเขียนบังคับไว้เลยว่า ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานอีไอเอ มิฉะนั้นต้องถือว่าคณะกรรมการผู้ชำนาญการให้ความเห็นชอบอีไอเอตามที่ผู้ประกอบกิจการเสนอ
เมื่อกฎหมายกำหนดเวลาเร่งรัดเอาไว้อย่างนี้ คณะกรรมการผู้ชำนาญการจะมัวทำงานรอช้า ดุ๋ย...ดุ่ย อยู่ไม่ได้แล้ว ต้องรีบพิจารณาให้รวดเร็วรอบคอบทีเดียวเชียว ขืนชักช้า ก็อาจเหมือนคดีตัวอย่างที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้แหละ ...
คดีนี้เป็นเรื่องของผู้ประสงค์ที่จะประกอบกิจการโรงแรม เดิมผู้ประกอบกิจการรายนี้แกเป็นเจ้าของตึกสู๊งสูง อยู่ในกรุงเทพ ซึ่งแกสร้างเอาไว้ให้คนอื่นเช่าเป็นอาคารสำนักงานและอาคารจอดรถยนต์
ทีนี้อีตาเจ้าของตึกแกคงเกิดนึกครึ้ม หรือนึกอยากรวยเพิ่มก็ไม่ทราบได้ เพราะแกจะเอาอาคารบางส่วนในตึกดัดแปลงทำเป็นโรงแรม แกก็เลยไปขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น ขอเปลี่ยนใช้อาคารบางชั้นของตึกเป็นโรงแรมอย่างที่ตั้งใจ
ความที่แกรู้ระเบียบกฎหมาย แกก็จัดการทำเจ้าอีไอเอเสนอให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา ตามขั้นตอนเสร็จสรรพ เพราะถ้าผ่านการพิจารณา เจ้าพนักงานท้องถิ่นก็จะได้อนุญาตให้แกเปิดกิจการโรงแรมอลังการงานสร้างตามที่ต้องการเสียที
แต่รอแล้ว รอเล่า ... คณะกรรมการผู้ชำนาญการก็ไม่พิจารณาให้เสร็จ อ้างว่าข้อมูลยังไม่เพียงพอบ้างหละ ข้อมูลไม่ถูกต้องบ้างหละ ไปๆ มาๆ สุดท้ายพวกก็ดันมีมติเฉยเลยว่า การเสนอเรื่องอีไอเอของแก ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย เลยไม่พิจารณาให้ ... ซะงั้น
เอ้า ! รอมาตั้งนมนาน เล่นมีมติกันง่ายๆ อย่างนี้ ก็ตายกันพอดีสิเพ่ เพราะถ้าคณะกรรมการผู้ชำนาญการไม่ให้ความเห็นชอบอีไอเอของแก แกก็นำเรื่องไปแจ้งขออนุญาตดัดแปลงอาคารทำเป็นโรงแรมต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่ได้
เรื่องนี้ปรากฏว่าเจ้าของโรงแรมแกก็รู้กฎหมายดีเอาการว่าการพิจารณาเจ้าอีไอเอเนี่ย คณะกรรมการผู้ชำนาญการมีระยะเวลาเร่งรัดที่จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จเหมือนกัน
แกนึกถึงศาลปกครองขึ้นมาได้ ก็เลยมายื่นฟ้อง ขอให้ศาลปกครองสั่งให้มีการนำผลการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการที่ถือว่าให้ความเห็นชอบอีไอเอของแกแล้ว แจ้งต่อไปยังเจ้าพนักงานท้องถิ่นเพื่อออกใบอนุญาตให้ดัดแปลงตึกเป็นโรงแรมได้ต่อไป
แน่นอน ... คดีนี้เป็น “คดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม” ในเรื่องเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ล่าช้ากว่าที่กฎหมายสิ่งแวดล้อมกำหนด ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยวางหลักกฎหมายในกรณีนี้ไว้เป็น บรรทัดฐานอย่างน่าฟังทีเดียว ... ศาลท่านว่าอย่างนี้
ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 49 เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองผู้เสนอรายงาน โดยกำหนดระยะเวลาเร่งรัดให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ พิจารณารายงานให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด มิฉะนั้นแล้วจะต้องถือว่าเป็นการให้ความเห็นชอบ
ทั้งนี้ เพื่อให้เจ้าของโครงการผู้เสนอรายงานได้ทราบเป็นที่แน่นอนว่า เมื่อใดขั้นตอนการพิจารณารายงานดังกล่าวจะแล้วเสร็จ ซึ่งเกิดประโยชน์ต่อการจัดเตรียมการอื่นๆ เพื่อให้กิจการนั้นสำเร็จตามวัตถุประสงค์และระยะเวลาที่ได้วางแผนไว้
อีกทั้งเพื่อป้องกันมิให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการถ่วงเวลาในการพิจารณาไม่ว่าจะเพื่อวัตถุประสงค์ใด อันมีจุดมุ่งหมายให้เกิดความสมดุลระหว่างการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการประกอบกิจการของเอกชน
และเมื่อพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าว เห็นได้ว่า ยังมุ่งกำหนดอำนาจหน้าที่และแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปโดยชัดเจน และจัดระบบการบริหารงานด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามหลักการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้องเหมาะสม ดังนั้น จึงได้มีการบัญญัติกำหนดระยะเวลา ในการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมไว้
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในการประชุมของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ มิได้มีการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของผู้ฟ้องคดี และลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบรายงานดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 45 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงาน จึงถือว่าคณะกรรมการผู้ชำนาญการให้ความเห็นชอบแล้ว
ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษาให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ ดำเนินการแจ้งผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงแรมของผู้ฟ้องคดี ที่กฎหมายกำหนดให้ถือว่าคณะกรรมการผู้ชำนาญการให้ความเห็นชอบ ไปยังเจ้าพนักงานท้องถิ่น เพื่อพิจารณาอนุญาตเกี่ยวกับคำขอเปลี่ยนแปลงการใช้อาคารของผู้ฟ้องคดีต่อไป ทั้งนี้ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ ศาลมีคำพิพากษา
คำพิพากษานี้จึงเป็นบรรทัดฐานที่ช่วยวางแนวทางการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับ การพิจารณาอีไอเอได้เป็นอย่างดีว่า .... ต่อไปจะช้าไม่ได้แล้วนะ !! เพราะ “อีไอเอ” มีความสำคัญทั้งต่อ ผู้ประกอบกิจการขนาดใหญ่ และต่อสิ่งแวดล้อมของพวกเราทุกคนด้วย.
(คดีหมายเลขแดงที่ อ. 218/2552)