น้ำมันรั่ว2เดือนไม่ฟื้นกุ้งหอยปูปลา...หาย
27 กันยายน เป็นวันครบรอบ 2 เดือน หลังเกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลบริเวณพื้นที่ชายฝั่งระยอง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (พีทีทีจีซี) พยายามเผยแพร่ภาพยนตร์โฆษณาภายใต้แนวคิด "Better Samed เราไปเที่ยวเสม็ดกันเถอะ" บอกเล่าเรื่องราวทะเลและชายฝั่งเกาะเสม็ดฟื้นคืนกลับมาสวยงามดังเดิมแล้ว แถมยังยืนยันอาหารทะเลปลอดภัย พร้อมชวนคนไทยกลับไปเที่ยวเกาะเสม็ดอีกครั้ง...
"ผมยืนยันว่าสัตว์ทะเลยังไม่กลับมา คุณอาจมองเห็นชายหาดสวยงามน้ำใสเหมือนเดิม แต่ถ้าลองขุดทรายดูจะมีคราบน้ำมันเหลืออยู่ ปลายังตาย กุ้งตาบอด หอยหายไป ปัญหาพวกนี้ยังไม่หมด ชาวประมงจับสัตว์น้ำไม่ได้มาหลายเดือน ออกเรือไปก็ขาดทุน แต่ต้องเสี่ยงเผื่อจะโชคดี ปตท.เบี่ยงเบนความจริงบอกว่าไม่มีปัญหาเมื่อบอกว่าไม่มีปัญหาก็แสดงว่าไม่ต้องแก้ไขอะไร ตอนนี้ไม่มีใครเชื่อ ปตท.แล้ว มีแต่ตัวเลขโกหก ชาวประมงเขาเชื่อสิ่งที่เห็นจริงๆ ทุกวันมากกว่า" จตุรัส เอี่ยมวรนิรันดร์ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็ก จ.ระยอง ในฐานะตัวแทนผู้ได้รับความเสียหายจากการทำประมงระบายความรู้สึก
ตัวแทนเรือประมงข้างต้นกล่าวย้ำว่า หลังเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วที่ชายฝั่งทะเลระยอง มีชาวประมงเรือเล็กกว่า 700 ราย เดือดร้อนกันถ้วนหน้า จากที่เคยออกทะเลแต่ละครั้งสามารถจับสัตว์น้ำได้ไม่น้อยกว่า 40-50 กิโลกรัม ทุกวันนี้ได้เพียง 10 กิโลกรัมก็ดีใจแล้ว ส่วนเรือลากหมึกได้แต่หมึกกระดานมาเพียงนิดหน่อย ส่วนพวกหมึกหอมซึ่งเคยมีอยู่จำนวนมากตอนนี้หาไม่ได้เลย ชาวประมงออกเรือแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายหลักหมื่นบาท เช่นออกเรือ 3 วัน ต้องมีค่าน้ำมันและค่าแรงงานไม่น้อยกว่า 17,000 บาท แต่จับปลาได้เฉลี่ยไม่ถึง 2,000 บาทต่อวัน ตอนนี้หลายรายไปกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่ายเป็นค่าต้นทุน ไม่ต่างจากผู้ค้าอาหารริมชายหาดที่เคยขายได้คืนละ 4,000-5,000 บาท วันนี้ลูกค้าแค่เดินผ่านแล้วโบกมือทักทาย ไม่กล้าแวะซื้อหรือนั่งกิน แม้แต่พนักงานของ ปตท.ที่เคยเป็นลูกค้าประจำยังเดินหนีไป
"ผ่านมา 2 เดือนแล้ว ผู้ได้รับผลกระทบเกือบทั้งหมดยังเดือดร้อน บางคนไม่ได้ค่าชดเชย ส่วนกลุ่มที่ได้ก็เพียงรายละไม่เกิน 3 หมื่นบาท ทั้งที่เกิดผลกระทบในวงกว้างตั้งแต่ หาดแม่รำพึง หาดบ้านเพ หาดแม่พิมพ์ อ่าวไข่จนถึงอ่าวมะขามป้อม พบคราบน้ำมันรั่วไหลตลอดแนวชายฝั่ง นักวิชาการและเอ็นจีโอให้ข้อมูลว่าจะมีผลกระทบต่อเนื่องไปอย่างน้อย 5 ปี ไม่ใช่แค่ 1-2 เดือน จึงอยากให้ผู้ก่อมลพิษยอมรับว่าในพื้นที่ยังคงมีปัญหาและส่งตัวแทนมาพูดคุยกันเพื่อหาทางช่วยกันแก้ปัญหา" ตัวแทนผู้ได้รับความเสียหายจากการทำประมงชายฝั่งทะเลระยองเรียกร้อง
สอดคล้องกับข้อเรียกร้องจากเวทีเสวนา "รักษ์เสม็ด รักษ์ปะการัง คืนชายฝั่งให้ประมงพื้นบ้าน" เมื่อวันที่ 21 กันยายน ที่ผ่านมา ต่างถามหาความรับผิดชอบจาก ปตท. "สมศักดิ์ พงษ์ศักดิษ์" แกนนำกลุ่มประมงพื้นบ้าน ให้ข้อมูลว่า แม้เวลาผ่านไป 2 เดือนแล้ว แต่ชาวประมงยังพบคราบน้ำมันปนเปื้อนในตัวสัตว์น้ำ ยังพบคราบน้ำมันติดตามปะการังในบางจุด จนอดสงสัยไม่ได้ว่าคราบน้ำมันและสารเคมีที่นำมาใช้ขจัดคราบน้ำมันที่รั่วไหลนั้นจะส่งผลต่อสุขภาพของชาวประมงในระยะยาวหรือไม่ จึงอยากเรียกร้องให้มีการศึกษาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน
"หาญณรงค์ เยาวเลิศ" ประธานสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เรียกร้องให้ ปตท.ค้ำประกันรายได้กลุ่มประมงพื้นบ้านและผู้ประกอบการเป็นเวลา 5 ปี และยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าสัตว์น้ำในทะเลเกาะเสม็ดลดลงไปเท่าไร ผลกระทบสารเคมีขจัดคราบน้ำมันมีอะไรบ้าง การโฆษณาชวนเชื่อและให้เงิน 3 หมื่นบาทไม่เพียงพอ ต้องรับผิดชอบผลกระทบห่วงโซ่อาหาร รวมถึงอาชีพของประชาชนทุกกลุ่มด้วย เช่น คนงานโรงแรม ท่าเรือ แพปลา ร้านอาหาร โรงน้ำแข็ง ฯลฯ
ขณะที่ "บวร วงศ์สินอุดม" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีทีจีซี เปิดเผยถึงผลการตรวจสอบหาสาเหตุการรั่วไหลของน้ำมันดิบลงทะเลชายฝั่งระยองว่า คณะกรรมการตรวจสอบทางเทคนิคพบว่า สาเหตุเกิดจากการผลิตท่อที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งจะเปิดแถลงข่าวอย่างละเอียดในเร็วๆ นี้ ซึ่งขณะนี้ บมจ.พีทีทีจีซี ยกเลิกการใช้งานท่อดังกล่าวแล้วเพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ
สำหรับวิธีแก้ปัญหาระยะยาวนั้น คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ส่งบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะถึงนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา โดยเสนอให้เร่งพิจารณาและบังคับใช้ "ร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดทางแพ่งเพื่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมัน พ.ศ....." ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของรัฐสภา กฎหมายฉบับนี้เรียกร้องให้ไทยเข้าเป็นสมาชิก "กองทุนระหว่างประเทศเพื่อความรับผิดอันเกิดจากมลพิษน้ำมัน (Fund Convention)"
กองทุนดังกล่าวมีจุดประสงค์คล้ายบริษัทประกัน คือ เมื่อเกิดอุบัติเหตุน้ำมันรั่วไหล กองทุนจะช่วยเจ้าของเรือหรือผู้ก่อมลพิษจ่ายค่าเสียหายต่างๆ เพราะความเสียหายจากน้ำมันรั่วบางกรณีอาจสูงถึงหลักพันหรือหลักหมื่นล้านบาท ทำให้บริษัทเรือล้มละลายได้ ดังนั้นผู้นำเข้าน้ำมันต้องสมทบเงินเข้ากองทุนตามปริมาณน้ำมันที่แต่ละประเทศนำเข้า แม้ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นบ้าง แต่จะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย คปก.ยังเสนอให้ "อัยการ" มีอำนาจเรียกร้องค่าสินไหมแทนบุคคลที่ได้รับความเสียหายได้ หรือผู้เสียหายจะฟ้องด้วยตัวเองก็ได้ และการดำเนินคดีของอัยการนั้น ควรให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
"เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง" ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ ตัวแทน "เครือข่ายจับตาน้ำมัน ปตท.รั่ว” เปิดเผยว่า เครือข่ายภาคประชาชน ได้รวบรวมรายชื่อประชาชนเกือบ 5 หมื่นคนยื่นต่อรัฐบาลไปแล้ว ขอให้ตั้ง "คณะกรรมการอิสระตรวจสอบน้ำมันรั่ว" โดยไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะหลายฝ่ายไม่เชื่อถือข้อมูลจาก "คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลในทะเล" ที่ปตท.แต่งตั้งขึ้น เนื่องจากเห็นว่าเป็นการแต่งตั้งโดยผู้ก่อมลพิษขาดการตรวจสอบจากฝ่ายอื่น ทั้งนี้การตรวจสอบผลกระทบควรมีคณะกรรมการที่มาจากตัวแทนอย่างน้อย 5 ฝ่าย คือ ภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการ ภาคกฎหมาย และภาคประชาชน ที่สำคัญควรมีผู้เชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์ทางทะเล นักวิชาการด้านพลังงาน ด้านสิ่งแวดล้อมทะเล นักเศรษฐศาสตร์ ร่วมอยู่ด้วย
ตัวแทน "เครือข่ายจับตาน้ำมัน ปตท.รั่ว” บอกด้วยว่า นับตั้งแต่ปี 2516 เป็นต้นมา เกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลสู่ทะเลในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 226 ครั้ง ซึ่งยังไม่เคยสามารถลงโทษผู้กระทำความผิดได้แม้แต่ครั้งเดียว เหตุการณ์ครั้งล่าสุดก็เช่นกันแม้เวลาผ่านมากว่า 2 เดือนแล้ว ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าสาเหตุเกิดจากอะไร เรือมีส่วนด้วยหรือไม่หรือแค่ท่อไม่ได้มาตรฐาน หรือเป็นความบกพร่องของผู้ปฏิบัติงาน ฯลฯ
"นอกจากสาเหตุที่ทำให้น้ำมันรั่วไหลแล้ว ยังสงสัยว่าทำไมไม่เอาผิดหรืออายัดทรัพย์เรือบรรทุกน้ำมัน เจ้าของเรือเป็นใคร อีกทั้งปริมาณน้ำมันที่รั่วลงทะเลมีจำนวนเท่าไหร่แน่ ที่สำคัญคือความเสียหายจากการใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันต่อสิ่งแวดล้อมและชายฝั่งเป็นอย่างไร" ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ ตั้งข้อสงสัยทิ้งท้าย
ในวันนี้แทบไม่มีใครเชื่อว่าปริมาณน้ำมันรั่วไหลลงทะเลจะมีแค่ 5 หมื่นลิตร หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าผลกระทบคงมีต่อเนื่องไปอีกไม่น้อยกว่า 5 ปี
จนกลายเป็นแผลลึกด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ เมื่อแผลค่อยๆ ถูกเปิดออกมาที่ละนิดๆ เงินที่จ่ายชดเชยให้ชาวประมงรายละ 3 หมื่นบาทอาจเป็นเพียงแค่น้ำจิ้ม...................................
ขอขอบคุณข่าวจาก